พลเมืองในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติของการเป็นผู้มีความรอบรู้ สามารถปรับตัวอย่างเท่าทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลก มีการคิดอย่างเป็นเหตุผล กล้าตัดสินใจ ทั้งยังมีการริเริ่มและลงมือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายสำหรับนโยบาย โครงการ และกิจกรรมเยาวชน ที่ได้รับการจัดให้มีขึ้นอยู่เสมอ กระนั้น เรากลับรู้สึกห่วงใยเมื่อพบว่า แนวโน้มการเติบโตของเยาวชนไทยมิได้เป็นไปในทิศทางที่มุ่งหวัง เยาวชนส่วนใหญ่ดูเหมือนว่ากำลังดำเนินชีวิตโดยไร้จุดมุ่งหมายที่สร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน เยาวชนอีกจำนวนหนึ่งกลับมีท่าทีการแสดงออก ที่มองได้ว่าเต็มไปด้วยความก้าวร้าว ฉีกขนบ ไม่สอดคล้องกับค่านิยมหลักของสังคม
อะไรคืออุปสรรคและทางออกสำหรับการส่งเสริมเยาวชนให้มีการพัฒนาอย่างเหมาะสม เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยต่อไปในวันข้างหน้า?
งานศึกษาสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน เป็นงานที่รวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนทั้งในระดับวิธีคิด นโยบาย กฎกติกา และภาคปฏิบัติการ ตลอดจนกระบวนการเคลื่อนไหวที่แสดงถึงบทบาทการมีส่วนร่วมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของเยาวชน จากทั้งหมด 9 กรณีศึกษาพบว่า ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี สังคมไทยมีการใช้ทรัพยากรไม่น้อยในการจัดทำนโยบาย โครงสร้าง และดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาเยาวชน อย่างไรก็ตาม “หลุมพราง” อยู่ที่ทัศนคติซึ่งหยั่งรากลึกนับจากอดีต และส่งผลถึงปัจจุบัน ทำให้ความตั้งใจดีที่เป็นจุดเริ่มต้นของหลากหลายภารกิจไม่อาจบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน พบว่ามีหลากหลายกิจกรรมความเคลื่อนไหวของเยาวชนที่เป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนถึงศักยภาพ ความสามารถ รวมทั้งความตั้งใจและพลังสร้างสรรค์อันเต็มเปี่ยมของเยาวชนในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม ทว่า ด้วยมุมมองแบบเดิมกลายเป็นกรอบจำกัดของหลายฝ่ายในการทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การแสดงศักยภาพและความสามารถของเยาวชนในหลายกรณีแทนที่จะได้รับการส่งเสริมให้ก้าวหน้า แต่กลับถูกตัดสินตีตราว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ท้าทาย ไปจนถึงเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม เยาวชนจำนวนหนึ่งจึงต้องเผชิญกับการลงโทษเอาผิด ส่วนสังคมไทยต้องสูญเสียโอกาสที่จะเก็บรับประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากความมุ่งมั่นและสมรรถนะของพลเมืองรุ่นใหม่
บทความจาก 9 กรณีศึกษาสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน แต่ละประเด็นมีความเป็นเอกเทศที่สามารถเลือกอ่านตามความสนใจ โดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ เนื่องจากแนวทางการนำเสนอของแต่ละกรณีศึกษาเป็นการรายงานข้อมูลปมปัญหา รวมทั้งไล่เรียงถึงสาเหตุความเป็นมา เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะทางออกของแต่ละเรื่องราว อย่างไรก็ตาม หนังสือจัดวางเนื้อหาโดยเริ่มต้นจากกรณีศึกษาที่สะท้อนถึงนโยบายและภารกิจที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดที่ปิดกั้นการดำเนินงานไม่ให้บรรลุถึงเป้าหมาย ติดตามด้วยบทความที่ว่าด้วยสาเหตุจากรากฐานทางวัฒนธรรมความคิดต่อเด็กและเยาวชนของสังคมไทย จากนั้นจึงนำเสนอบทความที่แสดงถึงความสามารถและสร้างสรรค์ของเยาวชนในหลากหลายมิติ เพื่อนำไปสู่บทสรุปในช่วงท้ายซึ่งเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้พิจารณาเป็นแนวทางที่จะก้าวข้ามอุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่ และหวังให้นำไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริมให้เยาวชนได้มีการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมไทยอย่างแท้จริง
บทความทั้ง 9 กรณีศึกษา มีการวางเนื้อหาตามลำดับคือ
- ก้าวทันพลวัต: กับดักนโยบายด้านเด็กและเยาวชน
- กระบวนทัศน์การพัฒนาสภาเด็กและเยาวชนในประเทศไทย
- ระบบการศึกษากับการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม: กรณีศึกษา “กิจกรรมสภานักเรียน”
- อำนาจวัฒนธรรมของการตกแต่งนิสัยใจคอเด็กไทยให้เป็น “เด็กดี”
- นวตกรรมเยาวชน: สำนึกรับผิดชอบและการนำเสนออัตลักษณ์
- เกษตรกรคนรุ่นใหม่ ความคิด ความเชื่อการลงมือทำบนทางเลือกวิถีอินทรีย์และอาชีพทางเลือก
- การมีส่วนร่วมของเยาวชนภายในพรรคการเมือง: เมื่อต้นกล้าแตกหน่อ
- เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบทางตรง
- การมีส่วนร่วมของเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในรูปแบบใหม่
คลิกอ่านบทความความทั้ง 9 เรื่องและดาวน์โหลดเนื้อหา Pocket book ทั้งเล่มได้ที่นี่