ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และองค์กรภาคประชาสังคม 214 องค์กร เข้ายื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้ยกเลิกกระบวนการร่างและการเสนอกฎหมาย “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ………” พร้อม 3 เหตุผลประกอบคือ
.
(คลิกดู…..ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน)
.
 
1. กระบวนการเสนอร่างกฎหมายขัดต่อมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ โดยจะต้องนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน รวมถึงขั้นตอนก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
 
2. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้โดยใช้กฎหมายต่างประเทศที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิ เสรีภาพประชาชนอย่างร้ายแรง ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการ หรือเป็นประเทศที่มิได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มาเป็นแนวทางในการยกร่าง
 
3. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเนื้อหาขัดกับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ จำกัดสิทธิเสรีภาพ ขัดหลักนิติธรรม และไม่เป็นไปตามหลัก “ความจำเป็น ความสมเหตุสมผล” และสัดส่วน” ตามมาตรา 26 และเป็นการจำกัดเสรีภาพการรวมตัวกันตามมาตรา 42 ขัดสิทธิความเป็นส่วนตัวตามมาตรา 32 และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันตามมาตรา 36 อันจะเป็นการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อการดำเนินงานสาธารณะขององค์กรภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน หรือองค์กรที่ไม่แสวงหารายหรือกำไรมาแบ่งปันกัน อีกทั้งเป็นการกำหนดโทษทางอาญาที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดเพียงเพราะไม่จดแจ้งกับหน่วยงานรัฐเท่านั้น
 
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และองค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมลงชื่อท้ายหนังสือฉบับนี้ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมีบัญชาสั่งให้ยกเลิกกระบวนการร่างและเสนอพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ…..นี้โดยทันที

 

 

หลังจากนั้นได้เดินทางเข้าไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อยื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอให้ให้ทบทวนการเสนอร่างกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 โดยระบุว่า
 
จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น
 
ขั้นตอนการดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ……. มีลักษณะขัดต่อมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ โดยจะต้องนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน รวมถึงขั้นตอนก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการ ยังมิได้ดำเนินการตามกระบวนการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมิได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 25 ซึ่งบัญญัติให้การเสนอร่างกฎหมายต่อสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐจะต้องเสนอสรุปผลการรับฟังความเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ จึงย่อมส่งผลทำให้การจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวเสียไป
 
และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ….ฉบับดังกล่าวยังมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 36 มาตรา 40 และมาตรา 42 (หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย)
 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงควรพิจารณาทบทวนการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 
 
 

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish