สามชาย ศรีสันต์

 

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวประเทศเนปาล นำไปสู่การระดมทุนช่วยเหลือของพี่น้องชาวไทยผ่านสื่อต่างๆ  โดยการตั้งกองทุน รับเงินและสิ่งของบริจาคหลากหลายกองทุน หลากหลายกลุ่มองค์กร ต่างเสนอตัวเป็นคนกลางระดมความช่วยเหลือด้วยรูปแบบวิธีการจูงใจเพื่อให้ประชาชนมาบริจาคเงินกับกลุ่มองค์กรของตน แต่ที่น่าสนใจและกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เมื่อหนังสือพิมพ์ ลงข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยว  “มีแนวคิดจะหารือกับบริษัททัวร์ วางแผนจัดโปรแกรมท่องเที่ยวประเทศเนปาล ให้เป็นรูปแบบกิจกรรมการทำประโยชน์ต่อสังคม (ซีเอสอาร์) พร้อมขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทย มาเข้าร่วมโปรแกรมทัวร์   เพื่อร่วมช่วยเหลือชาวเนปาลที่ประสบปัญหาวิกฤตภัยธรรมชาติครั้งใหญ่”

 

ปัจจุบันการไปท่องเที่ยวและทำงานอาสาสมัครไปด้วยนี้เรียกว่า  ทัวร์อาสาสมัคร (voluntourism or volunteer tourism)  สิ่งที่อาสาสมัครจะได้รับนอกจากการค้นพบตัวเองแล้ว ยังสร้างความภาคภูมิใจจากการได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก มีงานวิจัยพบว่าอาสาสมัครเหล่านี้เมื่อกลับมาจากการเป็นอาสาสมัครแล้วพวกเขาและเธอจะมีความมั่นใจในตัวเองสูงขึ้น มีมุมมองต่อสังคมที่แตกต่างออกไป และมีทักษะทางสังคมเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

 

การทัวร์อาสาสมัครได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน  โดยเฉพาะประเทศไทย เกิดหน่วยงานในรูปแบบองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมาก รับสมัครอาสาสมัครไปทำงานระยะสั้น ทั้งไปกลับในวันเดียว และไปพักค้างในพื้นที่ชนบท อาทิ อาสาสมัครปลูกป่า  ทำฝายกั้นน้ำ  ปลูกป่าชายเลน ทำปะการังเทียม  ล่องเรือปลูกต้นลำพู หรืองานง่ายๆอย่างเก็บขยะชายหาดชะอำ เก็บขยะน้ำตกนางรอง  รายการกิจกรรมเหล่านี้สามารถค้นหาได้ในเว็บไซต์ โดยมีกิจกรรมให้เลือกทุกวัน  แต่กิจกรรมเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการไปท่องเที่ยวมากกว่าที่จะหวังผลการทำงานอาสาสมัคร

 

ยังมีงานอาสาสมัครอีกประเภทที่เป็นเป็นอาสาสมัครไปทำงานกับคน เข้าไปช่วยเหลือ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้รับบริการ ซึ่งมีลักษณะที่เปราะบาง (vulnerability) เช่น ผู้ป่วย เด็กเล็ก คนชรา ผู้พิการ  คนยากจน ตลอดจนผู้ที่ประสบกับภัยพิบัติ การเข้าไปทำงานอาสาสมัครในลักษณะนี้แม้จะไม่ได้ไปเที่ยวชมดูความงามของธรรมชาติ ดังเช่นการทัวร์อาสาสมัคร แต่การเข้าไปปฏิบัติงานในลักษณะที่ขาดทักษะ ความชำนาญ และไม่ได้คาดหวังต่อผลงานการให้ความช่วยเหลือจริงจัง แต่อ้างการเข้ามาศึกษาเรียนรู้ แสดงความเห็นอกเห็นใจ แบบฉาบฉวย เสนอความช่วยเหลือโดยไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลก่อน และจากไปในเวลาอันรวดเร็ว

 

การทำงานอาสาสมัครในลักษณะนี้ไม่ต่างจากการเข้าไปท่องเที่ยว เยี่ยมชมความอดอยากขาดแคลน โดยหยิบยื่นความช่วยเหลือตามแต่ผู้เป็นอาสาสมัครอยากจะยัดเยียดให้ เป็นการทัวร์ความยากจน (poverty tourism)  ที่เคลือบทาด้วยข้ออ้างอาสาสมัครช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ เป็นอาสาสมัครเที่ยวชมความยากจน (volunteer poorism)

 

 

ภาพจาก www.newsweek.com/2013/11/01/slumming-it-243866.html

 

การทัวร์ความยากจนได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ มีการจัดทริปพานักท่องเที่ยวเข้าไปเดินเยี่ยมชมในชุมชนแออัด เพื่อดูวิถีชีวิตของชาวชุมชน สถานที่ซึ่งเป็นที่นิยมระดับโลกของการทัวร์ความยากจนนี้ได้แก่เมือง มุมไบ (Mumbai) ประเทศอินเดีย เมือง รีโอเดจาเนโร (Rio De Janeiro) ประเทศบราซิล  ส่วนในประเทศแอฟริกาใต้ เรียกว่า “township tour” ซึ่งเป็นย่านที่อาศัยของคนยากจนผิวดำ

 

เว็บไซต์บริการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งประกาศเชิญชวน นำท่านเยี่ยมชมสลัมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียชื่อว่า ดาราวี   (Dharavi) ตั้งอยู่ในเมืองมุมไบ ข้อความเชิญชวนระบุว่า

 

“ผู้เข้าชมทัวร์ของเราจะได้สัมผัสกับความหลากหลายของกิจกรรม ทั้งเครื่องปั้นดินเผา งานเย็บปัก  ทำเบเกอรี่ สบู่ ฟอกหนัง เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ผลิตสิ่งของในพื้นที่ขนาดแคบๆ  …  การเดินผ่านตรอกซอกซอยแคบ ๆ ของ ดาราวี  เสมือนเป็นการผจญภัย  ที่จะทำให้คุณปลดปล่อยความรู้สึกให้ได้รู้แจ้งถึงวัตถุประสงค์และความมุ่งมั่นที่มีอยู่ในสลัมแห่งนี้”

ภาพจาก http://www.unearththeworld.com/

 

นอกจากการเยี่ยมชมความยากจนจะได้รับความนิยมแล้ว การพักค้าง และใช้ชีวิตแบบคนยากจนก็กลายเป็นการรสนิยมการบริโภคแบบหนึ่ง โรงแรมในประเทศแอฟริกาใต้แห่งหนึ่งจัดบรรยากาศห้องพักสำหรับลูกค้าที่มาพักให้มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจน ทำห้องพักและห้องครัวด้วยสังกะสี มีห้องน้ำที่แยกออกมาจากห้องพักเหมือนบ้านในชนบทที่ห้องน้ำแยกออกจากตัวบ้าน   ห้องพักตกแต่งด้วยวัสดุ อุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้ของคนยากจนในสลัม  ทางโรงแรมโฆษณาว่าห้องน้ำเป็นส้วมหลุมแบบที่คนยากจนใช้  แต่ในห้องพักเติมเต็มด้วยเครื่องอำนวยความสะดวก ทั้งเครื่องทำความร้อนติดตั้งใต้พื้นห้อง สัญญาณอินเทอร์เนท เครื่องทำน้ำร้อน  ห้องพักมีความปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับเด็กๆ  “ประสบการณ์เต็มรูปแบบแอฟริกาที่คุณจะไม่มีวันลืม”

 

ในสหรัฐอเมริกาเกิดกระแสความนิยม การบริโภคเลียนแบบคนยากจน เรียกกระแสนี้ว่าความจนที่ดูเท่ (poor chic) ได้แก่ความนิยม ชื่นชอบ ในวัฒนธรรมถูกผลิตสร้างขึ้นโดยใช้สัญลักษณ์ของชนชั้นล่าง ดังเช่น กรรมกร ชาวนา คนไร้บ้าน เช่นการใส่เสื้อผ้าเก่าขาด  กางเกงยีนส์ที่มีรอยปะ สีซีด การใช้รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์เก่า การสัก การใช้ของมือสอง เป็นต้น

ภาพจาก http://www.emoya.co.za

 

ในประเทศไทยการบริโภคได้ย้อนกลับไปหาอดีตเป็นกระแส  “เรโทร” รถเก่า การตกแต่งห้อง ภาพถ่าย เรื่อยไปจนถึงการบริโภคของเก่าโบราณ  กาแฟโบราณ ขนมโบราณ น้ำอัดลมโบราณ จนถึงตลาดโบราณ 100 ปี  ความเก่าโบราณกับความยากจนมีส่วนเกี่ยวข้องกัน คนยากจนมักจะใช้ของเก่าชำรุด ไม่ทันสมัย เพราะไม่มีเงินซื้อใหม่ หรือต้องใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด  เมื่อผู้มีฐานะร่ำรวยบริโภคความเก่า ล้าสมัย และทรุดโทรม ย่อมไม่ใช่พฤติกรรมที่ปราศจากเหตุผล แต่หมายถึงความสามารถเข้าควบคุม ครอบครองความยากจนไว้ได้ เพราะการบริโภคหมายถึงการเป็นเจ้าของ สามารถ สัมผัส จัดวาง ตลอดจนกระทำใดๆ ต่อสิ่งที่ซื้อหามาเป็นเจ้าของ  การบริโภคเป็นการแสดงอำนาจที่เหนือกว่าสิ่งของที่ถูกบริโภค  ทั้งยังสร้างอัตลักษณ์ให้เห็นถึงความดิบเถื่อน  สามารถเผชิญกับความยากลำบาก ซึ่งต้องใช้ทักษะความสามารถพิเศษจึงจะสามารถควบคุมและใช้งานสิ่งของที่คนยากจนใช้ได้ ช่วยทำให้ผู้มีฐานะสามารถประกาศว่าตนเองก็มีทักษะการใช้กำลังแรงกายได้ไม่ต่างจากคนยากจน   แต่ในทางปฏิบัติการดูแลรักษาสิ่งของเครื่องใช้วัตถุโบราณเหล่านี้ ล้วนใช้เงินซื้อบริการจากผู้ชำนาญการเฉพาะ

 

การบริโภคความยากจนยังสะท้อนรสนิยมและความรู้ที่เหนือกว่า เพราะเหตุผลของการบริโภคสิ่งของที่แทบจะหาประโยชน์ไม่ได้ ย่อมต้องเป็นเหตุผลที่เป็นนามธรรม เป็นเรื่องคุณธรรม สำนึกเชิงคุณค่าระดับสูง แน่นอนว่าเป็นคำอธิบายที่คนทั่วไปไม่สามารถจะอธิบายหรือเข้าใจได้นอกจากคนมีเงิน

 

ในอีกด้านหนึ่งการเข้าครอบครองความยากจนด้วยการบริโภค เกิดจากความวิตกกังวลของคนรวย ชนชั้นกลางที่ไม่ต้องการให้เกิดช่องว่างระหว่างความรวยกับความยากจนมากจนเกินไป เพราะรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็มีสำนึกในภาระรับผิดชอบที่จะต้องให้ความช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า การบริโภคนอกจากจะสร้างความมั่นใจในการมีอำนาจควบคุมแล้ว ยังลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างความรวยกับความยากจนในการรับรู้ของสังคมด้วย เพราะทำให้ความร่ำรวยมั่งคั่ง กับความยากจนอดอยากพร่าเลือนลง  ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาหรือส่งเสริมสถานะความร่ำรวย จากการใช้สินค้าที่ไม่สมเหตุสมผล มีค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษาสูง แต่ประสิทธิภาพต่ำ เป็นการสูญเสียทั้งเวลาและต้นทุน การสูญเปล่านี้ยิ่งมากก็ยิ่งสะท้อนความร่ำรวย

 

ขณะที่การบริโภคความยากจนในสังคมไทย  ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้คือ การทำงานจิตอาสาช่วยคนยากจน กลุ่มเปราะบาง เป็นการใช้ต้นทุนด้านเงิน เวลา และกำลังกาย โดยไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหาคนยากจนได้จริงจัง หากเปรียบกับการเล่นรถเก่าโบราณก็เป็นการกระทำที่ใช้ต้นทุนการดูแลรักษาสูง แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลเป็นจริงเป็นจังนัก คือไม่สามารถทำความเร็วได้ ไม่เหมาะกับการขับในสภาพจราจรคับคั่งติดขัด หรือสามารถใช้งานได้ปกติในชีวิตประจำวัน

 

แต่การที่จิตอาสา ในปัจจุบันถูกยกชูจากสังคมให้มีมูลค่าเกินจริง เป็นการสร้างมูลค่า ที่อาจกล่าวได้ว่า “เรียกเก็บค่าเช่า” จากความยากจน คือเมื่อแสดงการกระทำที่เข้าข่ายจิตอาสาก็สามารถยกสถานะความเป็นคนดีได้ในเวลาอันรวดเร็ว ได้ท่องเที่ยวในราคาถูก เข้าไปได้ลึกและมองเห็นได้มากกว่า ทั้งได้แสดงอำนาจเหนือในฐานะผู้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ

 

แม้จิตอาสาทำให้ช่องว่างระหว่างคนยากจนกับคนรวยขยับใกล้กันยิ่งขึ้น แต่เป็นการใกล้กันเพียงเสี้ยวเวลาของการทำกิจกรรม ความเลอะเทอะจากโคลนตมในกิจกรรมปลูกป่าชายเลน หรือกิจกรรมดำนา  เสื้อผ้าที่เปรอะเปื้อนในกิจกรรมทาสี หรือทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ เหล่านี้ทำให้ความเหนื่อยยากขาดแคลนของคนยากจนพร่าเลือน และกลายเป็นสิ่งสนุกสนาน  ดังเช่นฟอร์เวิดเมล์  ที่ชื่อว่า “ใครรวยกว่า” เริ่มเรื่องเล่าว่า  มีมหาเศรษฐีต้องการสอนให้ลูกชายรู้จักการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากสังคมที่ตนเองอยู่ จึงส่งลูกชายไปพักค้างอยู่กับครอบครัวชาวนาเพียงลำพัง ลูกชายเมื่อได้สัมผัสกับชีวิตชาวนาก็เปรียบเทียบกับชีวิตของตัวเอง ชีวิตชาวนาที่ยากลำบาก ข้นแค้น กลายเป็นความสนุกสนาน และเปี่ยมสุข

 

“ ชาวนามีที่ทำงานเป็นท้องนาที่กว้างใหญ่  ในขณะที่พ่อมีเพียงห้องสี่เหลี่ยมที่ว่ากว้าง แต่ก็ยังน้อยกว่าท้องทำงานของชาวนา อาหารที่ชาวนารับประทาน สามารถหาได้ตลอดเวลารอบๆ บริเวณบ้านโดยไม่ต้องซื้อหา  ในขณะที่บ้านของเรามีตู้เย็นเท่านั้นที่เป็นที่เก็บอาหาร  ชาวนามีแสงดาวแสงจันทร์เป็นโคมไฟส่องสว่างตลอดเวลาในเวลากลางคืน โดยไม่ขาดแคลน แต่เขามีเพียงแสงจากโคมไฟที่ต้องซื้อด้วยเงิน..”

 

และสรุปว่า ชาวนาร่ำรวยกว่าเรามากมายนัก

 

ในหลายกรณีการทำงานจิตอาสาท่องเที่ยวเยี่ยมชมความยากจนยังล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ก้าวล่วงสิทธิในร่างกายของผู้ที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ การเข้าไปทำกิจกรรม จัดให้เข้าแถวรับของบริจาค  เดินเยี่ยมบ้านเข้าถึงห้องครัว ห้องนอน จับคนเร่ร่อนอาบน้ำ สระผม มีลักษณะของการเข้าไปสอดส่อง ปลดเปลือยความยากจนสู่สาธารณะ ผ่านสายตา ภาพถ่าย และเรื่องราวที่เล่าผ่านสื่อสาธารณะ โดยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง แต่ได้ผลิตซ้ำการลดทอนคุณค่าในความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ เป็นการจ้องมองผู้อื่นในพื้นที่ส่วนตัว เอาผลประโยชน์จากความอ่อนแอ สร้างความอับอาย หวาดกลัว การกระทำเหล่านี้ใช้สิทธิอำนาจของการเป็นอาสาสมัครเข้าไปลุกล้ำในพื้นที่ส่วนตัว   ซึ่งปัญหาของการถ้ำมองที่ตามคือ การขายภาพถ่าย หรือเก็บภาพที่พบเห็นมาเปิดเผยสู่สาธารณะ ทั้งนี้ไม่เพียงแต่กิจกรรมจิตอาสาแต่รวมถึงการทำวิจัย และการเขียนข่าวผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ รวมทั้งกิจกรรมศึกษาดูงานด้วย

 

ทัวร์อาสาสมัคร มักจะไปเยี่ยมชมกลุ่มพิเศษที่แตกต่าง เป็นกลุ่มสุดขั้วจากกรณีปกติ ทั้งในด้านลบและด้านบวก โดยเฉพาะในด้านบวกแล้ว กิจกรรมทัวร์อาสาสมัครได้ปิดบังสภาพความทุกข์ยากขาดแคลน เปิดให้เห็นเพียงด้านดีงาม ประสบผลสำเร็จ ดังเช่น การเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ ขณะที่ในกรณีสุดขั้วของด้านลบก็ได้สร้างให้เกิดการเหมารวม (stereotype) ภาพด้านลบให้แก่กลุ่มคนที่ไปเยี่ยม มีหลายกรณีที่คนหนุ่มสาวเก็บเรื่องราว พฤติกรรมเชิงชู้สาวของคนยากจน คนชราในสถานสงเคราะห์ที่ได้ไปพบเห็นมาเล่าด้วยความตลกขบขัน

 

หมู่คณะที่เข้าไปเยี่ยมชมในหลายกรณีได้กันแยกชาวบ้าน สมาชิกชุมชน ออกจากกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวัน ถูกเกณฑ์มาทำหน้าที่ สวมแสดงบทบาท ที่ตรงใจกับสิ่งที่อาสาสมัครผู้มาเยี่ยมชมคาดหวังว่าจะได้ชม

 

การยกชูอาสาสมัคร ภายใต้กระแสที่เรียกว่า “จิตอาสา” มากจนเกินไปในสังคมไทย ในทำนองว่าเขาและเธอเหล่านี้คือผู้เสียสละ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นปัญหาสำคัญมากที่ทำให้การทำงานอาสาสมัคร กลายเป็นเรื่องฉาบฉวย และไม่รับผิดชอบในการกระทำที่ตามมา (responsibility) จิตอาสากลายเป็นเรื่องสนุกสนาน ท่องเที่ยว เยี่ยมชม และสอดส่องถ้ำมอง (voyeurism) ความแปลกประหลาดของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งยังใช้สถานะที่เหนือกว่าเข้าไปจัดกระทำกับชีวิตอันเป็นปกติของผู้ที่เปราะบาง  ยิ่งในปัจจุบันเกิดองค์กรที่ทำหน้าที่สื่อกลางรวบรวมคนหนุ่มสาวจิตอาสาเข้าไปทำกิจกรรม ทั้งในรูปแบบองค์กรพัฒนาเอกชน  สถานศึกษา รวมทั้งธุรกิจเอกชน และหน่วยราชการ ก็ยิ่งทำให้อาสาสมัครที่มากับองค์กรเหล่านั้นได้รับสิทธิอำนาจ มีสถานภาพพิเศษในการเข้าไปเยี่ยมชม ตรวจตรา และลงมือทำงานอาสาสมัครที่มักละเลยความรับผิดชอบ และจบลงด้วยการถ่ายรูปเซลฟี่ โพสสเตตัสในเฟสบุ๊ค แล้วก็ผ่านเลยไปบางครั้งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่เราไปทำกิจกรรมอาสาสมัครด้วยเป็นใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เคยถูกกระทำ และไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร

 

การเป็นอาสาสมัครจึงไม่ใช่ใครก็ได้ที่มีจิตใจอยากจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ มีเงิน เวลา และพลังงานเหลือที่จะแบ่งปันให้กับผู้อื่น เพราะการเป็นอาสาสมัครไม่ได้เสียสละ และเป็นฝ่ายให้โดยไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทนดังที่เข้าใจ แต่เป็นการทำกิจกรรมแบบหนึ่งของมนุษย์ เป็นกิจกรรมที่สร้างความสุขให้กับผู้เป็นอาสาสมัคร และได้ประโยชน์จากการมีสถานะเป็นอาสาสมัคร  อาสาสมัครจึงต้องตระหนักในเรื่องนี้ และกระทำด้วยความระมัดระวังว่า จะไม่ไปสร้างความทุกข์ หรือซ้ำเติมให้เจ็บปวดทุกข์ยากมากไปกว่าเดิม ทัวร์อาสาสมัครเยี่ยมชมความยากจนขาดแคลนทั้งหลายจึงควรตระหนักและระมัดระวัง

 

1. ไม่ทำให้กิจกรรมอาสาสมัครไปปกปิดความไม่เท่าเทียมกัน การรัดเอาเปรียบ การถูกกระทำในเชิงโครงสร้าง โดยลดทอนให้กลายเป็นเรื่องความสนุกสนาน  เป็นความแปลก ที่น่าตลกขบขัน

 

2. เรียนรู้ ศึกษา ข้อมูล จากผู้มีประสบการณ์ในงานอาสาสมัครที่เข้าไปทำ เพื่อจะได้ไม่สร้างความเสียหาย หรือซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่ออาสาสมัครออกจากพื้นที่

 

3. ใส่ใจกับสิทธิของชนพื้นเมือง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ การยอมรับการมีอยู่ของวัฒนธรรมที่แตกต่าง และเคารพในสิทธิร่วม (group rights)  ของชุมชนที่เข้าไปเยี่ยมชมอย่างเคร่งครัด

 

4. เปิดมุมมองให้กว้าง อย่ามองโลกทางเดียวว่า เราเป็นผู้มาช่วยเหลือชุมชน มองให้เห็นถึงโครงสร้างใหญ่ของสังคม และนโยบายทางการเมืองที่สร้างปัญหา  รวมทั้งระลึกไว้เสมอว่ากิจกรรมจิตอาสาไม่ใช่เดียงสา ใสซื่อ โลกสวย อย่างที่เข้าใจ แต่ล้วนมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากกิจกรรมนั้น

 

5. ไม่ตัดสินพฤติกรรมของคนที่เราพบเห็นว่า เป็นพฤติกรรมของคนกลุ่มนั้นทั้งหมด

 

6. ปัญหาสังคมมีความซับซ้อนกว่าที่มองเห็น อย่านำความเชื่อ คำสั่งสอนผิดๆ ที่ขาดความเข้าใจของหน่วยงาน องค์กร ไปตัดสินคุณค่าของคนยากจน ดังเช่น ความเชื่อที่ว่า คนยากจน เครียดเลยต้องกินเหล้า เล่นการพนัน

 

7. คนทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง สามารถกำหนดนิยาม และเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง การเป็นอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือคือการตัดสินไปแล้วว่า คนที่เราไปช่วยเหลือตกอยู่ในภาวะลำบาก และต้องการความช่วยเหลือจากเรา ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ได้ต้องการ หรือมีความต้องการแตกต่างจากสิ่งที่อาสาสมัครหยิบยื่นให้  แต่อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถปฏิเสธได้

 

ที่สำคัญมากคือการทำงานอาสาสมัคร ด้วยความรับผิดชอบในผลจากการกระทำ เพราะอาสาสมัครได้รับสิทธิพิเศษ และได้รับสถานภาพที่สังคมยกย่อง ให้คุณค่า ทั้งยังใช้สิทธิพิเศษนั้นในการจัดกระทำต่อชีวิตประจำวันของผู้อื่น และใช้เป็นส่วนหนึ่งในการอ้างอิงสร้างความก้าวหน้าให้กับตนเอง

 

ยิ่งสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนวิชาว่าด้วย อาสาสมัคร จิตอาสา ที่ส่งนักศึกษาหรือบัณฑิตไปทำงานอาสาสมัคร ด้วยแล้วยิ่งควรจะตระหนักให้มากว่า นักศึกษานอกจากจะไปเรียนรู้และเก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์ ยกสถานะจากประชาชนให้กลายเป็นพลเมืองดีแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยเหลือลดปัญหาให้บรรเทาเบาบางลงได้มากนัก  การรับเข้าสำหรับผู้ที่จะเป็นอาสาสมัครจึงไม่ใช่แค่เพียงมีเงิน มีเวลา และมีใจ หรือต้องการเพียงในเชิงปริมาณ  เพราะมิฉะนั้นองค์กรอาสาสมัคร จิตอาสาทั้งหลาย ก็เป็นองค์กรค้ากำไรทางสังคมโดยการเก็บค่าเช่าจากคนที่อ่อนแอกว่าด้วยการจัดกิจกรรมอาสาสมัครเรียกหาลูกค้าให้เข้ามาทัวร์ความยากจน

 

 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน  ปัจจุบัน สามชาย ศรีสันต์ เป็นนักวิชาการอยู่ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Cr.http://www.prachatai.org/journal/2015/05/59169

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish