1-14โดย อาจารย์ วรงค์ วงศ์ลังกา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทุกๆ ครั้งที่ได้ลงพื้นที่เพื่อทำกิจกรรม และลองถามหลายๆ คนว่า รู้สึกอย่างไรกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม คำตอบที่ได้มักเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ การได้รับความรู้สึกที่ดีและความอิ่มเอมใจ แต่จากข้อสังเกตคนที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมส่วนใหญ่มักจะมีคนอื่นแนะนำและพามาทำ และลองถามต่อว่าทำไมไม่ออกไปพาคนอื่นทำกิจกรรมเพื่อสังคม คำตอบหนึ่งที่มักจะได้ยิน คือ “ไม่กล้า”  และมักจะถูกนำไปสรุปอันมาจากสาเหตุสำคัญว่า “ไม่ค่อยมีความเป็นผู้นำในการทำงาน”  แต่ในขณะที่หลายคนต้องรวบรวมความกล้าเพื่อจะออกหน้าเป็นผู้นำกิจกรรมนั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การมีสภาวะผู้ตามที่ดีก็สามารถสร้างกิจกรรมที่น่าชื่นชมได้มานักต่อนัก

และยังเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่หลังจากได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนหลายกลุ่มและหลายช่วงวัยพบว่า การที่พวกเขาเหล่านั้นไม่เป็นผู้เริ่มก่อการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากทำ ไม่ใช่เราขาดคนคิดดีหรือขาดคนใจดี กลับกันว่าคนเช่นนี้มีเยอะมาก แต่ปัญหาคือไม่รู้จะทำอะไร และไม่รู้จะทำอย่างไร เลยไม่รู้ว่าจะเป็นผู้นำคนอื่นเพื่อไปทำอะไร

เมื่อคิดไม่ออกว่าจะนำกิจกรรมได้อย่างไร ก็ลองเปลี่ยนมาคิดว่าจะเป็นผู้ตามที่ดีได้อย่างไรดูบ้าง?

สภาวะผู้ตามในที่นี้ คือ การเปิดใจให้กว้างและมองพื้นที่ที่เราจะลงไปทำกิจกรรมอย่างเป็นกลาง และมอบหน้าที่ให้สังคมบนพื้นที่นั้นเป็นตัวนำ แล้วเราจะพบว่าในทุกๆ สังคม ทุกๆ พื้นที่มีเรื่องราวมากมายให้เราได้ติดตาม ความเป็นกลางในการมองจะช่วยเผยให้เราเห็นปัญหาโดยไม่อ้างอิงถึงขนาดของมันว่า “เล็กหรือใหญ่” เช่น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การทิ้งน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง การลัดคิวซื้ออาหารกลางวัน หรือการแอบแปะหมากฝรั่งไว้ใต้โต๊ะเรียน ต่างเป็นปัญหาทั้งสิ้น และเมื่อเราพบปัญหา ลองใช้ความเป็นผู้ตาม ตามเข้าไปดูว่าปัญหานั้นมีที่มาอย่างไร เมื่อเห็นว่าอะไรเป็นต้นเหตุ ก็เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ที่เราจะนำมาใช้แก้ปัญหาต่อไป

ยกตัวอย่างกรณีหนึ่งในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาจะได้แบ่งกลุ่มทำงานกิจกรรมเพื่อสังคม มีกลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่ง อยากทำเรื่องเด็กกำพร้าในเชียงใหม่ แต่ติดปัญหาว่าไม่รู้จะทำอะไรกับเด็กกำพร้า และยังมีความคิดขัดแย้งนิดๆ ว่าสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าก็มีแรงสนับสนุนจากข้างนอกอยู่แล้ว ประกอบกับเด็กกำพร้าก็มีหลายคน สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าก็ไกลจากมหาวิทยาลัย จากคำถามที่เกิดขึ้นมากมาย คำแนะนำที่ได้ให้กับเด็กกลุ่มนั้นมีเพียงสั้นๆ คือเปิดใจให้กว้าง การที่เราตั้งปัญหาเพื่อทำกิจกรรมแล้วเกิดปัญหา มาจากการไม่ได้มองปัญหาที่เป็นปัญหา แต่เรามองปัญหาตามที่เราอยากจะทำ ลองเปลี่ยนมุมมองอย่างผู้ตาม ตั้งกรอบที่เราอยากทำไว้บางๆ และเฝ้ามองปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และพิจารณากิจกรรมที่เหมาะสมโดยยังใช้ประเด็นปัญหาความกำพร้านี้เป็นแนวคิด

ในพื้นที่มหาวิทยาลัยยังมีความกำพร้าแฝงอยู่มากมาย แต่ไม่เพียงกับมนุษย์ การเปิดใจให้ใจกว้างทำให้เราได้เห็นว่า สุนัข แมวที่อยู่ตามโรงอาหาร ต่างไม่ได้มีครอบครัว ไม่ได้มีเจ้าของ ความกำพร้าก็เกิดขึ้นได้ในสัตว์เหล่านั้นเช่นกัน คำถามต่อมาคือเราจะสามารถจัดกิจกรรมกับความกำพร้านี้อย่างไร และเด็กๆ ก็ค้นพบว่า ในเมื่อความกำพร้าคือการไร้เจ้าของ พวกเขาจึงชักชวนคนทุกๆ คนมาร่วมเป็นเจ้าของมัน โดยเด็กๆ กลุ่มนี้ได้ตามหาข้อมูลรายชื่อสุนัขแต่ละตัว ซึ่งพบอีกว่าบางตัวมีหลายชื่อ โดยจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับหมาแมวในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทางเชื่อมเล็กๆ ระหว่างโรงอาหารกลางกับอาคารเรียนรวม ภาพถ่ายของสุนัขและแมวราว 40 ภาพ ได้แสดงให้เห็นถึงความมีชีวิต และมีตัวตนของสัตว์กำพร้าเหล่านั้น และส่งผลให้เทศบาลนครเชียงใหม่ส่งสัตว์แพทย์เข้ามาดูแล ทำวัคซีนและคุมกำเนิดสุนัขและแมวเหล่านี้ในที่สุด

2-14

ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ และความคิดสร้างสรรค์ที่ดีต้องอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม โดยเหมาะสมกับสถานที่และพอดีกับแรงและเวลาของเราที่จะทำ ในการสร้างความคิดสร้างสรรค์เพื่อการแก้ปัญหาแบบผู้ตาม วิธีการหนึ่งคือการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ ศึกษาวิถีชีวิต รับรู้วิธีคิด สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ ภูมิปัญญา แนวคิด ความขัดแย้ง และความรื่นรมย์ที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ การลงไปรับรู้และเรียนรู้พื้นที่ที่เราจะทำกิจกรรม สามารถทำให้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งมิติ แต่ปัญหาที่เราได้ตั้งไว้แต่ต้นจะมีชีวิตและมีตัวตนของชุมชน หรือสังคมนั้นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงทำให้การทำกิจกรรมเพื่อสังคมนั้น ไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดกระบวนการที่มีชีวิตชีวาโดยมีบุคลิกของสังคมนั้นๆ ร่วมอยู่ด้วย

มีงานชิ้นหนึ่งในวิชาภูมิสถาปัตยกรรมประยุกต์ของนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 4 ที่ทุกคนมีหน้าที่ต้องไปออกแบบเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ชุมชนหลิ่งกอก ริมคลองแม่ข่าซึ่งสภาพที่เห็นในปัจจุบันเป็นเพียงที่ทิ้งน้ำเสียจากชุมชนซึ่งการออกแบบพื้นที่ริมคลองให้สวยงามตามรูปแบบภูมิสถาปัตยกรรมไม่ใช่เรื่องยากแต่สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ประจำวิชามอบหมายคือลงพื้นที่ไปสำรวจความจริง ความเป็นมา และเรื่องราวของคลองเล็กๆ สายนี้ รวมไปถึงการตามไปถามว่าชุมชนต้องการอะไรกับคลอง

จากข้อมูลเราพบว่า คลองแม่ข่าเป็นหนึ่งในชัยมงคล 7 ประการของเมืองเชียงใหม่ และการได้เข้าพบปะกับคุณพี่ คุณป้า และคุณลุงในชุมชนทำให้การออกแบบครั้งนี้จึงเป็นงานที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เพราะจากเส้นทางเลาะเลียบคลองปกติจะมีพื้นที่เพิ่มเติมเผื่อให้สำหรับปั่นจักรยาน เนื่องจากในชุมชนมีทีมจักรยานสมัครเล่นชื่อ “เสือหลิ่งกอก” การออกแบบสะพานข้ามน้ำที่เอื้อเฟื้อต่อการลงไปลอยกระทง รวมไปถึงที่นั่งริมน้ำที่มีความกว้างและความสูงที่ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้สูงอายุในชุมชน และนักศึกษากลุ่มนี้ได้เลือกให้มีต้นมะกอก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อชุมชนนี้ เข้ามาในพื้นที่ที่ปรับปรุงใหม่ สิ่งเหล่านี้คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์แก้ปัญหาภายใต้สภาวะการเป็นผู้ตาม ซึ่งทำให้งานแต่ละชิ้น และกิจกรรมแต่ละอย่าง เกิดจากพื้นที่และขับเคลื่อนไปตามความเป็นไปของพื้นที่เอง

3-15
นอกจากนี้แล้ว ในการทำกิจกรรมอาสาสมัคร มักจะต้องทำงานเป็นกลุ่ม เจอคนหลายคน และมักจะมีคนใหม่เข้ามาร่วมงานด้วย ในแต่ละพื้นที่ที่เข้าไปทำกิจกรรม การทำงานจึงมีสภาพเป็นกลุ่มที่ตั้งใหม่อยู่บ่อยๆ มีความจำเป็นมากที่จะต้องมีสมาชิกที่มีสภาวะการเป็นผู้ตามที่ดี เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาในการทำงานอาสาสมัครเป็นกลุ่มอย่างหนึ่งก็คือ การอาสาเข้ามาทำงานด้วยความตั้งใจ และด้วยความตั้งอกตั้งใจดังกล่าว อาจทำให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างเขม็งตึง และอาจก่อให้เกิดบรรยากาศของการมีผู้นำมากกว่าหนึ่งคน เหตุการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งจนต้องยุติหน้างานและมาปรับความเข้าใจ หรืออาจเลวร้ายจนถึงขั้นงานล่มในที่สุด ในขณะที่กลุ่มที่มีผู้ตามมากกว่าหนึ่งคนนั้น งานยังสามารถดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบได้ แต่สภาวะผู้ตามที่ดีไม่ใช่เพียงว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน แน่นอนว่างานอาสาสมัครประกอบด้วยคนจิตใจดี และทุกคนความปรารถนาดี แต่การเป็นผู้ตามแบบเลยตามเลยคงไม่ดีแน่ การมีสภาวะผู้ตามที่ดีจำเป็นจะต้องรับรู้ว่าตัวเองเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับกลุ่ม โดยศึกษาความต้องการของกลุ่ม แล้วปรับลักษณะตัวเองให้เข้ากับลักษณะที่กลุ่มต้องการ ช่วยให้กลุ่มเป็นกลุ่มที่ดี มีการถามไถ่เพื่อขอคำแนะนำและสร้างความสัมพันธ์ มีการสื่อสารกันรวมไปถึงการให้ทัศนะของตนเองตามความเป็นจริง

การดำเนินกิจกรรมอาสาสมัครภายใต้สภาวะผู้ตาม จึงอาจมองได้ว่าเป็นการทำกิจกรรมโดยการลดความเป็นตัวเองลงทั้งด้านมุมมองและด้านการปฏิบัติงาน การใช้รูปแบบการมองที่โอนอ่อน และกลมกลืนไปกับสภาพสังคม สภาพพื้นที่ และสภาพกลุ่มทำงาน การตามเข้าพื้นที่ไปรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้เราพบปัญหามากมาย จะช่วยให้คำตอบของการ “ไม่รู้จะทำอะไร” ส่วนการตามหาความสำคัญของปัญหาว่าหากละเลยแล้วจะเกิดผลเสียอย่างไร ช่วยตอบคำถามว่า “ทำไปทำไม” และการได้ตามเข้าไปรู้จักวิถีชีวิต กลุ่มคน ชุมชน ภูมิปัญญา จะเผยให้เห็นจุดเริ่มต้นของ “จะทำอย่างไร”

การมีสภาวะผู้ตามในกลุ่มทำงานจะเป็นการลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น กลับกันว่ามิตรภาพของการทำกิจกรรมจะเพิ่มพูนขึ้นภายในกลุ่ม ซึ่งจะนำไปสู่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่กลมกล่อมและพอเหมาะพอดี และผู้ทำก็จะพบกับสุนทรียภาพในการทำความดี และทำให้การอาสามาทำความดีเกิดขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

00000000

*หมายเหตุ บทความนี้ตีพิมพ์แล้วในหนังสือ “เส้นทางการเรียนรู้โลกและสังคมด้วยจิตอาสา” หนังสือประกอบงาน “มหกรรมจิตอาสาในสถาบันการศึกษา Education Volunteer Expo 2013-2014 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2557 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ในงานมีทั้งการสัมมนาในหัวข้อต่างๆเกี่ยวกับงานอาสาสมัคร นิทรรศการมากมายจากหลายองค์กร กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (work shop) ให้ร่วมสนุก และ เวทีวัฒนธรรม กิจกรรมการแสดง จากกลุ่ม องค์กร ต่างๆ จากประเทศไทย และประเทศในประชาคมอาเซียน

อ่านรายละเอียด และลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ http://www.volunteerspirit.org/volunteer/7516

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish