“สุดา จ๋อมหล้า” อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดน่าน ชุมชนชาติพันธุ์ลัวะ 

ปัจจุบันเธอกลับไปทำเกษตรอินทรีย์ที่บ้าน และก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตพืชผักปลอดสารเคมี 

“โซดา” กลับมาอยู่ในชุมชนหลังจากที่เจอปัญหาในการใช้ชีวิตในเมืองจากการเรียนและทำงาน เธอได้แรงบันดาลใจในการกลับบ้านจากพื้นฐานครอบครัวที่ทำเกษตรอยู่ก่อนแล้ว มีโอกาสได้ไปเรียนในด้านเกษตร จึงสนใจอยากกลับมาทำงานกับชุมชน เพื่อทำให้ชุมชนที่ตัวเองอยู่มีการพัฒนาที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มากขึ้น

การดำรงชีวิตของโดยหลักของ  ‘ชุมชนชาติพันธุ์ลัวะ’ คือการทำไร่และทำเกษตรแบบฤดูกาลเดียวเพื่อรอเก็บเกี่ยวผลผลิต บ้านของเธอเป็นชุมชนป่าต้นน้ำที่อยู่ติดเขตอุทยาน ผู้คนในหมู่บ้านเห็นความสำคัญในการทำเกษตรให้มีกินอยู่ตลอดฤดู ซึ่งคนในชุมชนก็บริโภคผักเป็นหลัก

ผักสดปลอดสารจากสวนของบ้านโซดา

บทบาทของโซดาหลังจากที่เรียนจบแล้วกลับบ้าน 

โซดา : เราก็ไขว่คว้าที่จะหาทุนการศึกษาเพื่อให้ตัวเองได้เรียน เพราะการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้ บางคนไม่อยากเรียน แต่เรามีความอยากไขว่คว้าที่จะเรียน อยากรู้ว่าการใส่ชุดมหาลัยมันเป็นยังไง การใส่ชุดมัธยมมันเป็นยังไง มันเป็นแรงบันดาลใจที่เราอยากจะกระตือรือร้น อยากใส่ชุดเหมือนเขา เขาใส่แล้วสวย เขาใส่แล้วดูดี พอเราไปเรียนเราก็ย้อนมองกลับไปว่าชุมชนเรามีอะไรดี เราเรียนเกษตรแล้วเราสามารถเอาความรู้ตรงนี้กลับไปให้ชุมชนได้ยังไง 

ตอนเราเรียนพี่น้องในชุมชนจะฝากเงินไปให้เราคนละร้อยบ้าง เพราะเราเป็นรุ่นแรกที่เข้าไปเรียนมหาลัยด้วยทุนการศึกษา เราได้ทุนนี้ เรามีความมุ่งมั่น ความตั้งใจที่จะกลับไปพัฒนาชุมชน เราเริ่มไปฝึกกับรุ่นพี่ในเรื่องของการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรที่ใช้ยา ใช้ปุ๋ยเคมี 

จนสุดท้ายมันตอบโจทย์ในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ เราก็กลับมาพูดคุยกับคนในชุมชนว่า “ชุมชนเราไม่จําเป็นต้องใช้สารเคมีก็ได้ ไม่จําเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีก็ได้” เราก็เลยไปเอาความรู้ตรงนั้นมาสอนในเรื่องของการทําปุ๋ยอินทรีย์ แล้วก็มาช่วยในเรื่องของการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจ เพราะว่าในกลุ่มมันไม่มีใครบันทึกการประชุมเป็น ไม่มีใครจดบันทึกรายได้จากการขายของที่พวกเขาทํามา ทีนี้พอเราทําตรงนี้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเสร็จแล้ว เรามีกลุ่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ใครๆ ก็จะเรียกเราว่า “กลุ่มบ้านก่อก๋วง” ก็เลยมีชื่อเรียก

ทําไมถึงให้ความสําคัญกับการศึกษามาตั้งแต่เด็ก?

โซดา : “การศึกษาบนดอย” กับ “การศึกษาข้างล่าง” ไม่เหมือนกัน ทําไมหนูถึงให้ความสําคัญกับการศึกษาตอนเด็กก็เพราะว่า เราอยู่บนดอย เสาร์อาทิตย์เลิกเรียนเราต้องไปทำไร่ ในขณะที่คนอื่นเขาอาจจะมีไปเรียนพิเศษ ไปเรียนดนตรี ไปเรียนศิลปะบ้าง 

เวลาเด็กดอยไปที่อื่น “คุณครูมักจะถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร” เราจะสามารถตอบ อะไรได้บ้างเราอยากเป็นอะไร อยากเป็นตํารวจเหรอ ตํารวจคืออะไรชุดตํารวจเป็นยังไงเราไม่รู้อันนี้ ช่วงแรกที่ลงไปเรียนอยากเป็นคุณครูไหม เราถนัดวิชาอะไร เราไม่มีวิชาที่เราถนัด เราไม่มีสาขาที่เราถนัด เราไม่มีดนตรี เราไม่มีเครื่องดนตรีเป็นของตัวเอง เราไม่มีศิลปะชุดศิลปะอะไรเป็นของตัวเอง หรืออะไรก็ตามที่แบบเขาทํา ความสามารถพิเศษ ที่ตอบได้คือทําเกษตรได้แค่นี้ 

ทําไมเด็กบนดอยถึงลงไปแล้วรู้สึกอยากแข่งขันในเรื่องความรู้กระตือรือร้นบางทีแบบไขว่คว้าหาทุน ทั้งที่ทุนมันลอยอยู่ในอากาศมากมาย แต่ทําไมเราไม่สามารถเข้าถึงได้? เวลาเรียนเด็กก็ต้องเดินลงไปเรียน หนูนอนหอพักตั้งแต่ ป.4 จนถึง มหาลัย จนจบปี 4 ได้อยู่บ้านแค่เสาร์อาทิตย์ ถ้าเป็นมหาลัยก็แทบไม่ได้อยู่บ้านเลย เราไขว่คว้าหาทุน ทํางานบ้าง ทํางานกลางคืนบ้าง ตอนกลางวันเรียน รับจ้างอาจารย์ทําวิจัยบ้าง สิ่งที่หนูให้ความสําคัญกับการศึกษาบนดอยมากก็คืออย่างน้อยพวกเขาก็ยังได้เรียนอนุบาล ‘พี่เชื่อไหมว่าชุมชนของหนูยังมีเด็กที่ด้อยโอกาส ในเรื่องของการศึกษาเยอะมาก’

ชีวิตแบบนี้มีอยู่จริงสำหรับโซดาคืออะไร?

โซดา :  ชีวิตแบบนี้มีอยู่จริงของหนูก็คือ ก่อนที่จะมาเป็น “โซดา” ทุกวันนี้ ก่อนที่จะมารู้จักพี่ทุกวันนี้ เราต้องผ่านอะไรมาบ้าง เราอยากได้การศึกษาแต่ทําไมเราต้องดิ้นรนวิ่งเข้าไปหา ตอนเด็กแอบแม่ไปเรียนหนังสือ แอบแม่ก็คือไม่ใช่แอบแม่นะ หมายถึงแบบอยู่บ้านกะต๊อบเล็กๆ แต่ว่าอยากไปเรียนหนังสือ พอไปเรียนเราไม่มีชุดนักเรียนเลย เราโดนบูลลี่หนักเราใส่แค่ชุดธรรมดาๆ แล้วผู้ใหญ่ถามเราว่า “ทําไมไม่ใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียน” บางทีประเด็นเรื่องชุดนักเรียนไปโรงเรียนสมัยนี้ที่หนูยังแบบมันค้างคาระหว่างก็เข้าใจว่าเวลาเรามีชุดนักเรียน ผู้ใหญ่จะมองว่านี่คือนักเรียน นี่คือตํารวจ นี่คือพยาบาล นี่คือคุณครู ก็จริงแต่กลับไปมองคนบนดอยสิ เขาไม่มีชุดนักเรียนเวลาไปเรียน ชุดนักเรียนกับการศึกษาอันนี้ก็งงอยู่ 

แต่พอเราโตขึ้นมาระหว่างเรียนเราก็ต้องรับจ้างไปด้วย เรียนไปด้วย รีดเสื้อผ้าบ้างทําความสะอาดบ้างเพื่อให้ตัวเองอยู่ในระบบการศึกษาให้ได้ พอโตมาก็ยังไม่จบก็ต้องพยายามที่จะเรียนต่อ พอเรียนต่อ พ่อแม่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ พอจะไปเรียน ให้ผู้ปกครองมารับสิ ให้ผู้ปกครองเซ็นหน่อย ทำไมต้องผู้ปกครอง? ก็เลยต้องลาออกจากสถานที่นั้น เพื่อกลับมาเรียนที่ใกล้ๆ บ้านตัวเองให้ใกล้ผู้ปกครองที่สุด ที่พ่อแม่สามารถไปหาได้เพราะว่าแม่ก็ขี่รถไม่เป็น พอเรียนมหาลัยก็ต้องไปรับจ้างทํางานตอนกลางคืน แล้วก็ไปรับจ้างอาจารย์ด้วย แล้วก็เรียนด้วย ซึ่งมันเป็นชีวิตที่หนักมากเพราะคําว่า “การศึกษา” นี่แหละ 

ถ้าโครงสร้างมันเปลี่ยนแปลงได้?

โซดา : หลายโรงเรียนยุบไปบนดอย เวลาครูเข้ามาจะเขียนย้ายออกเยอะมาก คนที่เรียนมันเรียนระยะยาว ก็ส่งสารเด็กๆ เลยอยากบอกผู้ใหญ่ว่า “การมองการศึกษา อย่ามองแค่มุมแคบ อย่ามองแค่ในเมือง อย่ามองว่าต้องเก่งคณิตวิทย์ให้มองไปว่าเด็กเขาชอบอะไร เขาถนัดเกษตรก็ไปส่งเสริมเขาทําเกษตรไม่จําเป็นต้องยัดวิทย์คณิตให้เขาคํานวณได้ ให้มองกว้างๆให้มองถึงทั้งประเทศ ไม่ใช่มองแค่ห้องแคบๆ ของตัวเองให้มองแบบพ่อแม่เขาส่งเขาเสียอะไร ไม่ต้องมองให้ไกลมองไปเด็กบนดอยว่าเขาขาดอะไรไปบ้าง เราควรส่งเสริมการศึกษาแบบไหนบนดอย” 

มันแตกต่างกัน บนดอยเขาอาจจะถนัดในเรื่องของการใช้ชีวิต ใช้ชีวิตแบบไหนให้เขามีรายได้อยู่ได้ ไม่ต้องออกไปข้างนอกก็ได้เพราะคนเรามันเก่งไม่เหมือนกัน อย่างเด็กในเมืองเขาเก่งวิชาการเขาเก่งไป เด็กบนดอยเขาเก่งกันใช้ชีวิตแบบในป่าในเขา แล้วทําแบบไหนการในป่าในเขาให้เขาแบบดีขึ้นมา แล้วในเมืองเขาก็ช่วยซัพพอร์ตกันแบบคุณมีเก่งวิชาการ ฉันเก่งปฏิบัติ ให้มันอยู่ระหว่างกลาง

โซดาพาไปดูป่าต้นน้ำในหมู่บ้านของเธอ
ชวนกันนั่งกินข้าวกลางวันใกล้น้ำตกในป่าต้นน้ำ โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในหมู่บ้าน

คิดยังไงกับคำว่าการกลับไปอยู่บ้านมันคือความโรแมนติก (Romanticize) กลับมาทำเกษตรสวยๆ จริงๆ แล้วเป็นยังไง?

โซดา : ตอบเลยว่าไม่ ! มันคือความจําเป็นสําหรับบางคน คนที่กลับมาบ้าน กลับมาทําอะไร ส่วนมากกลับมาทําเกษตร กลับมาดูแลคนในครอบครัว 

กลับมาแล้วจะทําอะไรก่อนคือการคิดหนัก กลับมาทําเกษตรต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี ต้องมีเงินมาลงทุน เขาบอกว่าเกษตรเทคโนโลยีให้อาหารนู่นนี่ คือคนมีเงินเท่านั้น คนที่กลับมาทํานู่นทํานี่อยู่ที่บ้านแล้วมีเงินเก็บ อยู่ในบัญชีเป็นสิบล้านยี่สิบล้านถึงจะกลับมาอยู่บ้านได้ อย่างเรากลับมาอยู่บ้าน เราถามตัวเองตลอดว่า 

คุณมีเงินเก็บในบัญชีหรือยัง? พรุ่งนี้คุณจะขายผักได้มั้ย? ผักไม่ได้ปลูกได้แค่วันสองวัน ไก่ไม่ได้เลี้ยงโตแค่วันสองวันโตวันสองวันไข่ มันต้องใช้เวลาระยะเวลานาน ในระหว่างนั้นเราจะกินอะไรแต่เราก็ต้องอยู่ให้ได้ มันคือภาระครอบครัวที่เรามีอยู่ คนรอบข้างทําไมเขาถึงวิ่งเข้าไปในเมือง เพราะว่าพวกเขาก็ต้องหาต้นทุนหาเงินเพื่อเลี้ยงครอบครัวเหมือนกันทําไมเวลาเราไปกรุงเทพฯ แล้วบอกว่าทําไมไม่อยู่บ้านนอก “ถ้าฉันมีเงินฉันก็ไม่เข้ามาในเมืองกรุงหรอก ฉันก็จะอยู่บ้านนอกของฉันนี่แหละถ้าฉันมีเงินเก็บ” มันไม่ได้โรแมนติกอย่างที่คิด นี้เรื่องจริง 

TIKTOK เป็นกิจกรรมที่โซดาชอบ

สุดท้ายเธอเล่าเรื่องชุดนักเรียนที่เป็นคำถามในใจเธอมานานให้พวกเราฟัง

เธอไม่ใช่ลูกศิษย์ของฉัน !

เสียงจากผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งที่พูดกับ ‘โซดา’ เด็กนักเรียนที่ไม่เคยมีชุดนักเรียนเป็นของตัวเอง

ตลอดช่วงวัยปฐมเธอเล่าให้ฟังว่า ‘ หนูไม่เคยมีชุดนักเรียนที่ปักชื่อตัวเองเลย เพราะชุดที่ถูกบริจาคส่งมามันมักจะเป็นชื่อของคนอื่น ‘ และเหตุผลที่ผู้อำนวยการโรงเรียนพูดกับเธอแบบนั้นก็เป็นเพราะ เธอได้พูดข้อเท็จจริงออกไปเท่านั้นเอง

” เราแค่บอกเขาไปว่า ชื่อบนเสื้อไม่ใช่ชื่อเรา เราไม่เคยมีชุดนักเรียนของตัวเอง แค่นั้นเองพี่ “

” ทำไมไปโรงเรียนต้องใส่ชุดนักเรียน แล้วทำไมการศึกษาของคนบนดอยถึงไม่เท่าเทียมกับการศึกษาของคนเมือง ? “

‘ชีวิตแบบนี้มันมีอยู่จริง’ 

ชีวิตแบบที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเธอคนเดียว 

เพราะยังมีเด็กอีกหลายคนที่ต้องพบเจอกับเส้นทางชีวิตเช่นเธอ 

ติดตามโซดาได้ที่เพจ โซดาพาทำสวน

พี่น้องชาติพันธุ์ลัวะ ช่วยกันหยอดข้าวไร่ในพื้นที่ชุมชน
โฉมหน้าผู้ร่วมทริปครั้งนี้ของเรา

ฝากติดตามกิจกรรมมันส์ๆ ที่จะพาทุกคนไปสัมผัสชีวิตเพื่อนอาสากับพวกเราที่

Visit and talk to #OurEthnicFriends 

ฝากพวกเราและเพื่อนอาสาทุกคนด้วย … 

#TVS #ReturnHomeland | #มอส #อาสาคืนถิ่น

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish