เขียน : คุณภัทร คะชะนะ / อาสาสมัครนักสิทธิฯ รุ่น 14 – นักเขียน / กวีอิสระ
ภาพ : อำพล ปานแดง

ดนตรีกับการเมือง เป็นสิ่งที่อยู่เคียงคู่กันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่ ดนตรีกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการปกครอง ยกตัวอย่างเช่น เพลงชาติ ซึ่งถือเป็นสิ่งสะท้อนถึงการใช้ดนตรีหรือบทเพลง เพื่อตอบสนองต่ออุดมการณ์รัฐ หรืออุดมการณ์ชาตินิยม เป็นการใช้บทเพลงเพื่อหลอมรวมผู้คน ให้เข้ามาอยู่ภายใต้อุดมการณ์ชุดเดียวกันของรัฐชาติสมัยใหม่

ดนตรี คือ ผลผลิตทางวัฒนธรรมที่สำคัญของมนุษย์ การใช้เสียงสะท้อนในการสื่อสารเรื่องราวทางอารมณ์ รวมถึงภาษาที่ใช้ในการขับร้องบรรเลง ทำให้การบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ มีความหมายขึ้นมา ดนตรีจึงมีความสำคัญมากต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ ทั้งด้านความจรรโลงใจ การใช้ในทางพิธีกรรม การบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ มากมายของชีวิต จนถึงการกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

หากมองย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดนตรีได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการครอบงำทางการเมือง ตั้งแต่เพลงชาติไทย หรือบทเพลงที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยม และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามเย็น เช่น เพลงหนักแผ่นดิน ที่กลายมาเป็นบทเพลงที่ถูกขับร้องในการสังหารหมู่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โศกนาฎกรรมอันเหี้ยมโหดที่กระทำต่อประชาชน หรือผู้ที่รัฐมองว่าเป็นศัตรูและภัยต่อความั่นคงของรัฐ

เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างบทเพลงที่สร้างขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงอุดมการณ์รัฐ ได้แก่บทเพลง “คืนความสุข” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่กลายเป็นเครื่องมือในการใช้สร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” แน่นอนว่าสถานการณ์ทางการเมืองไทย ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่าครึ่งทศวรรษ โดยที่รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงขอเวลาอีกยาวนานแสนนานต่อไป

ขณะเดียวกัน ถ้าหากว่ามีดนตรีที่สร้างขึ้นสำหรับการครอบงำหรือเป็นเครื่องของการปกครอง ดนตรีที่สร้างขึ้นเพื่อสะท้อน ต่อต้าน หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ก็ย่อมมีได้เช่นกัน บทความนี้จึงต้องการนำเสนอบทเพลงที่ผู้เขียนมองเห็นว่า สามารถนำมาใช้บอกเล่าและตีความให้เข้ากับสถานการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในยุคร่วมสมัยปัจจุบันได้

บทเพลงที่ผู้เขียนหยิบยกมาเชื่อมร้อยโยงใยกันกับสถานการณ์ทางการเมืองยุคปัจจุบัน คงเป็นเพียงเศษส่วนเล็ก ๆ ของบทเพลงเพื่อการต่อสู้อีกมากมายหลายบทเพลง สุดแล้วแต่ผู้รักในเสียงดนตรีแต่ละคนจะคิดเห็นหรือมีความรู้สึกร่วมกับบทเพลงเหล่านั้น ทั้งนี้ บทเพลงทั้ง 4 บทเพลง ที่ผู้เขียนเลือกหยิบมาใช้ในบทความ เป็นบทเพลงที่ผู้เขียนได้ฟัง และรู้สึกเชื่อมโยงตนเองเข้ากับบทเพลงเหล่านี้ และยังได้เชื่อมโยงบทเพลงและตนเองเข้าหาขบวนการต่อสู้ในปัจจุบัน

โดยผู้เขียนหวังไว้ว่า ผู้อ่านจะแนะนำบทเพลงต่าง ๆ ที่ผู้อ่านรู้สึกเช่นนี้ต่อผู้เขียนบ้าง เมื่อเราได้แลกเปลี่ยนบทเพลงต่อกันและกัน จะทำให้บทเพลงมีชีวิตขึ้นมา และทำให้ความหมายของบทเพลงได้ขยายตัวออกไป และต่อจากนี้ไป ผู้เขียนจะขอแนะนำบทเพลงของผู้เขียน ดังนี้

Triedland (ชายชุดดำ) – VEGA
บทเพลงนี้เป็นบทเพลงจากศิลปินดินแดนล้านนา ด้วยสไตล์การเล่นแบบไซคลีเดลิคร็อค(Psychedelic Rock) ให้เสียงกล่อมโสตประสาทบาดหัวใจ โดยเนื้อหาของบทเพลงนี้ ต้องการเสียดสีถึงเรื่องราวทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง มีการใช้คำว่า นักลงทุน คนขายฝัน เพื่อสื่อสารถึงกลุ่มผู้มีอำนาจที่ต้องการกอบโกยผลประโยชน์ และพยายามหาช่องว่างในวิธีการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย มาใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาของตนเอง

ในบางช่วงของบทเพลง มีการพูดถึงการต่อต้านของผู้คน แต่กลับถูกกลุ่มผู้มีอำนาจโต้กลับด้วยการใช้กำลัง “แยบยลด้วยกลลวง ฝูงชนจึงทักท้วง สลายด้วยกำลัง หลายคนโดนจับขัง เพราะเราอ่อนแอ จึงหมดหนทาง” ตามมาด้วยท่อนหลักที่กล่าววิพากษ์โครงสร้างการปกครองอย่างชัดเจน “ระบอบมันล้มเหลว และบอบบาง จึงมีช่องทางให้คนขายฝัน ระบอบมันล้มเหลว ไร้ทิศทาง สัญญาเลยจาง ลืมเลือนกันไป”

บทเพลงนี้จึงให้ภาพของปัญหาการเมืองไทยที่การเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มเพื่อการกอบโกยของตนเอง ขณะหาเสียงพวกเขาขายฝันไว้มากมาย สุดท้ายเมื่อตนเองได้ถือครองอำนาจ กลับไม่ทำตามถ้อยคำที่ตนเองประกาศไว้ แต่มีเนื้อหาช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับบทเพลง ที่กล่าวว่า “เพราะเราอ่อนแอ จึงหมดหนทาง”

ผู้เขียนมองว่า พวกเราไม่ได้อ่อนแอ และยังมีหนทางในการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่เสมอ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเป็นกลวิธีของบทเพลงที่จงใจทำให้เราตั้งคำถามต่อตัวบท และเกิดความคิดในการที่จะต้องออกไปต่อสู้เปลี่ยนแปลง หรือบทเพลงนี้สะท้อนความรู้สึกสิ้นหวังต่อระบอบการเมืองในช่วงเวลานั้น ก่อนที่ขบวนการต่อสู้ของคณะประชาชนปลดแอกจะปรากฎตัวขึ้น และกลายเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง

250 สอพลอ – RAP AGAINST DICTATORSHIP
เป็นบทเพลงแนว HIPHOP ซึ่งย้อนกลับไปถึงรากฐานที่มาของการกำเนิดของแนวเพลงนี้ คือ การเป็นบทเพลงแห่งการสะท้อนสังคม ที่ได้หายไปในวงการดนตรีฮิปฮอปไปอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในวงการฮิปฮอปไทย แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ทำให้จิตวิญญาณขบถของแนวดนตรีนี้กลับมาอีกครั้ง บทเพลงอย่าง ประเทศกูมี กลายเป็นบทเพลงที่สะท้อนความโกรธเกรี้ยวของยุคสมัยภายใต้ระบอบ คสช. ได้เป็นอย่างดี

บทเพลง 25 สอพลอ เป็นบทเพลงที่กล่าวถึงผู้มีอำนาจทั้ง 250 คน ที่มีอำนาจขึ้นมาจากกลไกของรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างไร้ความชอบธรรม เพราะเป็นการแต่งตั้งพรรคพวกของตน 250 สอพลอ เป็นชิ้นส่วนสำคัญของกระบวนการสืบทอดอำนาจให้กับระบอบเผด็จการทหาร และเป็นส่วนสำคัญที่คอยขัดขวางเจตจำนงของประชาชน ดังที่เราเห็นในการลงมติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา พวกเขาได้แสดงท่าทีที่สะท้อนความเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวความคิดประชาธิปไตย เป็นเสียงผู้ทรงอำนาจ และเป็นที่มาของคำว่า เผด็จการรัฐสภา อย่างแท้จริง

การรื้อและทำลาย 250 สอพลอ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทยให้ดำเนินต่อไป บทเพลงนี้สะท้อนถึงความกระหายอำนาจของผู้ปกครองผ่านความเป็น 250 สอพลออย่างชัดเจน และจะบทเพลงที่ถูกขับร้องต่อไป ตราบใดที่กลุ่มคนแห่งสภาสูงยังคงลอยหน้าลอยตา โดยไม่ถูกขับไล่ออกไป หรือจนกว่าที่รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการจะถูกยกเลิก จนกว่าประชาชนจะสามารถร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาใหม่ เพื่อไม่ให้คนกลุ่มใดขึ้นมามีอำนาจเหนือประชาชนได้อีก

“สิทธิที่ต้องมี แต่ไม่มี เพราะคนสอพลอ สิทธิที่ต้องมี แต่ไม่มี เพราะคนสอพลอ”

ก้มลงช่วยมด – YENA
“ออกไปโห่ร้อง ถือธงโบกสะบัด ตามใจ ตามกัน หรือตามการปลูกฝัง” เป็นท่อนเริ่มต้นของบทเพลงก้มลงช่วยมด ขับร้องโดยวงเยนา วงที่ถูกนิยามว่าเป็นวงเพื่อชีวิตร่วมสมัย คำว่า ตามใจ ตามกัน หรือตามการปลูกฝัง เป็นการตั้งคำถามต่อการกระทำของมนุษย์ โดยตั้งคำถามว่า การที่เรากระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นมาจากหัวใจของเรา หรือเป็นเพียงการทำตามคนอื่น ๆ หรือเราถูกปลูกฝังให้กระทำเช่นนั้น จนไม่สามารถตั้งคำถามได้ว่า เรากระสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร ตามมาด้วยท่อนที่ตอกย้ำการตั้งถามนี้อย่างชัดเจน “ยืนเคารพใคร เคารพคนบนนั้นใคร ตามใจ ตามกัน หรือตามการปลูกฝัง”

แต่เนื้อหาที่อยู่ระหว่างสองท่อนนี้ ได้ขับร้องว่า “ก้มลงช่วยมดในคอห่าน บนแผ่นดินที่คุณยืน ตามใจแค่ตามใจ ก็แค่ตามหัวใจ” เป็นท่อนต้องการจะสื่อสารว่าการกระทำตามหัวใจของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งธรรมดา เราก็แค่ทำตามหัวใจของเราเพียงเท่านั้น

บทเพลงนี้อาจตีความได้ว่าเป็นบทเพลงที่สนับสนุนเสรีภาพในการเลือกและการแสดงออกต่าง ๆ ที่ไม่ต้องกระทำตาม ๆ กัน หรือทำตามการปลูกฝังของสังคมที่คอยบอกเราว่าสิ่งใดที่เราสามารถกระทำได้ หรือไม่สามารถกระทำได้ การทำตามหัวใจของตนเอง ถือเป็นสิ่งที่สำคัญของมนุษย์อย่างมาก และเรามีสิทธิที่จะใฝ่ฝันถึงโลกใบใหม่ ขอเพียงเราทำตามหัวใจของเราเอง ดังเนื้อเพลงท่อนสุดท้ายที่กล่าวว่า

“ทุกคนต่างพูดต่างฝัน อยากเห็นโลกที่สวยสดงดงาม ไม่ยากหรอก แค่ลองพยายามใช้ศรัทธากับเสียงหัวใจที่เราได้ยินมันใกล้ๆ”

เพื่อนเอ๋ย – PRU
บทเพลงนี้อาจไม่ได้สะท้อนเสียดสีต่อสังคมการเมืองเหมือนกับ 3 บทเพลงที่ผู้เขียนหยิบยกมาข้างต้น แต่ผู้เขียนเลือกหยิบบทเพลงนี้มาเป็นช่วงจบของบทความ เพราะผู้เขียนเห็นว่าบทเพลงนี้เป็นบทเพลงที่ให้กำลังใจต่อเพื่อน ๆ ที่ก้าวเดินสู่การต่อสู้ เดินทางไปสู่สังคมที่ตนเองใฝ่ฝัน ไม่ว่าหนทางที่เลือกจะยากลำบากสักเพียงใด ขอเพียงให้เรามั่นใจกับเส้นทางที่เราได้เลือกเดิน

อีกทั้งบทเพลงนี้ ยังใช้ภาพเคลื่อนไหวประกอบบทเพลง โดยการนำภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มาเป็นฉากหลัง ยิ่งทำให้เนื้อหาของบทเพลงมีพลังในการเคลื่อนการเคลื่อนไหวเพื่อระบอบประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ได้อย่างมาก บทเพลงนี้ผู้เขียนอาจไม่เขียนวิเคราะห์อะไรมากนัก แต่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้รับฟังบทเพลงนี้ด้วยหัวใจ

“เพื่อนเอ๋ย หากว่าวันนี้ไม่ใช่ วันพรุ่งนี้ค่อยเริ่มใหม่ได้ไหม
คนที่รักเธอยังมี และคนที่หนีก็คงเจอ และไม่ว่าเป็นยังไง ตราบใดที่ใจของเธอยังมีหวัง

ฉันก็ขอเป็นกำลังใจให้เธอ ได้พบกับวันที่รอมาเสมอ ขอเพียงแค่เธอ เข้าใจในทางที่เดินอยู่ และแน่ใจว่ามันถูกก็พอ

แม้จะต้องผิดหวังสักเท่าไหร่ แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยล้าสักเพียงใด สักแค่ไหน ขอเพียงเธอนั้นมั่นใจ และเข้าใจในทางที่เดินอยู่ และแน่ใจว่ามันถูกก็พอ”

สุดท้ายแม้ว่าการต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบัน จะต้องประสบกับความพ่ายแพ้ หรือสามารถก้าวไปสู่ชัยชนะ บทเพลงหรือเสียงดนตรีจะยังคงคอยเป็นพื้นที่ทางความคิดและจินตนาการให้กับเราต่อไป เราอาจจะไม่ชนะอำนาจของผู้ปกครองในการเมือง แต่เราจะสามารถชนะผู้ปกครองในทางวัฒนธรรม และจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพและความใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า ได้ถูกหล่อเลี้ยงให้ดำรงอยู่ในสังคมไทย

ขอให้กำลังใจต่อเพื่อนพ้องทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้จนจบ ผู้เขียนมั่นใจว่าสักวันหนึ่ง ความฝันของพวกเราจะกลายเป็นความจริง และความฝันของพวกเรา จะกลายเป็นบทเพลงและเสียงดนตรีที่คอยบอกเล่าเรื่องราวของยุคสมัยแห่งเราต่อประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish