“พืชผักอินทรีย์ที่น้องอาสาสมัครปลูกยังไม่งาม แต่ความรักและความสุขจากการได้กลับไปอยู่บ้านเกิดค่อยๆ งอกงามขึ้นแล้ว”
พี่ติ๊บ กรรณิกา ควรขจร มีโอกาสได้ลงพื้นที่และบอกเล่าความคืบหน้าจากโครงการอาสามหาวิทยาลัย ซึ่งมอส. ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดทำขึ้น และเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการร่วมสร้างสังคมจิตอาสาปี 3
เมื่อวันที่ 13-14 มกราคม 2558 ได้มีการติดตามอาสาสมัคร 4 คน ที่อยู่ในพื้นที่ อำเภออมก๋อย และ 2 คนในพื้นที่อำเภอแม่วาง หลังจากกลับไปอยู่ในพื้นที่ตนเองนาน 7 เดือน โดยในระยะนี้อาสาสมัครมีภารกิจที่จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในพื้นที่ของตนเอง นอกจากทีมงานซึ่งมีอาจารย์ ม.แม่โจ้ วิทยากรจาก The Network และเจ้าหน้าที่โครงการฯ แล้ว การติดตามครั้งนี้ยังมีอาสาสมัครในพื้นที่ อ.กัลยาณิวัฒนา, อ.สะเมิง จ.ลำปาง และจากเมืองเชียงใหม่ 5 คน ร่วมเรียนรู้และให้กำลังใจแก่กัน
อาสาสมัคร 3 คน ในบ้านยางเปา อ.อมก๋อย ได้พัฒนาแปลงผักอินทรีย์ และมีแนวโน้มจะพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินพัฒนาแปลงเกษตรอินทรีย์และที่พัก ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเรียนรู้เรื่องผักอินทรีย์ อาสาสมัครอีก 1 คน ทำสวนอินทรีย์ปลูกพืชหลายอย่าง และสนใจที่จะทำน้ำตาลจากอ้อย โดยใช้เครื่องหีบอ้อยโบราณที่พัฒนาโดยชาวบ้านในท้องถิ่น
เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงเมื่อกลับมาอยู่ในชุมชน ได้รับคำตอบว่าชาวบ้านและองค์กรส่วนท้องถิ่นยอมรับบทบาทของอาสาสมัคร ชาวบ้านมาขอซื้อผักในแปลง และทำให้รายจ่ายลดไปได้จาก 5,000 บาทต่อเดือนเหลือเพียง 2 ถึง 3,000 บาท และที่สำคัญคือ ความสุขตอนนี้สุขล้นเหลือ ได้กลับบ้าน พ่อแม่ดีใจ ครอบครัวก็มีความสุข คิดว่ามาถูกทางที่จะต้องพัฒนาตนเอง พร้อมกับร่วมดูแลและพัฒนาชุมชนไปด้วยกัน
กาแฟ Lepato (เลพาทอ) คือ ชื่อกาแฟอินทรีย์ที่อาสาสมัคร กลุ่มคนในชุมชน ในพื้นที่บ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง และนักพัฒนากลุ่มหนึ่ง ได้ร่วมกันพัฒนามาระดับหนึ่ง และจะพัฒนาต่อให้มีการจัดการที่ดี ทั้งการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยมุ่งให้ผู้บริโภคเข้าใจแนวคิดว่า การผลิตกาแฟนี้มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ การอนุรักษ์ป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ ซึ่งชาวบ้านได้ทำการอนุรักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่น กำไรที่ได้จากการขายกาแฟส่วนหนึ่ง ก็นำไปสู่กองทุนรักษาป่าของชุมชน นอกจากกาแฟแล้วก็ยังมีข้าวพันธุ์พื้นเมือง ลูกพลับ อโวคาโด ออกผลตามฤดูกาล ซึ่งก็ต้องมีการจัดการในระบบกลุ่ม การสร้างงานในพื้นที่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งให้คนหนุ่มสาวได้กลับมาบ้าน และร่วมพัฒนาท้องถิ่นไปด้วยกัน อันเป็นความฝันของพวกเขา
การเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคมซึ่งมีวาระ 1 ปีนี้ มุ่งหวังให้พวกเขาจดจ่อกับการสร้างตนเอง สร้างชุมชน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า สามารถสร้างสุขไปพร้อมกันได้อย่างดี พวกเขาเหล่านี้แหละจะเป็นคำตอบของการพัฒนาชนบทในอนาคต
กาแฟผลิตเอง คั่วเองของอาสาสมัครในพื้นที่ อ.แม่วิน จ.เชียงใหม่
แปลงผักอินทรีย์ของ (ผู้หญิง 3 คน) อาสาสมัครที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่