พูดคุยกับนัท อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 17 ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ถึงประเด็นสิทธิในกลุ่มแรงงานนอกระบบ สิทธิ์ในหน้าหนังสือเรียน ความน่ากลัวของการจำยอม รวมถึงความท้าทายในการทำประเด็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ
ทําไมถึงมาสมัครโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน
“ต้องบอกก่อนว่าเราเป็นอาสาสมทบ ก็คือองค์กรส่งมาแต่ว่าที่เลือกมาเป็นอาสาสมทบ เพราะว่าเพื่อนเคยเป็นอาสานักสิทธิฯรุ่น 16 แล้วเห็นว่าเขาได้ไปทำกระบวนการต่างๆ เราก็รู้สึกว่ามันก็น่าสนใจดี พี่เขาเลยถามว่าปีนี้อยากลองเป็นอาสานักสิทธิฯไหม ก็คือถ้าเขาให้โอกาสเรามา เราก็อยากที่จะลองทำดูค่ะ”
ส่วนตัวคิดว่าประเด็นด้านสิทธิมีความน่าสนใจอย่างไร
“ด้วยความที่เราเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เราได้เรียนประเด็นสิทธิมาเยอะประมาณนึง แล้วมันยังเห็นจุดบกพร่องบางอย่างในสังคม เราก็เลยรู้สึกว่า ทั้งทัศนคติตอนที่เราเรียน ภาพที่เรามองมาก็ตาม มันเป็นเชิงบวกมากๆ เลย แต่ทำไมสังคมถึงมองด้านสิทธิ์เป็นเชิงลบซะส่วนใหญ่ เอาแบบง่ายๆ เลยอย่างสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ภาพจำในหนังสือ ภาพจำในวิชาเรียนที่อาจารย์เล่า หรือแม้กระทั่งในบทความต่างๆ มันเป็นเชิงบวกมากๆ แต่ทำไมพอเรามาอยู่ในสังคมจริง ตอนที่เราลงไปทำงานและฝึกงาน คนยังมองว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดนะ ไม่ควรทำนะ มันก็เลยเป็นประเด็นที่เราคิดว่ามันน่าสนใจที่จะผลักดันให้ทุกคนรู้นะว่าทุกคนมีสิทธิ์ยังไง แล้วใช้สิทธิ์นั้นยังไง โดยที่ไม่เบียดเบียนคนอื่นค่ะ”
ตอนนี้ทำประเด็นอะไรและมีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง
“องค์กรเราทำเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบ ซึ่งแรงงานนอกระบบมีกลุ่มเป้าหมายเยอะมาก ทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย ลูกจ้างทำงานบ้าน หมอนวด เสริมสวย ผู้ทำการผลิตที่บ้าน แต่ละกลุ่มเป้าหมายมันกว้างมากๆ เพราะเขาไม่ได้อยู่ในระบบ แล้วเราก็ยังพยายามที่จะผลักดันหากลุ่มอาชีพใหม่ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของเราขึ้นมาอีก คือจะเรียกว่าเรียกร้องสิทธิมันก็ไม่ใช่ นิยามสําหรับองค์กรมันคือการพิทักษ์สิทธิ์มากกว่า เป็นการบอกเขาว่าเขามีสิทธิ์ยังไง แล้วเขาจะใช้สิทธิ์นั้นได้ยังไงโดยที่ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น รวมไปถึงอะไรที่เขาคิดว่าเขาควรที่จะได้รับและวิธีการที่จะผลักดันไปสู่จุดนั้นเป็นยังไง เรามองว่าองค์กรทำงานแบบนี้มากกว่าค่ะ”
ถ้าให้สะท้อนในมุมของตัวเองในช่วงระยะเวลาสี่เดือน ปัญหาด้านสิทธิที่เจอมีอะไรบ้าง แล้วเคสไหนที่เรารู้สึกกับมันมากที่สุด
“ใน 4 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ที่เราได้ทำจะเป็นประเด็นลูกจ้างทำงานบ้านเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของเขามากกว่า เป็นการช่วยแปรรูปสินค้า ทำการตลาดมากกว่า จริงๆ ตรงนั้นเป็นงานหลักของเราแต่ไม่ได้อินกับมันขนาดนั้น แค่รู้สึกว่าเราช่วยส่งเสริมเขาทั้งด้านเศรษฐกิจให้เขามีความมั่นคงมากขึ้น รวมไปถึงพัฒนาศักยภาพของผู้ทําการผลิตที่บ้านให้เขาสามารถที่จะเติบโต ยืนได้ด้วยตัวเอง รู้ว่าตัวเองสามารถที่จะทำอะไรได้บ้างแล้วก็ทำได้ยังไง”
“แต่ถ้าถามว่าอันไหนที่เราประทับใจอย่างที่บอกว่ามันมีหลายกลุ่มเป้าหมาย ถึงแม้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราจะเป็นลูกจ้างทํางานที่บ้าน แต่ว่าเราก็ได้ช่วยหลายๆ กลุ่ม ได้เข้าไปทำหลายกลุ่ม ประเด็นที่ทัชใจที่สุดก็น่าจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับความรุนแรงที่เป็น Migrant Women เป็นลูกจ้างทำงานบ้านที่เขาถูกกระทำความรุนแรง เป็นโครงการหนึ่งที่องค์กรทำ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เข้าไปทำเต็มตัวแต่เราก็มีโอกาสที่ได้เข้าไปอบรมและเข้าไปช่วย ด้วยความที่องค์กรเขาผลักดันส่งเสริมในเรื่องของการรวมกลุ่ม เราก็เลยมีการออแกไนซ์กันอยู่ตลอดเวลา การได้เข้ากระบวนการตรงนั้นเรารู้สึกว่า เคสผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง มันเป็นเคสที่ทัชใจเราประมาณนึง คือมันเป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกว่า เขารู้นะว่าเขามีสิทธิ์อะไร แล้วทำไมเขาถึงใช้สิทธิ์นั้นไม่ได้ อย่างเช่นเขาควรที่จะรู้ด้วยซ้ำว่าพาสปอร์ตนายจ้างไม่ควรเก็บไว้ที่ตัวเขา แต่ทำไมเขาถึงต้องยอมให้นายจ้างเก็บพาสปอร์ตเอาไว้”
“หรือแม้กระทั่งเรื่องการถูกข่มขืนในบ้าน เคสนี้เป็นลูกจ้างทำงานบ้าน คือเป็นแม่บ้านทำงานให้ แต่ว่ายังถูกลวนลาม ถูกด้อยค่า ทำไมเขาต้องยอมรับกับมันตรงนั้น ทั้งที่เขาเรียกร้องได้นะ เขาสามารถเดินเข้าไปหาตำรวจได้ มันทำให้เราคิดขึ้นมาว่า มันไม่ใช่แค่การให้เขาได้รับการเรียนรู้แล้ว แต่ว่ามันคือทัศนคติของสังคมด้วยส่วนนึง เป็นโครงสร้างเชิงอำนาจที่มองว่าเรื่องสิทธิ์มันมีอยู่จริงไหม หรือมันเป็นแค่คติพจน์นิยามอะไรบางอย่างที่สร้างขึ้นมา ให้รู้ไปเท่านั้นแต่ไม่ได้ทำ เราก็เลยรู้สึกว่า ถ้าการทำงานตรงนี้มันสามารถผลักดันให้เขาใช้สิทธิ์ของเขาได้อย่างเต็มที่ มันก็คงจะดี”
“ถ้าเป็นเคสที่ประสบความสำเร็จจากการทำงานตรงนี้ ก็คงเป็นเคสชาวต่างชาติที่ภรรยาถูกสามีทำร้าย แล้วแยกออกมา ภรรยารู้สึกปลอดภัย รู้สึกดีที่ได้รับการช่วยเหลือ เรารู้สึกว่ามันดีนะที่ทำให้เขาเห็นว่าจริงๆ แม้ว่าตัวเขาไม่ได้ถือสัญชาติไทย แต่ก็ไม่ได้ถูกมองข้าม ยังมีคนหลายคนที่พร้อมซัพพอร์ทเขาอยู่ แล้วด้วยความที่เราเรียนด้านสังคมสงเคราะห์มา เรียนโทเด็ก เยาวชน และครอบครัว เราได้เรียนประเด็นผู้หญิงเยอะมาก ประเด็นนี้มันก็เลยเป็นประเด็นที่เราอินด้วยส่วนนึง”
ถ้าเกิดให้มองสถานการณ์ด้านสิทธิในไทยหรือว่าในประเด็นที่เราทำอยู่ คิดว่าตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน รวมไปถึงแนวโน้มในอนาคตด้วย เรามองว่ายังไงบ้าง
“ในปัจจุบันเรามองว่ามันเหมือนจะดี คำว่าเหมือนจะดีของเรานี่มันหมายถึงทุกคนรู้ว่ามันมี ทุกคนเห็นว่ามันควรเป็นยังไง แต่ทุกคนไม่ใช้ หรือมีคนกลุ่มหนึ่งที่กดเอาไว้อยู่ไม่ให้ใครก็ตามใช้สิทธิ์ตรงนั้นได้ ทั้งๆ ที่รู้นะ เรียนกันมาตั้งแต่ประถมเลยว่าเรามีสิทธิ์อะไร สิทธิและเสรีภาพคืออะไร อันนี้ไม่ได้พูดถึงสิทธิมนุษยชนนะ แต่พูดถึงสิทธิ์ในหน้าหนังสือ ก็เรียนมานี่ว่าสิทธิ์คืออะไร เสรีภาพคืออะไร ก็รู้นี่ตั้งแต่เด็ก แต่ทำไมใช้ไม่ได้ ทำไมมันยังเป็นข้อกังขาให้ทั้งใครก็ตามเข้ามากดทับเราได้อยู่ ด้วยความจำยอมบางประการ ทั้งยอมด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ หรือว่ายอมเพราะเห็นว่ามันเป็นปกติ ซึ่งการยอมเพราะเห็นเป็นปกติมันเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ซึ่งในปัจจุบันการถูกริดรอนสิทธิ์แล้วก็มองว่ามันปกติมันมีเยอะมากเลยนะ”
“ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อวานได้มีโอกาสไปลงชุมชน เขาก็มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ปัญหา เพราะว่าเขาอยู่ตรงนี้มานานแล้วและคงอยู่อย่างนี้ต่อไปได้ อย่างเช่นการที่น้ำประปาและไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาควรจะได้รับสาธารณูปโภคเหล่านั้น แต่ทำไมเขาถึงมองว่าไม่มีก็ได้ไม่เป็นไร เสาไฟอยู่แค่หน้าหมู่บ้านก็ได้ไม่เป็นไร ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงมันเป็นนะ มันคือการที่เขาไม่ได้ใช้สาธารณูปโภคเหล่านั้นตามที่เขาควรที่จะได้รับ คือการมองว่ามันเป็นปกติทั้งที่มันไม่ปกติ เรามองว่ามันเป็นเรื่องที่ปัจจุบันเกิดขึ้นเยอะในประเทศไทย แล้วก็รัฐกำลังพยายามกดดันให้มันเป็นปกติต่อไป ทั้งที่มันไม่ควรด้วยซ้ำ”
“ถ้าถามว่าในอนาคตคิดว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป เรามองว่ามันอาจจะดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ อยู่ที่ว่าพวกเราทุกคนจะช่วยผลักดันให้คนเห็นค่าตรงนั้นมากขึ้นหรือเปล่า แล้วก็มองเห็นคุณค่าของมัน จนกระทั่งเห็นว่ามันควรที่จะได้รับการแก้ไขหรือเปล่า มันคือพลังของเรา ไม่ใช่แค่นักสิทธิฯนะแต่หมายถึงทุกๆ คน ไม่ว่าจะคนธรรมดาที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง แต่ยังไงเรื่องสิทธิ์มันเกี่ยวข้องกับทุกคนอยู่แล้ว แค่ว่าคุณจะเอาไปใส่ใจไหมแค่นั้นเอง”
ถ้าเกิดได้มีโอกาสคุยกับคนที่เค้าไม่รู้ในเรื่องสิทธิ์ เราอยากพูดอะไรกับเขาบ้าง
“ส่วนตัวเราไม่เชื่อว่าคนจะไม่รู้เรื่องสิทธิ์ อย่างน้อยก็รู้ว่าสิทธิ์คืออะไร แต่อาจจะไม่รู้ว่าสิทธิ์มีอะไรบ้าง ที่มันแยกย่อยออกมาจากสิทธิ์ แต่เราอยากจะบอกว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆ เรื่องโดยที่ไม่ไปริดรอนสิทธิ์ของคนอื่น อยากให้ใช้สิทธิ์ที่มีอยู่โดยที่ไม่ไปริดรอนสิทธิ์ของคนอื่น ทั้งที่รู้ตัวหรือว่าไม่รู้ตัวก็ตาม ถ้าไม่รู้ตัวแล้ววันนึงเกิดรู้ตัวขึ้นมาก็อยากให้ปรับ ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นต่อไป เพราะว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ มันอาจจะเริ่มง่ายๆ เลยที่ตัวคุณ ที่เปลี่ยนแปลง ที่มองเห็นว่ามันไม่ใช่ ถ้าเห็นแล้วก็อย่านิ่งเฉย ใช้สิ่งที่คุณเห็นให้มีคุณค่า ปรับมันให้เป็นสิ่งที่ควร เพื่อที่จะให้คนตัวเล็กตัวน้อยหรือว่าใครก็ตามได้สิทธิ์นั้นเท่าเทียมเหมือนกับคุณ”
หลังจากที่จบโครงการนี้ไปแล้ว อยากทำงานประเด็นในรูปแบบของตัวเองยังไงบ้าง
“ถ้ายังอยู่ในองค์กรก็คงจะผลักดันด้านเศรษฐกิจให้กับกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านอยู่ หรือว่าอาจจะไปจับกับโครงการอื่นที่สนใจ เพราะว่าอย่างที่บอกว่าในองค์กรมีกลุ่มเป้าหมายเยอะมาก เราสามารถจับได้หลายประเด็น แม้กระทั่งกลุ่มหาบเร่แผงลอย พื้นที่ค้าขาย ถ้ามีโอกาสได้ลองเราก็อาจจะไปจับตรงนั้น การที่เราได้จับประเด็นใหม่ๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ มันให้ความรู้สึกเหมือนเริ่มงานใหม่เหมือนกันนะ มันไม่เหมือนประเด็นที่เราเคยทำมาก่อน”
“อย่างที่บอกว่า ตอนนี้ทำเรื่องการแปรรูปสินค้า การพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจให้กับกลุ่มผู้ทําการผลิตที่บ้าน การพัฒนาศักยภาพของผู้ทำการผลิตที่บ้านก็อีกแบบหนึ่ง ไปจับความรุนแรงเกี่ยวกับ Migrant ก็อีกแบบหนึ่ง หรือแม้กระทั่งพื้นที่หมอนวด การเสริมสวย ร้านเสริมสวยก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งไปเลย ซึ่งแต่ละอันมันเป็นประเด็นที่กว้างมาก แล้วพอได้จับประเด็นใหม่ๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ มันก็มีเรื่องสิทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป แบบหมอนวดก็อาจจะไม่ได้อยากได้สิทธิในพื้นที่ทำกินเพราะเขามีร้านนวดอยู่แล้ว แต่เขาอาจจะอยากได้สิทธิการพักผ่อนหรือเปล่า สิทธิการลาพักหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ค่ะ มันเป็นประเด็นที่พอกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนมันก็เปลี่ยน มันทำให้เรายังสนุกกับการทำงานตรงนี้อยู่”
“หรือถ้าเราไม่ได้อยู่ในองค์กรนี้แล้ว เราก็ยังไม่รู้นะว่าเราจะไปทำอะไรต่อ แต่เราคิดว่าการทำงานทุกๆ อย่าง ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไรก็ตามแต่มันก็เกี่ยวข้องกับสิทธิ์อยู่เสมอค่ะ หรือสมมุติเราอาจจะเป็นพนักงานขายอยู่ที่ไหนสักที่ แต่มันก็เกี่ยวข้องกับสิทธิ์ ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะได้รู้ว่าสินค้าของเราคืออะไร แล้วก็มีสิทธิ์ที่จะได้รู้ว่ามันผลิตมาจากอะไร เขาได้รับสินค้าตัวนั้นไปแล้วมันจะส่งผลต่อตัวเขายังไง อะไรประมาณนี้ค่ะ”
ติดตามพวกเราได้ที่ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน | Thai Volunteer Service (TVS)