ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการ ดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยอ้างถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษากฎหมายของต่างประเทศเพื่อหาหลักการที่เหมาะสมมาใช้ในการยกร่างกฎหมายนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการของร่างกฎหมายตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในวันที่ 12-31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

(คลิกดู…..ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน)


มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน และเป็นองค์กรเอกชน ไม่แสวงหากำไรที่มีส่วนได้เสียและอาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายดังกล่าว ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. … เป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกระทบต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง จึงขอแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 5 ที่กำหนดให้ องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ซึ่งตามนิยามในร่างพระราชบัญญัตินี้มีความหมายครอบคลุมถึง คณะบุคคลหรือกลุ่มของประชาชนทุกประเภทที่รวมตัวกันดำเนินกิจกรรมโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน มีหน้าที่ต้องจดแจ้งต่ออธิบดีกรมการปกครองก่อนจึงจะสามารถดำเนินกิจการได้ และหากดำเนินกิจการโดยไม่จดแจ้งถือว่ามีความผิดตองระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินหาปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 10 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อเสรีภาพในการรวมตัวรวมกลุ่มตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 42 และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 อย่างร้ายแรง และเป็นภาระแก่ประชาชนจนเกินสมควร เนื่องจากบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวรวมกลุ่มทำกิจกรรมและแสดงออก ในรูปแบบต่างๆ ได้ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนจัดตั้งหรือจดแจ้งต่อหน่วยงานของรัฐก่อน

ทั้งนี้ เสรีภาพในการรวมตัวรวมกลุ่มและการแสดงออกดังกล่าวเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตยที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights -ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธะที่ต้องให้การรับรองคุ้มครอง นอกจากนี้การสร้างเงื่อนไขข้อจำกัดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ยังขัดต่อหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory democracy) ที่รัฐพึงส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีบทบาทในการมีส่วนร่วมสนับสนุนและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐด้วย

2. ร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 6 วรรคสอง ที่กำหนดให้ องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน จะรับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือคณะบุคคล ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือมิได้จดทะเบียนจัดตั้งในราชอาณาจักรไทยแล้วแต่กรณี มาใช้ดำเนินกิจกรรมในราชอาณาจักรได้เฉพาะกิจกรรมที่รัฐมนตรีกำหนด เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่รัฐในการจำกัดและก้าวล่วงการใช้เสรีภาพในการรวมตัวรวมกลุ่มของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 42 ได้จนเกินสมควรแก่เหตุและปราศจากเหตุผลอันชอบธรรม โดยบุคคลทุกคนย่อมมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย

ทั้งนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the UnitedNations High Commissioner for Human Rights – UNOHCHR) และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการสมาคม (UN Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association) ได้จัดทำและเผยแพร่เอกสารหลักการปกป้องภาคประชาสังคมและสิทธิในการเข้าถึงเงินทุน (Protecting civic space and the right to access sources) โดยได้วางหลักการที่สำคัญได้แก่

– รัฐต้องอนุญาตให้กลุ่มต่างๆ สามารถหา รับ และใช้เงินทุนจากต่างชาติได้ โดยถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งทุนที่มีอยู่ในสังคม ทั้งในและนอกประเทศ

– รัฐควรงดเว้นการจำกัดวิธีการหามาซึ่งเงินทุนขององค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชน ในทางกลับกัน รัฐควรอนุญาตและอำนวยความสะดวกในการหามาซึ่งเงินทุนภายใต้เงื่อนไขความโปร่งใส

– ข้อจำกัดใดๆ โดยรัฐ ต้องเป็นไปตามเป้าประสงค์อันชอบธรรม (legitimate interest) และเท่าที่จำเป็นในสังคมประชาธิปไตย มาตรการในการจำกัดต้องเป็นวิธีที่ก้าวล่วงสิทธิโดยน้อยที่สุดที่จะบรรลุเป้าหมาย และควรถูกจำกัดแค่กลุ่มที่ถูกระบุอย่างชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

3. ร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 6 วรรคสาม ที่บัญญัติให้ผู้รับจดแจ้งมีอำนาจเขาไปในสถานประกอบการขององคกรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบงปันกัน เพื่อตรวจสอบการดำเนินการใช้จ่ายเงินหรือทรัพยสิน หรือการดำเนินกิจกรรม รวมทั้งใหมีอำนาจตรวจสอบและทำสำเนาข้อมูลจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ขององคกรได้ด้วย โดยมิได้กำหนดกรณีอันเป็นความผิดหรือขอบเขตวัตถุประสงค์ในการใช้อำนาจดังกล่าวไว้อย่างชัดแจ้งนั้น เป็นบทบัญญัติที่ขัดและละเมิดต่อเสรีภาพในเคหสถานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 33 และเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 36 อย่างร้ายแรงและไร้ขอบเขตโดยข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญที่รัฐอาจใช้อำนาจในการเข้าตรวจค้นเคหสถานหรือตรวจกักข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันได้ ต้องเป็นกรณีที่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น

4. บทลงโทษตามร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 9 และมาตรา 10 ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมการปกครองในฐานะผู้รับจดแจ้งทำการเพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันที่ไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด อันจะมีผลทำให้องค์กรที่ถูกเพิกถอนการจดแจ้งไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และหากฝ่าฝืนดำเนินกิจการโดยไม่จดแจ้งหรือในระหว่างที่ถูกเพิกถอนการจดแจ้ง ถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหาปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินสมควรแก่เหตุและไม่ได้สัดส่วนต่อข้อหาความผิดซึ่งเป็นเรื่องการใช้เสรีภาพในการรวมตัวรวมกลุ่มที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรอง และร่างกฎหมายดังกล่าวยังเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรคสาม ที่บัญญัติให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงเท่านั้นด้วย

————————-
ข้อมูลโดย : EnLAW

 

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish