IMG_9083

กฤษณา พาลีรักษ์ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพ และพลังบริสุทธิ์ของคนรุ่นใหม่ในการก้าวเข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือมอส.จัดทำโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้น เพื่อพัฒนาต่อยอดศักยภาพแกนนำเยาวชน ที่มีต้นทุนประสบการณ์จากฐานงานพัฒนามาแล้วในระดับหนึ่ง ไปสู่วุฒิภาวะของการเป็นผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) นอกเหนือจากโครงการอาสาสมัครเต็มเวลาและอาสาสมัครนอกเวลาที่มูลนิธิฯทำอยู่

โครงการนี้ริเริ่มมาจากแนวคิดของนักกิจกรรมทางสังคมกลุ่มหนึ่ง มีคุณป้าทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาเป็นที่ปรึกษาสำคัญ ด้วยต่างฝ่ายต่างเล็งเห็นปัญหาและรู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์คนรุ่นใหม่ภายใต้บริบทอันซับซ้อนของสังคม จึงพยายามคิดค้นกระบวนการเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวได้เข้ามาเรียนรู้ปัญหา โดยเน้นการเคารพความแตกต่างหลากหลายที่ดำรงอยู่จริงในสังคมปัจจุบันเป็นพื้นฐาน โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ หรือสสส.

พี่กระแต-สุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการมอส.บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ค่อนข้างท้าทายชุดประสบการณ์ขององค์กรที่ทำงานเสริมสร้างศักยภาพคนหนุ่มสาวมายาวนานถึง 35 ปี แต่มุ่งเน้นทำงานกับเฉพาะกลุ่มที่มีประสบการณ์ใกล้เคียง และมีความสนใจเฉพาะทาง อย่างอาสาสมัครนักพัฒนาสังคม อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน และอาสาสมัครครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการคนรุ่นใหม่ฯตรงที่ โครงการนี้ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ไม่จำกัดสถานะหรือเนื้องานที่ทำอยู่ ขอแค่มีใจเต็มร้อยอยากเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้หนุ่มสาวที่สมัครเข้ามาร่วม มีที่มาที่แตกต่างทั้งเบ้าหลอมการเลี้ยงดู การศึกษา ทัศนคติ ความเชื่อ กระทั่งความใฝ่ฝัน

166060_415437141820170_939792062_n

ที่ผ่านมามอส.เปิดรับใบสมัครทั้งทางตรง และผ่านองค์กรภาคีที่เคยร่วมงานหรือรู้เนื้องานกันมาก่อน เพื่อส่งน้องในองค์กรเข้าร่วม น้องในรุ่นที่ 1 [เมษา 2555-สิงหาคม 2556] จำนวนกว่า 41 คน มีทั้งผู้ที่เคยเป็นผู้ต้องขังคดีอาญาร้ายแรง มีน้องที่เรียนจบแค่ชั้นประถม 6 ในขณะที่บางคนเรียนจบปริญญาโท บางกลุ่มเป็นนักกิจกรรมทางสังคมที่ค่อนข้างคมเข้มทางความคิด ซึ่งเรียกตัวเองว่านักปฏิวัติ มีกลุ่มนักปฏิรูปหรือน้องๆ ที่มาจากสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งจุดยืนทางการเมืองต่างกันคนละขั้ว รวมทั้งน้องบางกลุ่มที่มีฐานการทำงานอยู่ในชุมชนของตนเอง หรือเติบโตมาจากฐานงานจัดตั้งของเอ็นจีโอ ซึ่งเส้นทางการเติบโตและความสนใจที่แตกต่างเหล่านี้ แม้จะเป็นจุดเด่นราวกับจำลองสังคมจริงเอามาไว้ในกระบวนการเรียนรู้ แต่ก็เต็มไปด้วยความท้าทายว่า กระบวนการ 1 ปีของมอส.จะหล่อหลอมให้พวกเขามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่แม้จะแตกต่างแต่ไม่แตกแยก หรือเป็นนักปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองและเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร?

“ในรุ่นแรกเราทำงานท่ามกลางความไม่มั่นใจตลอดเวลา ทำให้เราเห็นว่าเราไม่ได้เก่งไปทุกเรื่อง เกิดการคิดหารูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เรียนรู้ไปกับน้องด้วย และนำมาสู่การต่อยอดความคิด นี่คือสิ่งสำคัญ หนึ่งปีที่ผ่านมาเราได้พลังเยอะ เพราะหากเราเชื่อว่าน้องมีความต่าง กระบวนการเรียนรู้ก็ต้องต่าง และตรงจริตของคนรุ่นใหม่มากที่สุด”

พี่เอ๋-ศิริพร ฉายเพร็ช ผู้ประสานงานโครงการฯเล่ารายละเอียดว่า ภายใต้วาระการทำงาน 1 ปี 6 เดือน มอส.แบ่งเนื้อหาการเรียนรู้ออกเป็น 6 โมดุล คือ การเข้าใจตนเอง เข้าใจสังคม การปรับสมดุล การสื่อสารสาธารณะ การเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน และการถอดบทเรียนการเรียนรู้ บวกรวมกระบวนการติดตามในพื้นที่ และหนุนเสริมในระดับภาคอย่างต่อเนื่อง พอครบวาระรุ่น 1 มีน้องที่อยู่จนจบกระบวนการทั้งสิ้น 38 คน จากตอนแรกอยากออกจากกระบวนการทั้งหมด

“กระบวนการที่มีเพื่อนหลายแบบมาก ดีคะ ชอบ เราเป็นเด็กเรียน เพื่อนก็คล้ายกัน เป็นเด็กเรียน และเรียนหนังสือ สภาพสังคมก็คล้ายกัน มีไซโคกันเอง มันก็เห็นดีเห็นงามกันเอง พอมาเปลี่ยนสังคม มาเจอคนคิดต่าง เราก็ทบทวนตัวเอง เออเราคิดแบบนี้โอเคไหม มันก็อาจจะโอเคทั้งคู่ก็ได้นะ เราก็ถูกเขาก็ถูก แต่เราก็ได้อีกมุมมองหนึ่ง เออมองแบบนี้ก็ได้เหมือนกันนะ”

กชกร ความเจริญ หรือน้องบิ้ว น้องคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงรุ่น 2 เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ปี 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เติบโตมากับความรู้และความสนใจเฉพาะในแวดวงวิทยาศาสตร์ แต่ยืนยันว่า “ทุกอาชีพต้องมีความรู้สึกเพื่อสังคม” บอกเล่าถึงความรู้สึกต่อการเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งช่วยเปิดพื้นที่ให้เห็นข้อเท็จจริง เทียบเคียงและเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางสังคม ซึ่งนับวันความขัดแย้งจะยิ่งขยายวงกว้างจนยากจะหาจุดร่วม คำถามว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย เป็นวาระที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งคนรุ่นใหม่ในโครงการฯให้ความสำคัญ

IMG_930

16-17 พฤษภาคมที่ผ่านมา มอส.ได้จัดงานปฐมนิเทศคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 2 [พฤษภาคม 2557-สิงหาคม 2558] ขึ้น ณ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จ.กาญจนบุรี มีน้องที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ 40 คน และประเด็นเรื่องความแตกต่างหลากหลาย ยังเป็นเรื่องท้าทายทั้งของผู้เข้าร่วมและคนทำงาน แต่องค์ความรู้ที่มอส.ได้รับจากการทำงานกับน้องรุ่นแรก ย่อมเป็นเครื่องชูใจว่า การทำงานกับน้องรุ่นต่อไปจะไม่ยากนัก

“น่าจะเป็นเรื่องการจุดประเด็นหรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับผมสักอย่าง เพื่อจะได้ไปทำงานต่อ หรือมีแรงกระตุ้นเรื่องประเด็นในการทำงานกับกลุ่มคนพิการอื่นๆ หรือกลุ่มเด็กเยาวชนอื่นๆ อยากให้เด็กและเยาวชนที่เป็นคนพิการได้มาเข้ากระบวนการแบบนี้ มาพบเพื่อนจากที่ต่างๆ มันช่วยเสริมเรื่องจิตใจของคนพิการว่า เราก็มาได้ เราก็ทำได้”

สุริยา สมศิลา หรือน้องปอ คนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงรุ่น 2 ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารและแบ่งปันเพื่อเด็กพิการ จากมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ และเป็นผู้พิการนั่งรถเข็นด้วยโรคสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวถูกทำลายมาแต่กำเนิด แต่จิตใจที่เข้มแข็งและพร้อมเรียนรู้ไม่ได้ถูกทำลายไปด้วย ยืนยันถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ซึ่งเน้นทั้งการเรียนรู้ตนเองผ่านการเรียนรู้ผู้อื่น และเรียนรู้สังคมในภาพกว้าง

IMG_9752

ภายใต้แนวคิดการทำงานของมอส.ซึ่งยึดฐานใจให้คนรุ่นใหม่มีสำนึกอาสาสมัคร จึงสร้างฐานที่เน้นการเรียนรู้ระหว่างเพื่อน เป็นแบบจำลองชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ข้ามเครือข่าย ข้ามประเด็นการทำงาน ข้ามภาค ข้ามเพศและวัย กระทั่งจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่าง นอกเหนือจากความมีใจอยากร่วมสร้างสิ่งดีๆ ในนามคนเล็กคนน้อย เพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่อุดมคติที่คนหนุ่มสาวทุกสมัยใฝ่ฝันหา ด้วยความหวังร่วมกันว่า ยังมีอีกโลกหนึ่งที่เป็นไปได้ และสักวันหนึ่งพวกเขาจะค้นพบ

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish