(ด้านล่างสุดมีลิงค์ สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการคนรุ่นใหม่ฯ)

ห้องเรียนที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิตการเรียนรู้คือการได้มีโอกาสเข้าร่วม “โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” กับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.)  เริ่มแรกที่ได้เข้าร่วมในโครงการนี้ผมรู้สึกเฉยๆมากอาจเป็นเพราะความคิดที่ว่าเราเคยเข้าร่วมกิจกรรมหรือผ่านการร่วม/ทำโครงการมาหลายโครงการ ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้มามากพอ และโครงการนี้ก็คงไม่ต่างกันเท่าไรนัก

แต่เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมในเวทีแรกก็ทำให้รู้สึกประหลาดใจมาก อย่างแรกคือผู้เข้าร่วมที่ได้พบเจอและรู้จักกัน ต้องบอกว่ามีความหลากหลายมาก ทั้งคนที่ทำงานพัฒนา  งานด้านเด็ก งานชุมชน  นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว  นักศึกษา และเด็กแก๊ง ซึ่งทำให้ผมตื่นเต้นและตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะไปต่อในทิศทางไหน  โครงการนี้จัดขึ้นโดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือที่นักกิจกรรมเรียกกันสั้นๆว่า มอส. โดยได้รับงบสนับสนุนจาก สสส.  ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้สังคม และพัฒนาศักยภาพของตัวเอง โดยมีระยะเวลาหนึ่งปี จะแบ่งเป็น 6 โมดูล และแต่ละโมดูลเราก็จะได้เรียนรู้ประเด็นทางสังคม และพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปตามแผนส่วนหนึ่งที่ทางทีมผู้จัด แต่สิ่งที่เราอยากเรียนรู้นั้นเราสามารถนำเสนอร่วมกันเพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันตามที่ผู้เข้าร่วมต้องการ ถือว่าเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ก้าวหน้าและสร้างการมีส่วนร่วมได้มาก

ผมคิดว่าเวทีนี้เปิดพื้นที่ทางความคิดให้สำหรับทุกๆคนเสมอ บนฐานความแตกต่างหลากหลาย ที่มา ทัศนคติ ความเชื่อ ในช่วงแรกแม้เราจะจูนแนวคิดเข้าหากันได้ยากหน่อย แต่กระบวนการที่ มอส. ชวนให้เราคิดและทำร่วมกัน มันทำให้เกิดพื้นที่ของการแสดงตัวตนของตัวเอง และยอมรับในความคิดของคนอื่นมากขึ้น ซึ่งเขาไม่ได้ชวนให้พวกเราต้องคิดไปในทิศทางเดียวกันหรือต้องเข้าใจอะไรเหมือนกัน แต่จะทำให้ทุกคนเข้าใจในความแตกต่างของกันและกันได้อย่างไรและมองเห็นปัญหาที่มันกำลังเกิดขึ้นในสังคมอย่างไร อย่างกิจกรรมที่ทำให้เราได้เริ่มเรียนรู้ร่วมกัน เช่น กระบวนการละครในโมดูลที่หนึ่ง ซึ่งวิทยากรคือพี่ก๋วย จากกลุ่มมะขามป้อม พี่ก๋วยชวนให้เรากว่า 40 ชีวิตเรียนรู้การทำละคร คิดบทและแสดงละคร ซึ่งผมคิดว่าหลายคนคงตั้งคำถามเหมือนผมว่า “ทำไมต้องเรียนรู้เรื่องการทำละคร มันเกี่ยวอะไรกันกับพวกเรา”

แต่หลังจากได้รับโจทย์และเริ่มทำกระบวนการไปเรื่อยๆเราก็ค่อยๆได้คำตอบ ด้วยกระบวนการที่ทำให้เราได้เริ่มแลกเปลี่ยนแนวคิดกัน ซึ่งนี่เป็นหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้เราได้เริ่มพูดคุย แลกเปลี่ยนและถกเถียงกัน  การพูดคุยแลกเปลี่ยนหรือการถกเถียงกันทางความคิดดูเหมือนจะเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือการยอมรับฟังซึ่งกันและกันด้วยเหตุผล เพราะแม้กระทั่งเรื่องที่ sensitive หรือเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกที่สุดในสังคมไทยก็มีการนำมาพูดคุยกัน ถึงแม้วันนั้นจะทำให้เสียงแตกแบ่งฝักฝ่ายกัน มีบางคนเดินออกไปจากวงเพราะรับไม่ได้กับการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดความเชื่อที่เขาเชื่อมั่นมาตลอดว่ามันถูกต้องที่สุดแล้ว ในขณะที่สังคมภายนอกแทบที่จะไม่สามารถพูดคุยกันได้เลยในหลายเรื่องที่เป็นประเด็นอ่อนไหว การศึกษากระแสหลักไม่เคยเปิดพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาที่แท้จริงของสังคม การถูกเอาเปรียบของชาวบ้าน หรือแม้แต่การกระทำของรัฐที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน อย่างกรณีการต่อสู้ของชาวบ้านเรื่องเหมืองแร่ทองคำที่เมืองเลย มันทำให้เรารับรู้และมองเห็นว่า “มีเรื่องแบบนี้อยู่จริงๆในสังคมบ้านเรา ชาวบ้านเดือดร้องจริงๆนะ เพื่อนของเราที่อยู่ในขบวนคนรุ่นใหม่นี้ก็กำลังต่อสู้เรียกร้องสิทธิเรื่องทรัพยากรร่วมกันกับชาวบ้านในตอนนี้”

มาถึงวันนี้ซึ่งโครงการที่ผมเข้าร่วมได้ผ่านไปแล้วเรียบร้อย แต่พวกเราก็ยังมีสายใยเชื่อมโยงกันอยู่ ทั้งเพื่อนรุ่น 1 และเพื่อนรุ่น 2  เรามองเห็นเพื่อนของเราทำงานในประเด็นต่างๆ อยู่ทั่วประเทศ ได้มีโอกาสกลับมาพบเจอ พูดคุยแลกเปลี่ยนกันบ้างตามวาระและโอกาส ในยามที่เราต้องการกำลังคนเพื่อร่วมกันสร้างพลังหรือการสื่อสารบางอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม พวกเราทุกคนก็พร้อมที่จะลุกขึ้นมาช่วยเหลือและเป็นกำลังให้กันและกัน

ที่ผ่านมากระบวนการไม่ได้สร้างให้ผมและเพื่อนๆได้เรียนรู้สังคมอย่างเพียงเดียว แต่มันได้สร้างเพื่อน สร้างมิตรภาพระหว่างกัน เรามองกันด้วยความไว้วางใจและทำให้เชื่อมั่นในสิ่งที่เพื่อนคิดกำลังทำอยู่ในทุกๆมุมของสังคม มันคือการสร้างการเปลี่ยนแปลง โครงการคนรุ่นใหม่ฯ มันไม่ใช่ห้องเรียนสำเร็จรูปที่จะทำให้ใครที่ผ่านกระบวนการนี้แล้วออกมาเป็นพระเจ้าและเข้าใจสังคมเลย แต่ผมคิดว่ามันคือพื้นที่กว้างๆที่ทำให้คนที่มีความคิดแตกต่างหลากหลายได้มาเจอกัน แลกเปลี่ยนถกเถียงกัน และในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้และได้สัมผัสปัญหาจริงผ่านการลงพื้นที่ มีผู้รู้มาคอยเติมเต็มแนวคิดให้ สำหรับผมมันทำให้ผมได้พัฒนาตัวเอง มองโลกที่กว้างขึ้น พบเจอและรู้จักเพื่อนมากขึ้น เข้าใจความซับช้อนของสังคมได้ชัดเจนขึ้น  ถ้าเป็นไปได้ผมคิดว่าการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้ควรมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการพัฒนาคนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา แหล่งทุนและผู้ที่ทำงานด้านการพัฒนาคนควรทำความเข้าใจและเห็นความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน เพราะมันเป็นห้องเรียนชีวิต เป็นห้องเรียนของคนรุ่นใหม่ที่จะไขว่คว้าประสบการณ์จริงเพื่อจะนำไปพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น

ท้ายที่สุดผมอยากฝากและอยากชวนผู้นำเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สนใจพื้นที่เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพตัวเอง มาติดปีกแล้วโบยบินไปด้วยกัน มาร่วมเดินทางไปบนเส้นทาง “คนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” ตอนนี้กำลังเปิดรับสมัครคนมีไฟ รุ่น 3 ส่งใบสมัครมาได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 17 พฤศจิกายน 2560 ครับ ดูรายละเอียดได้ที่เพจ คนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มอส. , เพจ  มอส-Thai volunteer service หรือ www.thaivolunteer.org แล้วคุณจะพบความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต แล้วเจอกันครับ

———————————————
จักรินทร์ ศิริมงคล / คนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่น 1 : เขียน
เมธสิงห์ : เรียบเรียง

———————————————
คลิ๊ก : สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ฯ รุ่น  3

 

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish