อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 15 วันนี้ แอดมินพาบุกไปถึงภาคเหนือจากการบอกเล่าประสบการณ์ของ
มิโพ-ไชยศรี สุพรรณิการ์ ผู้ที่จะมาสะท้อนปัญหาการทำงานเกี่ยวข้องกับภาครัฐไทยให้เราได้อ่านกันอย่างจุใจอีกครั้ง

TVS: ช่วยแนะนำตัวเองหน่อยค่ะว่าเป็นใคร เรียนอะไร ทำอะไรยังไง อยู่ที่ไหน
มิโพ: ผมเป็นคนเชียงใหม่ จากดอยลูกเล็กๆลูกหนึ่งที่ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียนจบ ป.ตรี สาขารัฐประศาสนศาสตร์ เรียนจบมา 6-7เดือน ก็ได้เห็นใน Facebook ว่ามีโครงการรับสมัครนักสิทธิเลยตัดสินใจสมัคร พอลงไปกรุงเทพรอบแรก องค์กรที่เลือกก็ไม่ได้เลยตัดสินใจ เห้ย! กลับบ้าน ทำนา ทำสวนดีกว่า  จับจอบขุดหลุมเข้าโพด มือถือสั่นตึดๆเลย พอรับสายเบอร์แปลกสายนึงปุ๊บปรากฏว่าเจ้าหน้าที่จากมอส.โทรมาว่า “มีองค์ที่ยังไม่มีคนสมัคร 3 องค์กรนะ มิโพสนใจอันไหนไหม” ผมถึงตัดสินใจเลือกองค์กร ppm โครงการขับเคลื่อนนโยบายด้านทรัพยากรแร่  และทำงานเป็นอาสา 1 ปี เต็ม
ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงทำงานต่อที่นี่

TVS: ช่วยอธิบายบทบาทของหน่วยงานคร่าวๆ ได้ไหมคะ
มิโพ: เอาแบบง่ายๆ ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ก็คือ องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการเป็นที่ปรึกษาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ เรื่องเหมืองแร่

TVS: ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาตอนเราได้ทำงานมีอะไรเกิดขึ้นในหน่วยงานบ้าง แล้วเรามีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ยังไงบ้างคะ
มิโพ: : 1 ปีที่ทำงาน ได้ทำงานกับชาวบ้านหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น เหมืองทองเลย เหมืองแร่โปแตชสกลนคร เหมืองหินดงมะไฟ ประมาณนั้น แต่สำหรับผมอยู่ประจำที่เหมืองหินดงมะไฟ  มีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ดงมะไฟ ที่พอรถโม่หินออกจากพื้นที่ รถแมคโครออกจากพื้นที่เหมืองเช่นกัน ส่วนกระบวนการทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่ก็ได้อยู่ได้กินได้พุดคุยได้ทำงานกับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นนารวม  ซึ่งนารวมคือ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน เขาเหล่าใหญ่ ผาจันได เป็นกลุ่มคัดค้านเหมืองหินแห่งนี้ที่ได้ร่วมใจกันทำนารวมเพื่อเอาไว้กิน เอาไว้ขาย เพื่อใช้ในการคัดค้านเหมืองแห่งนี้ ให้ออกจากพื้นที่ไปแบบราบคาบ

ปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ชาวบ้านเรียกร้องจากภาครัฐให้มาช่วยเหลือแทบไม่ได้เลย อ้างแต่ไม่มีอำนาจ ร้องเรียนหน่วยงานนี้ หน่วยงานนี้ก็โยนให้อีกหน่วยงาน ชักช้ามาก กระบวนการความคืบหน้ากว่าจะได้แต่ละขั้นต้องใช้เวลาเป็นปี ในขณะที่ชาวบ้านเค้าได้รับผลกระทบทุกๆวินาทีที่เลยผ่าน อยากให้กระบวนการยุติธรรมทำงานมากกว่านี้ และปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ อากาศ น้ำ ควรเป็นหน่วยงานรัฐที่ต้องดูแล และ ให้ความสำคัญ ไม่ใช่ต้องให้ชาวบ้านต้องรวมเงินกันเพื่อออกค่าน้ำมันไปยื่นเรื่องผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับที่อำเภอบ้าง ศาลากลางจังหวัดบ้าง ปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นแสดงถึงการทำงานล้มเหลวของราชการไทยล้วนๆ

TVS: จากสิ่งที่เจอมา มีอะไรต่างจากตอนเรียนไปบ้าง ถ้าเปลี่ยนคือเปลี่ยนไปประมาณไหนคะ
มิโพ: จากมหาลัยในห้องเรียนช่างแตกต่างจากมหาลัยเหมืองแร่ สักเกลือเกิน ชีวิตในมหาลัยห้องเรียนการเรียนการสอน มีแต่เพื่อนรุ่นเดียวกัน อายุเท่ากัน การใช้ชีวิตในมหาลัยก็ใกล้เคียงกัน ตื่น นอน เที่ยว เรียน สอบ ประมาณนั้น

แต่ชีวิตมหาลัยเหมืองแร่ เราต้องเจอกับผู้คนมากมากหลากหลายรุ่น มีทั้งเด็ก รุ่นเดียวกัน รุ่นพี่ รุ่นแม่ รุ่นตายาย  มหาลัยก็กว้างทำงานวันนี้ไปที่หนึ่ง อีกวันหนึ่งไปอีกที่หนึ่ง แต่ละวันก็เจอสิ่งใหม่ๆทุกๆวัน

TVS: เราคิดยังไงกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันนี้
มิโพ: สถานการณ์ปัจจุบัน จากที่ผมได้รับรู้จากปากต่อปากจากโลกโซลเชียล  ผมคิดและรู้สึกว่าประเทศตอนนี้อยู่ในช่วงที่วิกฤตหนักมาก ผู้คนล้มตายจากโรคระบาดจากสาเหตุที่การบริการล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ดื้อดึงไม่ฟังเสียงประชาชน ประชาชนออกมาให้รัฐรับผิดชอบ รัฐก็ทำไม่ได้เท่าที่ควร  แถมพอประชาชนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกสิ่งที่ได้กลับไปคือ คดีต่างๆนาๆ  มีการใช้กฎหมายและความรุนแรงกับประชาชน ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินโดยไร้ซึ่งความปราณี

TVS: สุดท้ายนี้มีอะไรอยากฝากบอกไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้อำนาจ, ประชาชนที่ยังคงไม่ตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง ในฐานะที่เราได้ชื่อว่าเป็น ‘นักสิทธิมนุษยชน’ มั้ยคะ
มิโพ: ผู้นำที่ดีของรัฐต้องรับฟังเสียงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของภาษี รัฐต้องรับฟังและปฏิบัติตามที่ประชาชนเรียกร้อง ถ้าบริหารล้มเหลว ทางออกคือลาออก แล้วให้คนที่มีความสามารถเข้าทำหน้าที่ เพื่อความสงบสุข ของชาติ การอยู่ดีกินดี มีรัฐสวัสดิการที่ดี มิใช่บริหารล้มเหลวแล้วดื้อดึงยื้ออำนาจพอประชาชนออกมาก็ใช้ความรุนแรงกับประชาชน  ผู้นำแบบนี้ ไม่ควรที่จะเป็นผู้นำ

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish