ถิ่นอีสานนับว่าเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผม ผมได้รับรู้ ได้เห็นภาพของภาคอีสานทางสื่อสิ่งพิมพ์ ทางสื่อโทรทัศน์ จากข่าวสารน้ำท่วมบ้าง น้ำแล้งบ้าง และทางบทเพลงของศิลปินผู้สู้ชีวิตทางเสียงเพลง และถ่ายทอดเรื่องราวของการดิ้นรนชีวิตในเมืองกรุง ไม่ว่าจะเป็น ราชินีลูกทุ่งอย่าง “ต่าย อรทัย” เจ้าของงานเพลงมงกุฎดอกหญ้า หรือไมค์ ภิรมย์พร เจ้าของบทเพลงยาใจคนจน สื่อต่างๆทำให้รับรู้โดยสายตาประมวลด้วยความนึกคิดอะไรบางอย่าง ทำให้ในหัวผมมองเห็นถึงความลำบากของภูมิภาคนี้

พอมาวันหนึ่งเมื่อโอกาศเข้ามาโดยความบังเอิญโดยมีไกด์ทัวร์ที่มีนามว่า มอส. หรือมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ที่นำพาผมพร้อมหมวกใบหนึ่งที่ชื่อ “อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 15” สวมไว้บนหัวและนำพาผมมุ่งหน้าสู่ ต.ดงมะไฟ อ. สุวรรณคูหา จ. หนองบัวลำภู โอกาสครั้งนี้ได้เปิดโลกใบใหม่ที่เรียกว่าอีสานเหนือให้กับผม ความตื่นเต้นและความท้าทายเข้ามาในชีวิตผมอีกครั้ง ผมไม่เคยคิดว่าดินแดนถิ่นนี้จะมีความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรม สังคม ด้านภูมิอากาศ ซึ่งแต่ละด้านก่อให้เกิดวิถีกาใช้ชีวิตเพื่อปรับเข้ากับสภาพแวดล้อม ผู้คนที่นี่ไม่เคยบ่นว่าเหนื่อยยากลำบากอะไรกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่บนผืนดินแห่งนี้ พูดแต่เพียงว่าขอแค่ชีวิตมีกินมีอยู่ มีสุขภาพที่แข็งแรง มีมื้ออาหารที่ล้อมรอบด้วยสมาชิกในครอบครัว แค่นี้ชีวิตก็ไม่ต้องการอะไรอย่างอื่นแล้ว

แต่……. ในพื้นที่นี้เมื่อ 26 ปีที่แล้ว มีกลุ่มทุนผู้ใฝ่ซึ่งความมั่งคั่งในชีวิตโดยไม่สนใจว่า สิ่งที่พวกเขาทำอยู่มันจะนำไปสู่การทำลายวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่จากรุ่นสู่รุ่น พวกเขาได้เข้ามาสำรวจตรวจสอบพื้นที่ เพื่อทำเหมืองหินปูน และพื้นที่ที่พวกเขาได้ดำเนินการขอต่อประทานบัตรครั้งแรกนั้นคือพื้นที่ที่เรียกว่า “ภูผายา” ซึ่งถือว่าเป็นโบราณสถานสำคัญเลยก็ว่าได้ เนื่องจากที่ภูผายาแห่งนี้มีถ้ำโบราณซึ่งภายในมีความสวยงามมาก มีภาพเขียนสีที่เก่าแก่จารึกไว้ที่ผนังถ้ำ เป็นภาพจารึกที่มีอายุใกล้เคียงกับผาแต้มที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันเข้าคัดค้านการดำเนินการสัมปทานของกลุ่มนายทุนจนทำให้นายทุนยอมถอยจากการดำเนินการต่อ

แต่กระนั้นนายทุนก็ยังไม่ยอมวางมือ ยังเดินหน้ายื่นขอสัมปทานดำเนินการทำเหมืองต่ออีก รอบนี้นายทุนได้ย้ายจากภูผายามาที่ “ภูผาฮวก” ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าเป็นภูเขาฝาแฝดกับภูผายา และการต่อใบประทานบัตรครั้งนี้คาดว่าประสบความสำเร็จได้ด้วยอำนาจเงินและอำนาจการสร้างความกลัวให้ชาวบ้าน ซึ่งการขอใบประทานบัตรครั้งนี้เป็นไปโดยมิชอบ มีการทำกันเป็นขบวนการทั้งข้าราชการระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด แต่ชาวก็ไม่ยอมเนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ชาวบ้านยังคงรวมตัวกันคัดค้านการดำเนินการของนายทุนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ระดมกำลังคน ระดมข้าวปลาอาหาร หน่อไม้ เห็ด ปู และของป่าอื่นๆเท่าที่จะหาได้เพื่อเป็นเสบียง ไว้เป็นเสบียง ระดมเงินเพื่อใช้เป็นทุนจ้างทนายความเพื่อดำเนินการฟ้องนายทุน แต่ ณ ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถยุติการทำเหมืองได้

ต่อมาเมื่อปี 2559 ได้มีการเริ่มระเบิดภูเขาเพื่อทำเหมืองเรื่อยมาจนมาถึงปี 2563 การต่อสู้ด้านกฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถยุติการเหมืองได้ ชาวบ้านจึงเดินหน้าคัดค้านเหมืองด้วยพลังความสามัคคีปิดเส้นทางการขนส่งแร่หิน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการสามารถส่งหินไปขายต่อได้

ระหว่างทางการต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองที่ผ่านเหตุการณ์เรื่องราวมากมาย ทำให้ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านเริ่มสนิทสนมกันมากขึ้นเรื่อยๆเพราะได้มาร่วมชุมนุมด้วยกัน นอนเฝ้าเวรยามด้วยกัน ได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้คัดค้านกับการดำเนินโครงการเหมืองด้วยกัน มีการจัดกิจกรรมแคมป์ เช่น การแข่งขันหาหน่อไม้ หาเห็ด และหากบเพื่อนำมาประกอบอาหารกินร่วมกัน ทุกวันๆทั้ง 6 หมู่บ้านจะจัดประชุมร่วมกันเพื่อแบ่งปันทั้งข่าวสารและข้าวปลาอาหาร หากใครมีปลาแดก(ปลาร้า)ก็นำมา หากใครมีหน่อไม้ก็นำมา หากใครมีใบหญ้านางก็นำมา และหากใครมีปลาก็นำมา ยังมีผู้คนต่างถิ่นอีกมากมาย ที่ได้เห็นถึงการต่อสู้ และได้ร่วมบริจาคสิ่งของและเงินสมทบทุน สิ่งเหล่านี้ช่วยทำให้แคมป์ชาวบ้านดูสีสันและมีชีวิตชีวา

สถานการณ์​ปัจจุบัน​ถึงแม้สภา อบต. มีมติไม่บรรจุวาระเข้าที่ประชุม แต่ชาวบ้านยังไม่นิ่งนอนใจ เพราะการเลือกตั้งสมัยหน้าชาวบ้านคาดการณ์ว่านายทุนต้องพยายามทุกวิถีทางทั้งบนและใต้โต๊ะเพื่อให้สมาชิก อบต. ช่วยผลักดันให้บรรจุวาระการขอต่อประทานบัตรเพื่อขอใช้ประโยชน์ป่าไม้ ดังนั้นชาวบ้านจังยังคงปักหลักพักแรมโดยจัดตารางเวรเพื่อปิดทางเข้าเหมืองจนกว่านายทุนจะนำอุปกรณ์การทำเหมืองออกจากพื้นที่ให้หมด

นี่คือเรื่องราวการต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองของชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของของธรรมชาติและการหวงแหนธรรมชาติอันที่รัก ไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้ เพราะวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่ต้องอยู่อาศัยและพึ่งพิงกับธรรมชาติ เนื่องจากวิถีชีวิตที่พึ่งพิงกับธรรมชาติถูกส่งต่อมาหลายชั่วอายุคน จึงเป็นการยากมากที่จะให้ ทรัพยากรถูกทำลายลงโดยไม่ลุกขึ้นมาคัดค้าน

การหลงทางของผมครั้งนี้ ผมไม่เคยหาจีพีเอสเพื่อหาทางกลับบ้าน หรือเอาเข้าจริงจีพีเอสที่ผมเคยใช้เป็นประจำ จนผมหยุดใช้มันนับจากวันแรกที่ผมก้าวเท้าเข้ามาใช้ชีวิตที่นี่ จนตอนนี้ 4 เดือนผ่านไปจีพีเอสผมอาจพังไปแล้วก็ได้ ผมคิดแต่เพียงว่าทางที่หลงมานี้ ระหว่างทางเดิน 4 เดือนที่ผ่านมาทำให้ผมพบเจอเรื่องราวและประสบการณ์มากมาย มีการต่อสู้ มีความลำบาก มีความมุ่งมั่งของกลุ่มชาวบ้านที่ไม่ได้ลุกขึ้นมาทำเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่การต่อสู้ครั้งนี้คือการทำเพื่ออนาคตของลูกหลานที่จะลืมตาดูโลกอีกหลายต่อหลายรุ่น โดยหวังว่าพวกเขาจะได้มีชีวิตที่ดี มีอากาศดี มีภูเขาล้อมรอบ มีนกกาบินจากภูเขาลูกหนึ่งไปจีบนกกาที่ภูเขาอีกลูก  เป็นความสวยงามที่ธรรมชาติสร้างมันขึ้นมา แม้จะเสี่ยงกับชีวิตในการต่อสู้เพื่อทวงคืนภูผา แต่ไทบ้าน ผู้รักษ์ป่าเขา จะไม่ยอมให้ผู้ใดมาทำลายมรดกของปู่ย่าตายายที่เก็บไว้ให้ลูกหลาน
.
เขียน /ภาพประกอบ : ไชยศรี  สุพรรณิการ์
อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 15
โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่  : PPM

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish