Chollakarn Tent Pholwattana

Chollakarn Tent Pholwattana

ความเคลื่อนไหวอันสดใสร่าเริง ของตัวแทนเยาวชนจากประเทศต่างๆ ดูเหมือนจะสร้างสีสัน ให้กับภาคประชาสังคมบน ‘เวทีร่วม’

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 อยู่ไม่น้อย นอกจากความแตกต่างของอายุยังมี ‘ความหลากหลาย’ ทางความคิดจากบรรดา ‘คนรุ่นต่อไป’ ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของพวกเขาให้ผู้ใหญ่ได้ฟัง

ชลกานต์ ผลวัฒนะ หรือ เต๊นท์ จาก โรงเรียนแกลงวิทยสถาวร จ.ระยอง ถือเป็นน้องใหม่อีกคนที่ได้มีโอกาสมาเปิดหูเปิดตา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกับเหล่า ‘รุ่นพี่’ จากกลุ่มเยาวชนต่างๆ จากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้จะเพิ่งพ้นชีวิตหัวเกรียนขาสั้นเข้าสู่รั้วชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่ ‘ชั่วโมงบิน’ บนเวทีระดับเยาวชนไม่ได้ ‘ละอ่อน’ ไปตามหน้าตาเลย

เต๊นท์ เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ในฐานะตัวแทนกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ ตลอดจนฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนขึ้นมา

“ตื่นเต้นครับ” เขาออกตัวถึงความรู้สึกแรกที่ได้พบปะเพื่อน (รุ่นพี่) นานาชาติคราวนี้

หลังอาหารมื้อกลางวัน ช่วงเวลาพักครึ่งก่อนเริ่มวงเสวนาในภาคบ่าย เขาจึงแวะมาแบ่งปันมุมมอง และความคิดของ ‘น้องใหม่’ ให้รู้

เข้ามาเป็นตัวแทนในการประชุมครั้งนี้ได้อย่างไร

ตั้งแต่เดือนที่แล้ว (กันยายน 2552) มีการเตรียมเยาวชนเข้าร่วมกลุ่มเยาวชนอาเซียน เวทีตอนนั้นมีการแลกเปลี่ยนกันว่าจะมีอะไรเกี่ยวกับเยาวชนไทยที่จะมานำเสนอในเวทีอาเซียน ก็มีการเชิญกลุ่มรักษ์เขาชะเมาเข้าร่วมด้วย พี่ๆ เขาก็มองว่า เราน่าจะสามารถถ่ายทอด และสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ และส่วนตัวชอบเกี่ยวกับการสื่อสาร การทำงานเกี่ยวกับสังคมอยู่แล้ว เพราะเราทำงานเกี่ยวกับสิทธิเด็กมาตั้งแต่เด็ก เวทีนี้พี่ๆ ก็คิดว่าน่าจะคล้ายๆ กัน ก็เลยได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนกลุ่มออกมา

ทำไมถึงสนใจกิจกรรมด้านนี้

ผมเริ่มให้ความสนใจกับงานกิจกรรมของเยาวชนตั้งแต่ยังอยู่ชั้นประถมครับ ไปยืนเกาะรั้วดูตั้งแต่ชั้นป.2-3 เข้าไปจริงๆ ตอนป.4 ในค่ายรักษ์วัฒนธรรม ก็ได้อยู่ในกลุ่มเรื่อยมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว จริงๆ เด็กๆ แทบทุกคนในหมู่บ้านก็โตมากับกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ได้เห็นกิจกรรมที่พวกพี่ๆ จัด ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทำเกี่ยวกับสิทธิเด็ก สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม ทำงานร่วมกับชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชีวิต ลดละเลิกอบายมุข ทำงานเกี่ยวกับเยาวชนด้านสื่อ การเผยแพร่สื่อสีขาว มันเป็นสิ่งที่เราควรจะทำในพื้นที่ทำให้กับบ้านของเราเอง

เรียนรู้อะไรจากการทำกิจกรรมบ้าง
น่าจะได้เรื่องข้างในมากกว่า ทุกสิ่งที่ทำช่วยหล่อหลอมเราให้มีจิตใจที่เป็นสาธารณะ มีจิตใจที่จะอาสามากขึ้น เรารู้สึกว่าเราทำงานตรงนี้ เวลาไปทำงานอะไรในสังคมเราก็อยากจะอาสาไปช่วยเหลือ ไม่ได้หวังอะไรตอบแทน แล้วก็ยังถือเป็นการฝึกตัวเองไปอีกทางหนึ่งด้วย

ความเป็นจิตอาสาในสังคมจำเป็นแค่ไหน
จำเป็นมากครับ เพราะทุกวันนี้สังคมยังมีน้อยอยู่ อีกอย่างก็คือ สังคมมีการอาสามาดูแลกัน ทำให้เราได้เรียนรู้ระหว่างกันและกัน อย่างที่ผมไปลงพื้นที่กับกลุ่มเยาวชนเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมในหมู่บ้าน เราก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะ มันจะค่อยๆ บ่มเพาะความรู้ของเราที่มีนอกเหนือจากตำราเรียน ทำให้เรามีโอกาสมากกว่าคนอื่น มาทำกิจกรรม ได้เจอผู้คนหลากหลาย ถ้าเป็นเด็กธรรมดาที่เคยไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม มาถึงตรงนี้ก็คงยังไม่รู้เรื่องมากกว่าที่อยู่ในห้องเรียน

สนใจอะไรในอาเซียน
สนใจเรื่อง สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม เพราะสิทธิมนุษยชน อย่างสิทธิเด็ก ถือเป็นกิจกรรมแรกๆ ที่ผมทำ สิทธิเด็กถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนก็มีข้อมูลมาให้เราสนใจ ทำให้รู้สึกว่าอยากจะช่วย… อยากรู้ว่ามีกฎหมายตรงไหนที่จะนำไปใช้ได้ และอยากให้ประเทศไทยตื่นตัวในเรื่องนี้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่

ส่วน สิ่งแวดล้อม มันเป็นเรื่องใกล้ตัว และกลุ่มรักษ์เขาชะเมาก็เกิดขึ้นมาจากแนวคิดนี้ด้วย เราก็คิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์ถ้าเราได้เรียนรู้เรื่องตรงนี้ บนเวทีนี้อย่างน้อยมันก็จะได้นำเสนอ และสามารถทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อชุมชนได้ อย่างสามารถให้เยาวชนสามารถดูแลพื้นที่ที่เป็นสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้านได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งทางภาครัฐมากนัก เพราะปัจจุบันเราก็มีปัญหากับทางภาครัฐ เขาก็ยังไม่สนับสนุนเต็มที่ และเราก็ยังไม่กล้าเข้าพื้นที่ตรงนั้น เพราะอาจจะผิดกฎหมาย แต่บางทีมันก็เป็นหน้าที่ของเราที่เราจะต้องดูแลป่า แต่ด้วยความที่เป็นรัฐทำให้เราไม่สามารถดูแลอะไรได้มากเท่าที่ควร

ภาพอาเซียนในความคิดกับของจริงต่างกันไหม
ต่างกันมากเลยครับ (ยิ้ม) เหมือนกับผมทำงาน ก็คิดว่าเป็นงานค่อนข้างที่จะหลากหลายแล้ว แต่พอมาที่เวทีนี้มันมีความหลากหลายมากขึ้นไปอีก สมมติเราจะพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม มันก็ไม่ได้มีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ยังเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สิทธิ และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ก็ทำให้เราได้รู้เรื่องสถานการณ์ปัจจุบันว่าเราได้รู้อะไรบ้าง มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งค่อนข้างจำเป็นที่เยาวชนจะหันมาให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้ เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรา

แต่ถามว่า ปัจจุบันนี้เยาวชนสนใจเรื่องนี้ไหม ผมว่าไม่ค่อยสนใจนะ อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิ่งแวดล้อม มันเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนก็รู้กันอยู่ว่ามันเป็นเรื่องของเรา จะต้องรักษาสิทธิมนุษยชน ต้องรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงเขาก็ไม่ได้สนใจเรื่องนี้มากนัก แค่รู้ว่าจะต้องดูแลแต่ก็ไม่ได้ลงมือทำจริงๆ ซึ่งแตกต่างกับเพื่อนๆ ในอาเซียนที่เขาก็ทำงานกันจริงๆ

อาจเป็นเพราะหลายๆ เรื่องเยาวชนยังมองไม่ออกหรือเปล่า
ใช่ครับ อย่างเรื่องสิทธิเด็กก็ทำให้มันเป็นรูปธรรม ค่อนข้างยากเหมือนกัน

จริงๆ แล้ว เยาวชนสามารถมีบทบาทกับอาเซียนยังไงได้บ้าง
ผมมองว่าเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนยังไงก็ต้องมีบทบาทกับอาเซียนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะมีเยาวชนสักเท่าไหร่ที่อยากจะเข้ามามีบทบาทกับอาเซียน ถึงแม้ว่าตอนนี้พื้นที่ของอาเซียนจะยังไม่ได้เปิดพื้นที่สำหรับเยาวชนมากนัก แต่ก็มีบางส่วนที่อยากเข้ามาทำงานในอาเซียน คล้ายๆ กับเป็นตัวแทนของเพื่อนๆ เยาวชน บางคนอาจจะไม่ได้รู้เรื่องมากนัก แต่เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเผยแพร่ หรือเป็นกระบอกเสียงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมที่พวกเราอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งเราก็ไม่ได้หวังว่ารัฐบาลจะต้องมาดูแลให้ดีพร้อม เพียงแต่ว่าให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขได้ กลายเป็นสังคมที่มีความสุขมากกว่าเดิม แล้วก็ปัญหาต่างๆ ลดลง

อยากบอกอะไรกับอาเซียน
ผมสนใจเรื่องของความหลากหลาสยที่เกิดขึ้นในสังคม ในภูมิภาคอาเซียนเรามีอะไรที่แตกต่างกันเยอะ แม้ว่าทุกวันนี้อาเซียนกำลังพยายามชูความเป็นหนึ่งเดียว แต่ก็ต้องไม่ลืมความหลากหลายทางวิถีชีวิต วัฒนธรรม อยากให้มีการหาทางออกสำหรับจุดร่วมเพื่อยึดโยงความหลากหลายที่มีอยู่ให้เข้ากันว่าจะอยู่ตรงไหน

จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 ตุลาคม 2552 โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish