งานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนของไทย มีความเป็นมาตั้งแต่ครั้งอดีตโดยผู้นำในทุกยุคสมัยต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตและเป็นกำลังหลักในการนำพาสังคมให้ขับเคลื่อนไปในวันข้างหน้าการดำเนินงานเพื่อ “พัฒนาคน” จึงอยู่ภายใต้บริบทแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ผ่านวิสัยทัศน์ของผู้นำที่จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดว่ารุ่นใหม่ควรมีคุณลักษณะแบบใดจึงจะสามารถตอบสนองความต้องการจำเป็นของสังคมอย่างเหมาะสม และเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดมีขึ้นผู้นำไม่สามารถกำหนดทุกสิ่งให้เป็นไปตามต้องการได้อย่างครบถ้วนเนื่องจากยังมีอีกหลายปัจจัยที่มีส่วนต่อความก้าวหน้าหรือถดถอยให้กับงานด้านเด็กและเยาวชนด้วยเช่นกัน 

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเริ่มมีการดำเนินนโยบายด้านเด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปประธรรม ประกอบกับการมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนร่วมผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในหลายจังหวะเวลา เห็นได้ชัดเจนว่า การดำเนินการดังกล่าวล้วนอยู่ภายใต้บริบทแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการกำหนดภารกิจด้านพัฒนาด้านเด็กและเยาวชนให้มีความก้าวหน้าหรือถดถอยแตกต่างกันไป สิ่งที่มีความสำคัญอย่างแท้จริงในการกำหนดภารกิจดังกล่าวให้มีความก้าวหน้าได้มากที่สุดโดยเฉพาะในช่วงที่โอกาสอำนวยคือทัศนคติและความเข้าใจต่องานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนของภาครัฐ รวมทั้งวิสัยทัศน์ของผู้นำ ซึ่งทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศ 

จากการติดตามการดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนของรัฐ พบข้อจำกัดสำคัญ ได้แก่ การที่นโยบายและกฎหมายดำเนินไปภายใต้กรอบแนวคิดหลัก 2 ประการ ประกอบด้วยมุมมองต่อเด็กและเยาวชนในฐานะ “กำลังแรงงาน” ที่ต้องได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้และทักษะเพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตในทางเศรษฐกิจ 

และมุมมองต่อเด็กและเยาวชนในฐานะ “ผู้ต้องได้รับการสงเคราะห์คุ้มครอง” เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอื่น ขณะที่การขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนของภาคประชาสังคมยังแยกส่วนจากภาครัฐขาดการเชื่อมโยงและบูรณาการร่วมกัน ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างและเป็นระบบร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ในสังคมการเมืองร่วมสมัย มุมมองในการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่สะท้อนจากกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีความแตกต่างที่น่าสนใจ อาทิ การที่แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ มีการระบุถึงการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีพัฒนาการเหมาะสมตามช่วงวัย เป็นพลเมืองสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมในฐานะภาคีที่มีพลังในกระบวนการการพัฒนา และแม้จะยังคงมุ่งเน้นให้การปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันยังระบุถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับชุมชนและสังคม เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เกิดการพัฒนาศักยภาพอย่างเป็นระบบโดยมีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง รวมถึงการสนับสนุนการรวมกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างเป็นทางการ โดยการใช้กลไกสภาเด็กและเยาวชน ยังมีหลายประเด็นที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานให้บรรลุจุดมุ่งหมาย อาทิ การระบุปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมุมมองว่าเป็นปัญหาของ “ตัวเด็ก” จึงเน้นการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ตัวเด็กและเยาวชนมากกว่าครอบครัว ชุมชน และสังคม เป็นต้น 

ข้อจำกัดสำคัญอีกประการ ที่ส่งผลเป็นการทำลายหลักการและแนวคิดก้าวหน้าตามที่ระบุไว้ในกฎหมายและนโยบายต่างๆ ได้แก่ ปฏิบัติการทางการเมืองที่มุ่งเน้นการควบคุมสังคมโดยการใช้อำนาจ ซึ่งสวนทางกับแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านพัฒนาเด็กและเยาวชนภายใต้หลักการมีส่วนร่วมและเปิดพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์อย่างสิ้นเชิง โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในช่วงที่รัฐบาลทหารกุมอำนาจการบริหารประเทศ มักมีการดำเนินการที่เป็นการจำกัดและควบคุมสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของเด็กและเยาวชน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น ในยุครัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และนำไปสู่การจัดทำกฎหมายที่ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปประธรรม 

คลิกอ่านบทความความทั้ง 9 เรื่องและดาวน์โหลดเนื้อหา Pocket book ทั้งเล่มได้ที่นี่

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish