“จิตวิญญาณของพวกเราจะกลับคืนมา หากมีการทำงานเพื่อสันติภาพ สื่อสันติภาพมันอาจขายไม่ได้ในวันนี้ แต่พลังของมันจะยังอยู่…….มาร่วมกันสร้างสื่อนอกกระแส เพื่อประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้ ที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพในอนาคต”
สุนทรียะสนทนาของคนหนุ่ม ถึงวิถีทางสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคม ระหว่าง เทวา พวงบุตร คนรุ่นใหม่ผู้รักการอ่าน กับวิทยากร โสวัตร นักเขียนรางวัลนายอินทร์อวอร์ด และเจ้าของร้านหนังสืออิสระฟิลาเดเฟีย แหล่งชุมนุมนักฝัน และบ้านหลังที่สองของคนรักหนังสือ
ฟิลาเดเฟีย ร้านหนังสือเล็กๆ ร้านหนึ่งริมถนนสถลมาร์ค – เดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เปิดไปสีส้มส่องแสงนวลล่อแมลงตัวเล็กตัวน้อย ร้านหนังสือที่สร้างขึ้นจากความฝันของคนรัก ที่อยากให้มีร้านหนังสือให้นักอ่านได้นั่งอ่านสบายๆ บรรยากาศยามเย็นริมทุ่งนาอากาศเย็นสดชื่น แหนงมองฟ้ามีแสงดาวน้อยใหญ่ระยิบระยับท่ามกลางอากาศเย็นช่วงฤดูหนาว ผู้เขียนเดินเท้ามาถึงร้านหนังสือแห่งนี้เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักเขียนท่านหนึ่งที่ประจำอยู่ที่ร้าน
คุณวิทยากร โสวัตร จากนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา ด้วยความชอบการอ่านและงานเขียน บัดนี้กลายมาเป็นนักเขียนที่หลายคนอาจรู้จักในนามเจ้าของผลงาน “ฆาตกร” เรื่องสั้นรางวัลยอดเยี่ยม นายอินทร์อะวอร์ด พ.ศ.2552 จากการสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับงานเขียนเพื่อสันติภาพในสังคม กับวิทยากร โสวัตร ณ ร้านหนังสือฟิลาเดเฟีย ได้แง่คิดเกี่ยวกับงานเขียนเพื่อสันติภาพที่น่าสนใจ
*เทวา พวงบุตร[ซ้าย] ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียง และวิทยากร โสวัตร นักเขียนและศิลปินผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาว
ถาม: พลังของงานเขียนในสังคมปัจจุบันเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับบริบทสังคมอดีตย้อนหลังไป 10 – 20 ปี หรือมากกว่านั้น?
ครั้งหนึ่งงานเขียนเคยเป็นพลังทางสังคมชั้นนำ อย่างน้อยก็เป็นตัวบันเทิงคดีชั้นนำ ช่วงยุคหลังสมัยรัชกาลที่ 6 (ยุคก่อนการปฏิวัติ 2475) จนถึงหลังการปฏิวัติ ช่วงระยะเวลาในอดีตไม่มีสื่ออย่างอื่นนอกจากงานเขียน ถ้าย้อนกลับไปจะเห็นว่าในช่วงนั้นมีงานหนังสือประโลมย์โลกมากมาย
ในช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์งานเขียนถูกลดบทบาทลง นักเขียนที่เขียนงานเพื่อสันติภาพหลายคนเลิกเขียนงานที่มีพลังเปลี่ยนแปลงสังคม เหลือแต่งานที่เป็นงานตอบสนองความบันเทิง และยุคหลังมีสื่ออื่นมาเอาเวลาคนในสังคมไป เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เป็นสื่อบันเทิง ทำให้คนที่เคยเสพหนังสือมีจำนวนลดน้อยลง (โดยส่วนตัวก็ยังคงชอบอ่านหนังสือที่เป็นเล่มมาก) เด็กในยุคนี้อาจจะชอบอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็ว่าเขาผิดไม่ได้
อิทธิพลของหนังสือมันน้อยลง แต่ก็ยังไม่สิ้นหวัง เพียงแค่ปรากฏการณ์มันน้อยลง ถ้าจะมองว่าหนังสือคือการสื่อสาร การเขียนคือการสื่อสาร มันก็ไม่ได้มีอิทธิพลกับสังคมมาก เป็นการสื่อสารสิ่งที่คิดผ่านตัวหนังสือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสื่อสารเท่านั้น แต่ข้อดีของการเขียนหนังสือ คือ ทำให้สิ่งที่คิดให้ถูกบันทึกไว้เป็นเล่ม เมื่อมีคนหนึ่งคนใดนำไปเปิดอ่าน (ถ้าโชคดี) คนที่เอาไปอ่านได้ซึมซับสิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนั้นแล้วเกิดแรงบันดาลใจบางอย่าง ลุกขึ้นมาสร้างอะไรที่เป็นคุณงามความดี อะไรที่เป็นคุณค่าแก่สังคม พลังจากหนังสือจะเกิดขึ้น และหนังสือบางเล่มในปัจจุบันเป็นหนังสือที่มีอายุหลายร้อยปียังคงมีให้เห็น
ถาม: พลังของงานเขียนกับการสร้างองค์ความรู้ ทัศนคติของคนในสังคมสำคัญอย่างไร?
งานเขียนมีหลายประเภท มีทั้งงานเขียนประเภทประโลมย์โลก มีทั้งงานเขียนประเภทกระดาษเปื้อนฝุ่น มีทั้งงานเขียนที่สร้างสรรค์ มันอยู่ที่ว่าคนเขียนจะเขียนมาในรูปแบบไหน แต่เงื่อนไขของคนเขียนนั้นก็มีอยู่หลายเงื่อนไข เช่น ผมเป็นคนเขียนหนังสือคุณภาพมากมันอาจจะขายไม่ได้ บางทีอาจต้องทำหนังสือที่ลดคุณภาพลงมาเพื่อให้ตลาดกว้างขึ้น จะเห็นได้ว่าสิ่งที่มีในงานเขียนนั้น มีทั้งเรื่องอุดมคติ สิ่งที่เราเชื่อมั่น นี่คือบ่อเกิดแห่งการสร้างสรรค์ และการเลี้ยงตัวเอง ต้องถามว่าเราจะสร้างมาตรฐานเราไว้จุดไหน เราจะทำอย่างไร
ถ้าคนไทยมีรสนิยมการอ่านหนังสือ เราอาจไม่ต้องลำบากเปิดร้านหนังสือ เพียงเขียนงานคุณภาพแค่ชิ้นเดียวก็อยู่ได้ พอพูดถึงงานเขียนก็ต้องพูดถึงคนอ่านด้วยว่าเขาชอบแบบไหน เมื่อได้ยินคำว่า “งานเขียนตลาด” ฟังดูคล้ายๆ เป็นการเหยียดหยามคนเขียน เพราะทุกวันนี้มันมีหนังสือประโลมโลกทั่วไป เรื่องรักๆ ใคร่ๆ และประเภทเลยเถิดสื่อภาพหยาบๆ มากมาย (ไม่ใช่คำหยาบแต่หมายถึงฉากอีโรติกที่ไม่สวย) งานเขียนที่ไม่งามเหล่านี้มีอยู่เกลื่อนในแผงขายหนังสือ
ถ้าพูดถึงงานเขียนนอกจากเราจะเรียกร้องกับนักเขียนแล้วนั้น สังคมควรเรียกร้องกับนักอ่านด้วย จึงเป็นโจทย์ว่าจะสร้างงานอย่างไรสำหรับนักเขียนที่มีคุณภาพ กับนักอ่านที่มีคุณภาพพร้อมกัน
ถาม: การเขียนเพื่อการสร้างสันติภาพในสังคมไทยสามารถสร้างได้หรือไม่ อย่างไร?
ค่อนข้างลำบาก เพราะนักเขียนมีการแบ่งฝ่าย เช่น การพูดถึงตนเองมักมีการนิยามตัวเองเป็นแดง-เหลือง แยกฝ่ายชัดเจน ทำให้เกิดความลำบากเมื่อต้องการสร้างสันติภาพ (ในปรากฏการณ์สังคมตอนนี้) นักเขียนส่วนใหญ่มีเจตจำนงอิสระในการคิด การเขียน แต่ในบางครั้งเมื่องานเขียนไม่เหมือนกับแนวคิดของฝ่ายหนึ่งก็เกิดการดันให้ไปเป็นอีกฝ่ายตรงข้าม ที่สำคัญปรากฏการณ์รูปธรรมหากพูดถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจ มีการรับการสนับสนุนจากทุน บริษัทห้างร้านต้องอิงกับองค์กรอื่นๆ ในสังคม อาจเป็นจ้าว ทหาร นักการเมือง มหาวิทยาลัย ฯลฯ ไม่มีองค์กรไหนที่ไม่อิงกับสถาบันหลัก
นอกจากนี้ เวทีของการประกวด/ ประชัน มีการแบ่งฝ่าย ทำให้เกิดการชิงพื้นที่กัน ส่วนหนึ่งมีนักเขียนบางกลุ่มที่แสดงตัวชัดเจนในกลุ่มทางการเมือง บางกลุ่มไม่ได้เข้าร่วมเวทีม็อบแต่ก็มีแนวคิดแบบนั้น (ซึ่งแบบนี้ก็ปล่อยเขาไป) และมีอีกกลุ่มที่บอกตัวเองว่าเป็นกลางไม่ร่วมกับเวทีไหน แต่ก็เขียนงานที่เป็นการสะใจเมื่อเห็นอีกฝ่ายล้มตาย ทำเหมือนคนตายไม่ใช่คน เป็นกลุ่มที่มีผลประโยชน์ลับๆ และในสังคมยังมีนักเขียนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีเจตจำนงเสรีพร้อมที่จะเขียนงานเพื่อการสร้างสันติภาพ สร้างงานที่มีเหตุมีผล มีหลักมีเกณฑ์ มีความลึกซึ้ง ไม่ด่าคนอื่นเสียหายแบบไม่มีหลักเกณฑ์ เขาเหล่านี้คือเป็นความหวังในการสร้างสันติภาพที่แท้จริง
ถาม: จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สร้างงานเขียนเพื่อสันติภาพในสังคม?
การสร้างสื่อสันติภาพเป็นเรื่องลำบาก องค์กรที่ทำงานเพื่อสันติภาพก็มี แต่บางทีมีการทำงานเป็นงานแบบแยกส่วน มีการสร้างสรรค์สังคม สร้างสรรค์ความดีงาม แต่การทำงานเป็นไปในลักษณะเป็นแบ่งส่วนไป แม้แต่สถาบันการศึกษาก็มีเงื่อนงำ การทำงานเพื่อสร้างสันติภาพจึงเป็นเรื่องที่ลำบาก เหมือนกับเรากำลังศรัทธาพระองค์หนึ่ง แต่สำหรับพระองค์อื่นเราไม่สนใจ การทำแบบนี้มันใช้ไม่ได้ มันสร้างสันติภาพไม่ได้ มีแต่จะทำให้เกิดการแตกแยก
จิตวิญญาณของพวกเรามนุษย์จะกลับคืนมา หากมีการทำงานเพื่อสันติภาพ สื่อสันติภาพมันอาจนอนรอให้คนมาอ่าน มันอาจขายไม่ได้ในวันนี้แต่พลังมันจะอยู่ โดยส่วนตัวในฐานะนักเขียนมีความมั่นใจ (ย้ำมั่นใจ)
ถาม: การพัฒนาให้นักเขียนรุ่นใหม่เป็นนักเขียนสันติภาพได้ต้องทำอย่างไร?
เอาแค่เป็นนักอ่านที่ดีก็ยากแล้ว จะเป็นนักเขียนต้องอ่านก่อน อย่าเป็นนักเขียนโดยที่ไม่อ่านหนังสือเลย อยากเป็นนักเขียนต้องสร้างนิสัยการอ่านให้ตัวเอง ตื่นเช้ามานั่งอ่านหนังสือทุกวัน (ทำให้เป็นนิสัย) เคยเห็นไหมหนังสือในร้านทั่วไปมีมากมาย แต่ในร้านมีสักกี่เล่มที่มีคุณภาพสำหรับผู้อ่าน และหนังสือหลายเล่มที่คนในสังคมอ่านมันเป็นลักษณะที่ไม่มีคุณค่าในการนำมาสร้างสันติภาพ (ไม่ได้ดูถูกนะ) ถ้าเรายังอ่านหนังสือน้อยเราจะเอาความรู้อะไรไปพูดกับคนที่เข้าอ่านหนังสือมากที่เขาอายุเท่ากัน
ฉะนั้น เราต้องสร้างการอ่านให้มากขึ้น การเปิดร้านหนังสือลักษณะนี้จะเป็นช่องทางที่ทำให้คนเดินเข้ามาอ่านหนังสือในร้านได้ทุกเล่ม นักเขียนไม่ใช่ว่าจะเป็นคนเขียนอย่างเดียว “โอ้! คุณอย่ามากวนผม” ใช้ชีวิตอยู่อีกโลกหนึ่ง เราต้องช่วยกันสร้างสังคมแห่งการอ่านขึ้น เมื่อเราอ่านหนังสือคุณภาพ 1 เล่ม แล้วนำสิ่งที่ได้ไปเล่าให้คนรักฟัง เล่าให้คนใกล้ชิดฟัง จากคนใกล้ชิดก็จะทำให้เกิดการขยายต่อ หากฝันจะเป็นนักเขียนต้องเริ่มจากการอ่าน นี่คือพื้นฐานที่จะนำไปสู่การสร้างพื้นฐานประชาธิปไตยหรือสันติภาพได้ (โดยส่วนตัวหวังอย่างนี้)
พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อพูดถึงงานเขียนกับสันติภาพ คิดถึงคำพูดของเพลโตสามคำ ความดี ความงาม ความจริง งานเขียนมันต้องมีทั้งสามส่วน ถ้าเริ่มจากการเขียนความจริงมันจะทำให้เกิดความงาม ส่วนมันจะดีหรือไม่นั้น คงไม่มีนักเขียนคนใดที่อยากให้งานตนเองเลว พื้นฐานความจริงเป็นสัจจะที่สำคัญ”
—————————————————————————————
เป็นที่น่าสนใจว่า งานเขียนเพื่อสันติภาพในอดีตมีกระแสตื่นตัวเป็นอย่างดี แต่เมื่อรูปแบบการเมืองการปกครองของผู้นำประเทศเปลี่ยนไป การให้ความสำคัญกับงานเขียนเพื่อสันติภาพก็ลดลง รวมถึงสื่ออื่นเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น ทำให้ความนิยมที่มีต่อหนังสือเล่มลดลง มีงานเขียนหลายเล่มในอดีตไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่ในปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง พลังของงานเขียนเพื่อสันติภาพไม่ค่อยได้รับความนิยมในสังคมมากนัก เมื่อเทียบกับงานเขียนตามกระแสที่คนในสังคมต้องการ
งานเขียนเป็นเพียงสื่อหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการสร้างสันติภาพในสังคมเท่านั้น การสร้างสันติภาพด้วยงานเขียนเป็นเรื่องยาก แต่งานลักษณะนี้ยังจำเป็นกับสังคม นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพต้องพยายามสร้างงานเขียนในลักษณะนี้ต่อไป แม้จะสู้กระแสนิยมงานเขียนประเภทอื่นไม่ได้ แต่การบันทึกความคิดลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างมีเหตุผล จะเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพในสังคมต่อไป