คัดจากจากรายงานหัวเรื่อง “ปัญหาการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” ในเวทีสรุปบทเรียนการปฏิบัติงาน 1 ปี ของนายโสภณ หนูรัตน์ อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 7 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

IMG_3299


จากการทำงานมาหลายเดือน พบว่าสิ่งที่ต้องปรับปรุงในการทำงานคือการปรับตัวเข้ากับงานที่ทำ รู้สึกว่าตัวเองถนัดทำงานแบบพึ่งตนเองมากเกินไป ขาดการหาข้อมูลที่เพียงพอและในบางครั้ง เราคิดว่างานนั้นคงไม่สามารถทำได้ทั้งที่ความจริงยังไม่ได้ลองทำดูเลย จึงต้องฝึกสร้างทัศนคติใหม่โดยต้องทำงานดูก่อนไม่ว่างานนั้นจะมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ ทำลายความคิดที่บอกว่าทำไม่ได้ กล้าที่จะออกไปติดตามข่าวสารการทำงานของเพื่อนร่วมงานคนอื่น สร้างมนุษย์สัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน กล้าที่จะแสดงออกมากกว่านี้ และเวลาไปทำงานรณรงค์หรือจัดเวทีข้างนอกมักจะมาสายเป็นประจำ จึงต้องฝึกตัวเองให้ออกมาก่อนเวลา เพื่อจะได้มาช่วยพวกพี่ๆ เตรียมงานและจัดของ

ในการทำงานบางอย่างที่ต้องใส่ใจในเรื่องเล็กน้อย และมีบ่อยครั้งที่เราหลงลืมไปทำให้ต้องเสียเวลากลับมาแก้ไขงานใหม่ ซึ่งต้องฝึกสมาธิให้มากกว่านี้ เพื่อตัวเองจะได้สามารถทำงานได้อย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้น

หลังจากผ่านไป 8 เดือน ได้มีโอกาสทำงานกับชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายรับเรื่องร้องเรียนในต่างจังหวัด ทำให้เข้าใจปัญหาในการทำงานของคนในท้องที่ว่ายังขาดผู้มีความรู้ในเรื่องกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก ในการให้คำแนะนำผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย และถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ ตรงนี้ เราก็ได้มีโอกาสได้ใช้ความรู้ที่มีแนะนำเขาไป และมีอยู่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสเป็นวิทยากรให้ความรู้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคกับชาวบ้านและนักศึกษา กศน. ของอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้มีการทำกิจกรรมต่างๆ และให้ข้อมูลด้านการใช้กฎหมาย และตัวอย่างคดีผู้บริโภค แนะนำหน่วยงานที่สามารถร้องเรียนต่างๆ และได้มีการตั้งโจทก์เพื่อให้ผู้เข้าฟังลองตอบดู ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคอีกมาก ส่วนมากจะรู้จักแต่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. และบางหน่วยงาน แม้ชาวบ้านจะรู้จักชื่อดี แต่ก็ไม่รู้ถึงอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้น เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. มีบทบาทหน้าที่อะไร ทำให้รู้ว่า สาเหตุหนึ่งที่ชาวบ้าน เขาไม่ได้ร้องเรียนสิทธิของตนเองตามกฎหมาย คือ การขาดความรู้ว่าเวลาเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น เขาโทรไปแจ้งได้ที่นี่ ที่นั่น แต่ไม่มีหน่วยงานรัฐลงมาให้ข้อมูลเหล่านี้

IMG_3408

นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ทราบว่าแม้มีกฎหมายคุ้มครองไว้ แต่หากผู้บังคับใช้กฎหมายไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ดี กฎหมายก็ไม่มีการถูกบังคับใช้อย่างเต็มที่ และจากการได้คุยกับผู้เสียหายที่มาร้องเรียนยังมูลนิธิฯ ส่วนหนึ่งได้มีการแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐแล้ว แต่เนื่องจากความล่าช้าในการทำงาน ไม่มีการรายงานผลความคืบหน้าให้ผู้เสียหายทราบ และเป็นหน้าที่ของผู้เสียหายที่ต้องติดตามเองหรือการไม่ให้ความร่วมมือโดยอ้างว่าไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ต้องไปร้องเรียนที่อื่น ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม และบางรายไม่สามารถเจรจาตกลงได้ก็ต้องดำเนินการฟ้องคดี

บางรายมีปัญหาเรื่องอายุความการฟ้องคดีซึ่งใกล้จะหมด ทำให้ต้องรีบฟ้องก่อน ทำให้เกิดปัญหาในการเตรียมข้อมูล ทำให้ผมเข้าใจว่าทนายความบางครั้งก็ลำบาก ในการหาช่องทางฟ้องคดีเพราะมีผลเกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจฟ้อง เนื่องจากคดีใกล้จะขาดอายุความซึ่งเรื่องเหล่านี้ ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้เสียหายเขาก็ไม่ทราบ ว่าเรื่องไหน ต้องฟ้องภายในกี่ปี ไม่อย่างนั้นกฎหมายห้ามไม่ให้ฟ้องร้องกันอีก และผมได้รับความรู้ในเรื่องการทำคดีจากพี่ทนายอีกว่า ในบางเรื่อง แม้ผู้เสียหายเขาจะมีความต้องการอย่างไร เราจะไปตามใจเขา ฟ้องให้ตามที่เขาเรียกร้องก็คงไม่ได้ ต้องตรวจสอบดูว่า ข้อกฎหมายที่มีอยู่ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนที่สามารถเรียกร้องได้ คิดว่ามีทางชนะก็ควรทำในส่วนนั้น อะไรก็เราคิดว่าเขาคงไม่มีสิทธิได้ ก็ต้องบอกเขาตรงๆ ซึ่งผมคิดว่าแนวคิดแบบนี้ เป็นประโยชน์ในการทำงานด้านกฎหมายของผมมาก

581810_471413642925985_825188870_n

ผมคิดว่าคงไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด ทุกคนล้วนสามารถพัฒนาตนเองได้ ยิ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน จะทำให้คนเรามีความตั้งใจและพยายามอย่างมากเพื่อให้ตนเองอยู่รอดได้ และผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นไปเสียทุกอย่าง แต่ผมเชื่อว่าหากเราได้ลองทำดู และแม้ในช่วงแรกจะทำได้ไม่ดีเท่าไร แต่หากเรายอมรับข้อเสียของตนเอง รู้จักแก้ไข เรียนรู้ปัญหาและหาทางแก้ รับฟังความคิดเห็นคนอื่น เราก็สามารถทำสิ่งนั้นได้ดีขึ้น เมื่อได้ทำอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความชำนาญ สักวันหนึ่งเราก็จะเป็นคนที่คนอื่นยอมรับ และเป็นที่พึ่งพาและช่วยเหลือคนอื่นได้ต่อไป

ผมเป็นคนที่ชอบความเป็นอิสระและคิดว่าทุกคนก็ต้องการมีอิสระในตนเอง ทั้งด้านความคิดและการแสดงออก ก่อนที่จะเริ่มใช้ชีวิตในแบบคนที่ต้องทำงานอย่างจริงจัง ผมคิดว่าครอบครัวของผมค่อนข้างให้อิสระกับผมมาก ทำให้รู้สึกว่าในบางครั้งตนเองก็เป็นคนที่มีนิสัยเอาแต่ใจ ไม่ค่อยฟังคนอื่นเท่าไหร่ และคิดว่าตัวเองก็เป็นคนที่คุยกับใครก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่  จึงทำให้เกิดความไม่มั่นใจที่จะเข้าไปหาคนอื่นก่อน แต่เมื่อได้มาเข้าอบรมโครงการนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รุ่น 7 ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และในที่สุดก็ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้ผมคิดว่าการเริ่มเข้าไปหาคนอื่นก่อน ไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นและน่ากลัวอย่างที่คิด การที่เราได้พูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น ทำให้เราได้เรียนรู้ในตัวคนอื่นมากขึ้น รู้จักการวางตัวกับคนในหลายรูปแบบ และรับฟังคนอื่นมากขึ้น

เข้าใจว่าในบางครั้ง หากเราต้องการที่จะให้คนอื่นฟังสิ่งที่เราพูดหรืออธิบาย เราก็ต้องรู้จักฟังเขาก่อน ทำให้เปิดใจที่จะเรียนรู้คนอื่นมากขึ้น คิดถึงใจคนอื่นมากขึ้นเพราะงานที่เราทำนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นความทุกข์ของคนอื่น ทำให้เราได้เรียนรู้ความทุกข์ของคนที่หลากหลาย ได้เข้าใจความทุกข์ของคนที่ถูกเอาเปรียบ ความทุกข์ที่เกิดจากความไม่รู้วิธีแก้ไข ซึ่งก็ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน ในการทำงานทำให้อิสระในการใช้ชีวิตส่วนตัวลดลงไปบ้าง แต่ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นสิ่งทดแทน ซึ่งผมคิดว่าหากตัวเองไปทำงานราชการ หรืออยู่ในบริษัท หรือองค์กรที่ไม่ได้ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ คงไม่มีโอกาสได้เจอสิ่งดีๆ เหล่านี้

เส้นทางของการเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นก้าวแรกของการเติมเต็มความฝันของผม ได้สอนอะไรกับผมมากมาย ผมเพียงแค่อยากเป็นนักกฎหมายที่ได้ทำประโยชน์ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ไม่ได้อยากร่ำรวย เงินทองอะไร ขอขอบคุณมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมมากๆ ครับ ที่มีโครงการดีๆ แบบนี้ และอยากให้มีรุ่นต่อไปอีกเรื่อยๆ

อ่านเรื่องย้อนหลัง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish