กำลังฮ็อตเลยสำหรับประเด็นการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนบางกลอย จ.เพชรบุรี ที่ตอนนี้ได้ตั้งหมู่บ้านอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะทำกินและอยู่อาศัยบนที่ดินเดิม(ใจแผ่นดิน)  วันนี้เรามีโอกาสไปเยี่ยมพวกเขา พร้อมนำอาหารและของใช้จำเป็นบางส่วนจากทั้งที่รับบริจาคมาและของที่ต่อยอดมาจากการทำกิจกรรมอาสาต่างๆ ไปมอบเป็นกำลังใจให้

และวันนี้เป็นวันเดียวกันกับที่เราได้นั่งสัมภาษณ์เพื่อนอาสาสมัครอีกคนครับ เป็นอาสาสมัครของโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(มกย.) สัมภาษณ์ไปสัมภาษณ์มา มีประเด็นที่พูดถึงเรื่องการบริหารจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยพ่วงเข้ามาด้วย เลยขอเอามาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังในคราวเดียวนี้เลย ให้เพื่อนเราแนะนำตัวเองเลยเนาะ

เรา  : หวัดดีหมิว ….ไม่พูดพร่ำทำเพลง แนะนำตัวก่อนเลยครับ
หมิว : หวัดดีค่ะทุกคน เราชื่อหมิวณัฎฉรียา ขันเงิน นะ ตอนนี้เป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 15 สังกัดโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เราจบคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ  ….เล่าต่อเลยเนาะ….. หลังเรียนจบด้วยความที่เราเป็นคนที่ต้องการหาประสบการณ์ใหม่ๆให้ตัวเอง เราได้สมัครและเข้าทำงานในหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะรู้จักโครงการนี้(โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน มอส.) เอาจริงๆก็คือ หลังทำงานได้ 2 ปี เราเริ่มสนใจประเด็นงานด้านสังคม งานด้านการพัฒนา โดยเฉพาะงานด้านสิทธิมนุษยชน จึงไปเริ่มศึกษาและหาข้อมูลโครงการต่างๆที่มีในประเทศไทย แล้วก็ได้เจอข่าวการเปิดรับสมัครอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 15 นี่แหละ เราจึงตัดสินใจลองสมัครดู อย่างที่คิดในตอนนี้ก็คือ เราควรเปิดโอกาสในการเรียนรู้ครั้งใหม่ให้กับตัวเอง

เอ้ออออ…. เหมือนช่วงนี้กำลังจะเปิดรับ อาสาสมัครนักสิทธิฯ รุ่น 16 อยู่นะ ก็อยากชวนเพื่อนๆ ที่สนใจงานด้านสิทธิมนุษยชนมาสมัครกันเยอะๆนะ ถือว่าเป็นการให้โอกาสตัวเองได้เปิดประสบการณ์ชีวิตเหมือนเรา รับรองว่าเราจะได้เจออะไรใหม่ๆ ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดกับเพื่อนใหม่ๆ รับรองว่าในระยะเวลา 1 ปี คุ้มค่าแน่ๆ

เรา  : ประสบการณ์อื่นๆก็มีเยอะแยะ ทำไมหมิวสนใจประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน
หมิว : อย่างที่บอกไป คือ เรารู้สึกว่าเมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้วมันโดนอะ สิทธิมนุษยชน ในมุมมองของเราคือ การที่เรามีสิทธิในการมีชีวิตและได้ใช้ชีวิต ซึ่งเรามองว่าคนทุกคนมีความชอบธรรมที่จะรักษาชีวิตของตนเอง เกิดมามีอิสระ เสรี มีความเท่าเทียมกันในสิทธิ และศักดิ์ศรี ต่อให้จะแตกต่างกันด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง อะไรก็แล้วแต่ เรามองว่าทุกคนสามารถที่จะเลือกการมีชีวิตที่ดีให้ตัวเราได้ อย่างพื้นฐานเลยก็คือ สิทธิในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต สิทธิที่จะเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และที่เกี่ยวข้องกับประเด็นงานเราเลยคือ สิทธิในการเข้าถึงอาหารปลอดภัย

เรา  : ประเด็นงานขององค์กร ที่หมิวพูดถึงคือยังไงครับ ขยายความนิดนึง
หมิว : โครงการสวนผักคนเมือง เป็นโครงการหนึ่งภายใต้มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(มกย.) โครงการสวนผักเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่ต้นแบบของเกษตรในพื้นที่เมือง เพื่อเชื่อมโยงมิติการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกผักในเมือง เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในเมือง สร้างระบบอาหารทางเลือกเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค ในและนอกเมือง…. ประมาณนี้ค่ะ

เรา  : ช่วงก่อนหน้านี้เหมือนโควิดจะส่งผลกับคนจำนวนมาก และจนถึงตอนนี้แม้สถานการณ์จะซาๆลงบ้าง แต่ก็ถือว่าอยู่ในช่วงเฝ้าระวังอยู่ ในส่วนงานของสวนผักคนเมืองสถานการณ์เป็นไงมั่ง
หมิว : เนื่องจากงานของสวนผักคนเมืองมันเชื่อมโยงกับงานพัฒนาในหลายมิติ แต่เราจะขอพูดในมิติด้านเกษตรและด้านคุณภาพชีวิตซึ่งสวนผักคนเมืองเชื่อมโยงโดยตรงเนาะ ส่วนหนึ่งของมิติด้านนี้คืองานด้านการจัดตลาดขายผลผลิตอินทรีย์ หรือที่เรียกว่า City Farm Market ซึ่งเป็นตัวอย่างของการปรับตัวด้านการทำงานที่เห็นได้ชัด ซึ่งปกติทางโครงการจะจัดให้มีตลาดขายผลผลิตให้กับคนในเมืองได้จับจ่ายเดือนละครั้ง ทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน ซึ่งตรงนี้ขอขายของนิดนึงค่ะ…. ใครสนใจสนับสนุนสินค้าของเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตตัวจริง ตัวเป็นๆ ก็มาเจอกันได้นะคะที่ สวนผักคนเมือง แยกไทรม้า นนทบุรี ถ้ามาไม่ถูกหลังไมค์มาได้เลยค่ะ

ต่อเลยนะ …. สถานการณ์ โควิด-19 ที่เกิดขึ้น สวนผักคนเมืองได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตลาด City Farm Market  โดยการจัดพรีออร์เดอร์สินค้า(การสั่งสินค้าล่วงหน้า) ให้ผู้บริโภคมารับสินค้าที่จัดเตรียมใส่กล่อง เผื่อลดการสัมผัส และการร่วมกลุ่มเพื่อเพิ่มระยะห่างตามนโยบายภาครัฐ เราปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดตลาดเพื่อที่เรายังอยากให้มีการกระจายรายได้ให้เกษตรกร และพ่อค้าแม่ค้าในช่วงภาวะแบบนี้ และยังเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในการ บริโภคสินค้าที่ปลอดภัย  ซึ่งส่วนตัวเรามองว่า นี่ก็เป็นทางออกที่ดีรูปแบบหนึ่ง เพราะไม่ได้ปิดตลาดก็ยังสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ และไม่ปิดกั้นทางเลือกของกลุ่มผู้บริโภค แต่การทำงานของสวนผักคนเมืองในภาวะวิกฤตไม่เพียงแต่การจัดตลาดรูปแบบใหม่เพียงอย่างเดียว แต่เรายังร่วมกับกลุ่มปันอาหารปันชีวิต แบ่งปันอาหารให้แก่กลุ่มคนเปราะบาง ในภาวะวิกฤตนี้ เพื่อที่จะมีอาหารไว้ทานในยามขาดแคลน ……………. อันนี้เป็นลิงค์ของเว็บไซต์นะคะ http://www.thaicityfarm.com/  และแฟนเพจสวนผักคนเมืองค่ะ https://web.facebook.com/cityfarmthailand  ฝากเพื่อนๆ เข้าไปกดไลค์ กดแชร์หรือดูรายเอียดอื่นๆ หรือเข้าไปทักทายให้กำลังใจเราเฉยๆก็ได้ค่ะ

เรา : พูดถึงเกษตรในเมืองหน่อยครับ ยังไม่ค่อย Get เท่าไหร่ว่า ถ้าเรานึกภาพคนในเมือง มีพื้นที่นิดเดียวจะทำเกษตรได้ และยิ่งทำแล้วมาขายได้ด้วยเนี่ย จริงหรอ
หมิว : จริงค่ะ อันนี้เรายืนยันเลย เพราะเราได้เห็นได้สัมผัสจากการลงพื้นที่ไปเจอพื้นที่ที่เกษตรกรเขาทำเขาปลูกจริงๆ คืออย่างหนึ่งที่โครงการสวนผักคนเมืองทำเลยคือ เราพูดถึงการจัดการพื้นที่ขนาดเล็กหรือพื้นที่จำกัด ให้สามารถทำการผลิตได้ อันนี้เพื่อนๆ สามารถเข้าไปดูตัวอย่างได้ในเพจและเว็บไซต์ตามลิงค์ด้านบนค่ะ…. ขอขายของหน่อย และสิ่งที่ที่เราพูดถึงและพยายามจะผลักดันเลยคือ มันยังมีคนเมืองจำนวนมากที่ต้องการพื้นที่ทำการผลิตที่มากขึ้น และเราก็มองว่าในเขตเมืองและปริมณฑลหรือตามหัวเมืองใหญ่ ยังมีพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์จำนามากกกกกก….เลยนะ แต่ปัญหาคือ พื้นที่เหล่านี้ไม่ถูกจัดการให้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

คือเอาจริงๆ มันคือปัญหาเชิงโครงสร้างแหละ มันคือปัญหาเรื่องนโยบายการบริหารจัดการที่ดิน ถ้าพูดถึงเรื่องการผลักดันนโยบายเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่เราผลักดันกันอยู่ในตอนนี้ก็คือเรื่องที่ดินทำกินแหละ เรามองว่าประเด็นเรื่องที่ดินทำกินนี่มันเป็นปัญหาคลาสสิคที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานมากกกก(ก. ร้อยตัว) ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขหรือปัญหาทางกลไกอะไรก็ตาม แต่บทสรุปในตอนนี้ก็คือ เรายังไม่เห็นว่ามีรัฐบาลชุดไหนสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างยั่งยืนเลยซักรัฐบาล

เราว่าประเด็นนี้มันเป็นปัญหาที่เร่งด่วนที่ต้องแก้ไขเลยนะสำหรับเรา อะ….ยกเคสในเมืองที่เรากำลังทำอยู่นี้ก็ได้ หรือที่รกร้างว่างเปล่าเป็นจำนวนมาก เราสังเกตจากการที่เราลงพื้นที่เราเจอว่า มีพี่น้องหลายคนสนใจการทำเกษตรในเมืองเพิ่มมากขึ้นเพราะต้องการมีแหล่งอาหารของตนเอง แต่จำกัดด้วยสถานที่ ที่จัดทำได้ก็สวนผักบนดาดฟ้า หรือบางพื้นที่เขาก็รวมกลุ่มกันเช่าพื้นที่เพื่อปลูกพืชอาหาร ทั้งที่เอาเข้าจริงๆแล้ว ในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ เขตปริมณฑล หรือในหัวเมืองใหญ่ๆ หนะมันมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าอยู่ค่อนข้างเยอะแยะเต็มไปหมด เรามองว่าถ้าแก้ปัญหาด้านเกษตรก็ต้องจัดการที่ดินให้มีพื้นที่ทำกินก่อน ซึ่งเราควรจัดสรรพื้นที่รกร้างว่างเปล่า หรือที่ไม่ใช้ประโยชน์ให้เป็นแหล่งพื้นที่เกษตรและอาหารในระดับเมือง  คือมันไม่ใช่เพียงในเชิงเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวนะ แต่การที่ผู้ที่ต้องการทำการผลิตมีพื้นที่ทำกินเพื่อทำการผลิตเอง ปลูกพืชอาหารเอง มันคือตัวชี้วัดด้านคุณภาพชีวิตทั้งชีวิตเลยนะ

เรา : ได้ตามประเด็นเรื่องกรณีปัญหาชาวบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี มั๊ยครับ
หมิว : พอทราบข่าวอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดค่ะ

เรา : ตอนนี้ชาวบ้านบางกลอยปักหลักตั้งหมู่บ้านที่ข้างทำเนียบรัฐบาล หมิวมีความเห็นยังไงกับประเด็นนี้ครับ
หมิว :
ขอพูดในฐานะที่เราเองเคยทำงานที่เกี่ยวข้องกับสายป่าไม้มาก่อนละกันเนาะ เราพอเข้าใจแนวทางของการอนุรักษ์และการจัดทำขอบเขตพื้นที่ของกรมอุทยานอยู่บ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เราว่าจริงๆเนื้อหาของมันก็คือ “การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการปกป้องผืนป่าเอาไว้” นี่แหละ และถ้ามองในมุมของเนื้อหาของประเด็นเราว่าไม่ต่างกันเลยระหว่างมุมของฝั่งรัฐกับมุมชาวบ้านบางกลอยที่ต้องการอนุรักษ์ผืนดินผืนป่าไว้หล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขาและลูกหลาน ด้วยเหตุที่ชาวบ้านบางกลอยเขามีวิถีวิตแบบคนกับป่าพึ่งพากันอยู่แล้ว เขาอยู่อาศัย เขาทำกินและอนุรักษ์ป่าไปพร้อมๆกัน วิถีของพวกเขาเป็นแบบนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้วนะ โดยหลักการแล้วเขากำลังดูแลรักษาต้นน้ำลำธารอยู่ทุกวันอยู่แล้ว

ทีนี้ถ้ามองในมุมด้านสิทธิมนุษยชนในกรณีบางกลอย จริงๆเรามองว่าการไล่ที่ การรื้อถอนบ้านเรือนของชาวบ้านมันเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ มันมากเกินไปจริงๆ ถ้าพูดถึงเรื่องสิทธิเราว่าเนี่ยแหละชัดเจน ทุกคนควรสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมีตั้งแต่เกิดอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนควรมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่มีใครควรถูกกระทำหรือใช้สิทธิหรืออำนาจที่ตัวเองมีอยู่ไปลิดรอนสิทธิของคนอื่น จริงๆปัญหาที่ดินที่เกิดขึ้นเรามองว่ามันไม่ใช่แค่ปัญหาของสองสามหน่วยงาน แต่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาของคนทุกคนที่ควรมองมันอย่างละเอียดและร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและเป็นธรรม โดยเฉพาะกับชาวบ้านบางกลอยที่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าพวกเขาอยู่ในพื้นที่(ใจแผ่นดิน)มาก่อนการที่รัฐจะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2524 ซึ่งการแก้ไขปัญหาโดยการรื้อถอนและเผาบ้านเรือนชาวบ้าน แล้วอพยพชาวบ้านออกนอกพื้นที่แล้วทุกอย่างจบ นั่นมันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาซึ่งเราว่ามันไม่จบนะ เราคิดว่าถ้าจะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ต้องเริ่มจากนี่ก่อนเลยคือ ต้องเริ่มจากที่รัฐต้องฟังชาวบ้านก่อน ต้องฟังความต้องการของเขาจริงๆ ต้องสร้างทางเลือกร่วมกัน ต้องวิเคราะห์ร่วมกันว่าสิ่งที่ทำอยู่มันแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ถ้ามันไปไม่ได้ก็ต้องหาทางเลือกอื่น ไม่ใช่ว่าเริ่มจากการมองว่าพวกเขาผิดตลอดแบบที่มอง เราว่าถ้าจะแก้ไขปัญหาเรื่องที่ที่ดินและที่อยู่อาศัยให้ยั่งยืนจริงๆ เราว่าต้องแก้จากโครงสร้างเลย ต้องแก้ที่กฎหมายและนโยบายก่อนเลย

เอาแบบสรุปๆ คือเรามองว่า “ถ้านโยบายการบริหารจัดการที่ดินมันดีจริง ที่ดินรกร้างว่างเปล่าทั้งในและนอกเขตเมืองต้องถูกใช้ประโยชน์ คนเมืองที่ต้องการพื้นที่ในการปลูกพืชอาหารต้องมีพื้นที่รองรับ คนชนบทต้องมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและทำกินในวิถีเดิมบนผืนดินที่เขาเกิด จะต้องไม่มีการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับชาวบ้าน “บางกลอย” อย่างทุกวันนี้”

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish