กนกพร จันทร์พลอย : เขียน

การได้ลองทำอะไรบางอย่าง ตามความรู้สึก ตามหัวใจ เราเชื่อเสมอว่ามันจะออกมาดี เป็นคนหนึ่งที่เคยคิดว่า การเรียนกฎหมายในสังคมไทยนั้น มีอาชีพอยู่ไม่กี่อาชีพเท่านั้นแหละ ที่จะเป็นได้ ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ข้าราชการ แล้วตอนนั้นก็มีความคิดอยากจะเป็นด้วยสิ ด้วยความรู้สึกอยากรู้อยากลองอะไรบางอย่างในตอนนั้น ทำให้ได้เข้าไปเรียนรู้ในประเด็นที่ไม่เคยก้าวขาเข้าไป และมีโอกาสได้ไปฝึกงานภาคฤดูร้อนในพื้นที่เรียนรู้ใหม่ในช่วงเวลาสองเดือนกว่า ๆ ของการเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ฉันได้เลือกไปฝึกงานที่ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสำนักงานกฎหมายที่ทำงานเกี่ยวกับการสนับสนุนในการสร้างความเข้มแข็งภายในชุมชน ทั้งชุมชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ให้ความช่วยเหลือในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของชาวบ้าน พร้อมทั้งจังหวัดเชียงใหม่และ จังหวัดอื่นๆในภาคเหนือ ประกอบด้วยชนเผ่า หรือกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม

แล้วใครจะไปรู้ว่า การมาฝึกงานในครั้งนี้จะทำให้เป้าหมายที่มีเปลี่ยนแปลงไป ฉันมองเห็นตัวเอง เข้าใจคนอื่น สนใจสังคมรอบข้างมากขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองชอบทำอะไร ทำได้เพียงเอาความชอบของคนอื่นมาใส่ในหัว และเพิกเฉยกับปัญหาสังคมมากมาย พร่ำบอกกับตัวเองว่า “ฉันชอบเรื่องนี้ ฉันอยากเป็นแบบนี้ และจะทำมันให้ได้” แบบที่สังคมไม่ตั้งคำถาม แต่เมื่อได้ลองตามความรู้สึกตัวเอง ได้เจอประสบการณ์ที่แตกต่าง จึงได้รู้ว่า “นี่แหละ ทางที่ตัวฉันจะเดิน”

การมาเป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนกับการฝึกงานภาคฤดูร้อนของมหาวิทยาลัย อาจมีความคล้ายกันในเรื่องของกระแสงาน ประเด็นงานที่ต้องเรียนรู้ แต่ในเรื่องบทบาทในการทำงานนั้น มีความต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นบทบาทที่คนรอบข้างคาดหวัง หรือแม้แต่ความคาดหวังของตัวเอง

ฉันเข้ามาสมัครโครงการอาสาสมัครนักสิทธิ เริ่มต้นจากการสนใจในตอนแรกหลังจากจบฝึกงาน ได้ทราบข่าวการสมัครจากรุ่นพี่ในองค์กรฝึกงาน เมื่อรู้เป้าหมายตัวเองแล้วคงไม่ต้องลังเลใจ ฉันจำได้ว่าตนเองตั้งใจมากในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาสาสมัครนักสิทธิในรุ่นนี้ เรียกได้ว่ามันไม่ใช่ความบังเอิญ มันคือความตั้งใจ และประเด็นฉันให้ความสนใจในช่วงนั้นคือประเด็นสิ่งแวดล้อม

องค์กรที่ฉันเลือกเพื่อเข้ามาเรียนรู้งานคงก้าวไม่พ้นประเด็นที่ตนสนใจอยู่แล้วคือ มูลนิธิเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ ทำงานประเด็นสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสิทธิในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้สิทธิ เสรีภาพในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ( เว็ปไซต์เพิ่มเติม https://fenr2016.org/home/ )

ในช่วงแรกของการทำงาน มีความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเนื้อหาการทำงาน สังคมการทำงาน ภาษาที่ใช้สื่อสาร ที่นั่งทำงานประจำ ช่วงเวลาอาหารกลางวัน หรือแม้กระทั่งรสชาติของกาแฟดำ มีอะไรให้เราได้เรียนรู้มากมาย แน่นอนว่าพอเจออะไรที่ไม่เคยชิน มีบ้างที่เป็นกังวล แต่จะคอยย้ำตัวเองเสมอว่า นี่เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ดีที่สุด และหากข้ามผ่านมันไปได้ เราจะพัฒนาตัวเองมากขึ้น

ค่ายสานพลังเยาวชนสื่อคุณค่าสาละวิน ที่จัดขึ้นครั้งแรกของกลุ่มเยาวชนลุ่มแม่น้ำสาละวิน เปรียบเสมือนการลงพื้นที่ครั้งแรกของตนเอง ในบทบาทอาสาสมัครนักสิทธิฯ ด้วยบทบาทที่ไม่เหมือนเดิม การเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ทำงาน การเรียนรู้เกิดขึ้นมากมาย ทั้งการเรียนรู้ตัวเอง และเรียนรู้คนรอบข้าง การทำงานร่วมกัน เป็นความท้าทายที่ดีที่สุด จึงอยากนำเรื่องราวจากการลงพื้นที่ครั้งแรกของการเป็นอาสาสมัครนักสิทธิฯ มาสร้างความหวังกำลังใจให้กับทุกคน ทีี่กำลังทำงานในประเด็นสิทธิอยู่ จงมั่นใจว่าทุกก้าวที่เราเดินนั้น มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

เมื่อวันที่ 13-15 กรกฎาคม 2018 ที่ผ่านมา ฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ ค่ายสานพลังเยาวชนสื่อคุณค่าสาละวิน ณ โรงเรียนบ้านแม่สามแลบ หมู่บ้านแม่สามแลบ ตำบลสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกลุ่มเครือข่ายลุ่มน้ำสาละวิน เป็นหลักสูตรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งให้มีความตื่นตัวต่อสิทธิเด็ก เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและมีภาวะความเป็นผู้นำ โดยเชื่อว่า “เด็ก” อาจเป็นตัวขับเคลื่อนในประเด็นปัญหาต่าง ๆในสังคมได้อย่างดี

“เธอเห็นไหมนั่นไงสาละวิน    แม่น้ำสวยภูเขาสวยเด็กร่าเริง

เธอเห็นไหมหมู่ปลาที่หลากหลาย    แค่รู้สึกและได้คิดก็อุ่นใจ

เธอเห็นไหมสิ่งแวดล้อมที่สดใส    เต็มไปด้วยฝูงนกที่มากมาย

ในชุมชนทุกคนช่วยเหลือกัน    ไม่ทิ้งกันรักษาวัฒนธรรม

บทเพลงที่เด็ก ๆในค่ายเยาวชนฯ ได้ร่วมกันแต่งขึ้นเพื่อรณรงค์ปกป้องดูแลแม่น้ำสาละวินตามสิทธิเด็กในระบบนิเวศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่คอยหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของพวกเขามาอย่างยาวนาน บทเพลงนี้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่เกิดจากกระบวนการในค่ายเยาวชนฯ ครั้งนี้

แม่น้ำสาละวิน มีต้นกำเนิดจากการละลายของหิมะบริเวณที่ราบสูงธิเบตเหนือเขาหิมาลัยทะเลปานกลาง สองฟากลุ่มแม่น้ำสาละวิน เป็นลุ่มแม่น้ำที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นชนพื้นเมืองมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีระบบนิเวศน์ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยการหาอาหารจากป่า จับปลาในแม่น้ำและปลูกพืชโดยอาศัยพื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำที่มีลักษณะแคบและยาวแต่พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเขตนี้ อาจกล่าวได้ว่ามีความสำคัญอย่างมากทั้งในแง่ความมั่นคงทางอาหาร วิถีชีวิตและวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน

จากการได้พูดคุยกับสุวัตน์ ผู้ริเริ่มโครงการเยาวชนฯ ในครั้งนี้ สุวัตน์เล่าว่า ตนพยายามสร้างช่องทางสื่อสารกันให้กับเด็ก ๆในพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาที่อาจพบเจอมาแตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่การมีเครือข่ายเยาวชนที่ตระหนักถึงทรัพยากรภายในท้องถิ่นของตนเอง รวมถึงตระหนักถึงสิทธิเด็กที่ตนมีอยู่

ในเช้าวันแรกของค่าย เมื่อมองภาพเด็ก ๆที่ดูตื่นเต้นกับการได้พบเพื่อนใหม่ ๆกว่ายี่สิบชีวิตนี้มาทำกิจกรรมร่วมกัน แตกต่างหลากหลายหมู่บ้าน ในตำบลสบเมย ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านห้วยห้อม หมู่บ้านแม่สามแลบ หมู่บ้านแม่ดึ หมู่บ้านท่าสองยาง หมู่บ้านท่าตาฝั่ง หมู่บ้านสบเมย หมู่บ้านโพซอ สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดร่วมทำให้พวกเขาสามารถสนิทกันได้อย่างรวดเร็ว นั่นคือ วัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ที่เป็นเหมือนตัวเชื่อมต่อความสัมพันธ์กันและกันอย่างราบรื่น

จากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเด็ก ๆที่เข้าร่วมกิจกรรม สะท้อนได้ว่าเยาวชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว มักไม่มีความเข้าใจต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของตนยังมองว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัว โดยเยาวชนส่วนใหญ่ยังไม่มีสัญชาติ ไม่เข้าใจว่าการมีสัญชาตินั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อตน เนื่องจากวิถีชีวิตไม่ได้จำเป็นต้องใช้สิทธิดังกล่าว แต่เมื่อต้องจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เริ่มต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน การจะไปสมัครงานต้องใช้สิทธิในสัญชาติเป็นเงื่อนไขหลัก โดยเฉพาะการสมัครเป็นข้าราชการ กล่าวคือเป็นสิทธิที่กระทบไปยังสิทธิอื่น ๆ

กระบวนการสร้างเครื่องมือในการรณรงค์ ทำให้เยาวชนสร้างผลงานออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ เมื่อมองจากเพลงดังกล่าวที่กลุ่มเยาวชนฯ ร่วมกันแต่งขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นภาพของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ของชุมชนสาละวินได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำสาละวินที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตหากถูกทำลายไป ย่อมส่งผลเสีย ต่อวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่นี้ เครื่องมือชิ้นนี้อาจเป็นหนทางหนึ่งในการต่อสู้ซึ่งสิทธิในระบบนิเวศได้ไม่มากก็น้อย

แม้ค่ายเยาวชนฯ ครั้งนี้จะใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันเพียงสองวัน แต่อย่างไรก็ดี นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ทุกคนกลับไปฉุกคิด ตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง จากเดิมที่ไม่เคยให้ความสำคัญต่อสิทธิขั้นพื้นฐานทำให้มองเห็นภาพของความกล้าที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิของตน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

หลังจากนี้ การเดินทางครั้งใหม่กำลังจะเริ่มต้น มีอะไรอีกมากมายที่ฉันยังไม่รู้ และคงต้องเรียนรู้และท้าทายตัวเองต่อไป ทั้งเนื้อหา สังคมการทำงาน พื้นที่ทำงาน ตลอดเวลาหนึ่งปีที่มันจะเกิดขึ้นครั้งนี้ หวังว่ามันจะทำให้ฉันได้มองเห็นโลกที่กว้างกว่าที่เคยเป็น  และสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ในอนาคต

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish