คดีสาธารณะ เรื่องการปกป้องบ้านเกิด ภูเขา แม่น้ำ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้คน 6 หมู่บ้านจากการทำเหมืองทองที่สร้างผลกระทบยาวนานนับ 10 ปี ด้วยการก่อสร้างกำแพงใจ 3 ครั้ง เป็นเหตุให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องชาวบ้าน 6 คดี ได้แก่ คดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท เลขที่คดีดำ 859/2556, คดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 70 ล้าน เลขที่คดีดำ 974/2556, คดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 150 ล้าน เลขที่คดีดำ 132/2557 และ คดีอาญา เลขที่คดีดำ 4217/2556, คดีอาญา เลขที่คดีดำ 4542/2556, คดีอาญา เลขที่คดีดำ อ 615/2557 รวมทั้ง คดีอาญาที่ตำรวจวังสะพุงฟ้องชาวบ้านอีก 22 ราย อีกหนึ่งคดี รวมเป็นคดีทั้งหมด 7 คดี จำนวนชาวบ้านที่ถูกฟ้องทั้งหมด 34 ราย (ฟ้องแพ่งคนตาย 1 ราย ถอนฟ้องคดีแพ่ง/อาญา 1 ราย)

การตั้งข้อหาชาวบ้าน 32 ราย อย่างน้อย 42 ข้อหา ชาวบ้านจะต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวอย่างน้อยที่สุด 7,560,000 บาท

29 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเลยประทับรับฟ้องคดีอาญา 2 คดี เลขที่คดีดำ 4217/2556 และ คดีอาญา เลขที่คดีดำ 4542/2556 คดีที่ถูกฟ้องจากการก่อสร้างกำแพงใจ ครั้งที่ 1 และการก่อสร้างกำแพงใจ ครั้งที่ 3 ส่งผลให้ นายสุรพันธุ์ รุจิไชยวัฒน์ (ถูกฟ้องสองคดี) นายสมัย ภักดิ์มี นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ นายเตียม ปีนา นายกองลัย ภักมี นายลำดวน ตองหว้าน นายเภ่า พรหมหาราช นางประนอม นามวงษ์ น.ส.ภัทราภรณ์ แก่งจำปา นางสุ่ม ศรีทอง นางพรทิพย์ หงชัย และนายธานิล ภักมี ชาวบ้านทั้ง 12 คน ต้องคดีตกเป็นผู้ต้องหา โดยมีเงินประกันตัวจากกองทุนยุติธรรมที่โอนมาให้ชาวบ้านสำหรับคดีแรกเพียง 5 ราย

ด้วยการดำเนินงานที่ล่าช้าของกองทุนยุติธรรม ทำให้ชาวบ้านที่เหลือต้องใช้ตำแหน่งราชการ แลโฉนดที่ดินค้ำประกันในการประกันตัว

14671255770_ff92692937_z

14671256120_a82c71863b_z

14857600292_0155d3f05c_z

14877821143_fd453d81d4_z
เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ชาวบ้านใน 6 หมู่บ้าน เริ่มปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้อีกครั้ง และตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2557 เป็นต้นมา ชาวบ้านได้ระดมกันนำโฉนดที่ดินและ น.ส.3 ของตนเองไปประเมินราคาที่กรมที่ดิน เพื่อเตรียมไว้ใช้เป็นกองทุนประกันตัวให้ชาวบ้านทั้งหมดที่โดนฟ้อง จากยอดค่าประกันตัวในคดีอาญาที่เหลือทั้งหมดซึ่งหากใช้เงินสดประกันตัว จะต้องใช้เงินคนละ 90,000 บาท ต่อความผิด 1 ข้อหา แต่หากใช้หลักทรัพย์จะต้องมีมูลค่า 180,000 บาท ต่อ 1 ความผิดข้อหา ต่อ 1 คน

ผ่านไปเพียงสองวัน ยอดรวมราคาประเมินที่ดินจากวันที่ 6 เป็นต้นมา มีชาวบ้านเอาโฉนดไปประเมินราคากว่า 70 ราย แม้ในแต่ละหมู่บ้านจะมีที่ดินที่มีโฉนดอยู่ไม่มาก เป็นที่ดินอยู่อาศัยในหุบเขา เป็นที่ดินเกษตรกรรมราคาแสนถูก แต่รวมๆ แล้ว โฉนดที่ดินที่ทุกคนนำมารวมกันก็มีมูลค่ารวมมากกว่า 10 ล้านบาทแล้ว ความสามัคคีรวมใจของชาวบ้านในครั้งนี้ ทำให้พวกเขาคลายกังวลในเรื่องคดีไปได้มาก เนื่องจากในวันที่ 22 ส.ค.2557 ที่จะถึงนี้ คดีอาญาข้อหาข่มขืนใจที่ตำรวจฟ้องชาวบ้าน 22 ราย อัยการจังหวัดเลยได้นัดหมายชาวบ้านเพื่อแจ้งผลว่า อัยการจะส่งสำนวนฟ้องต่อศาลหรือไม่

ในขณะช่วงเวลาเดียวกัน ความพยายามทุกรูปแบบในการขุดหลุมพรางล่อลวงเพื่อล้างผิดให้เหมืองทองสามารถเปิดดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างถูกต้องและชอบธรรม ท่ามกลางการต่อสู้ด้วยเสียงคัดค้านดังก้องของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน แต่กลไกอำนาจที่รัฐกับนายทุนได้จับมือร่วมกันออกแบบเป็นขั้นเป็นตอนไว้ก็ยังคงดึงดันเดินหน้าโกหกหลอกลวงชาวบ้านและสังคมต่อไปเรื่อยๆ

ความเข้มข้นทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากการจัดประชาคม 6 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2557 ที่ชาวบ้านมีมติเป็นเอกฉันท์ “ไม่ยอมรับ” คณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองทองทั้ง 4 ชุดที่ทหารได้ตั้งขึ้นเพียง 9 วันหลังจากยกกำลังพลนับร้อยเข้ามาปักหลักในหมู่บ้าน โดยทำเสมือนเป็นความลับสูงสุดที่ไม่สามารถบอกกล่าวกับชาวบ้านในพื้นที่ได้

“ไม่ยอมรับและไม่เข้าร่วม” ในการดำเนินงานใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการฯ ที่เป็นคู่กรณีกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง ทำให้การดำเนินงานใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการฯ ดังกล่าวไม่มีความชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น

รวมถึง “ไม่ยอมรับ” ในความไม่เป็นธรรมจากผลการศึกษาและตรวจสอบโดยคณะกรรมการฯ ที่ทยอยประกาศออกมาอย่างบิดเบือนข้อมูล เพื่อสร้างหลักฐานว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น แหล่งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน ตะกอนดินที่ยังมีค่าโลหะหนักเกินมาตรฐาน รวมถึงความเจ็บป่วยด้วยพิษสารโลหะหนักในเลือดของชาวบ้าน มีสาเหตุมาจากธรรมชาติของพื้นที่ที่เป็นแหล่งแร่ ไม่ใช้เพราะการทำเหมืองแร่ที่ขาดความรับผิดชอบ

ช่วงเวลาที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาตำบล รวมถึงนักศึกษาที่เข้ามาในหมู่บ้าน จึงถูกเรียกบ่อยครั้งด้วยคำสั่งให้ไปรายงานตัวแบบเรียงตัว ไม่เว้นแม้หญิงท้องแก่ที่มีกำหนดคลอดอีกไม่กี่วัน มีการนัดหมายให้ไปประชุม ชี้แจง แจ้งผลจากคณะกรรมการฯ ที่ชาวบ้านไม่ได้ยอมรับต่อการดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ต้องตั้งรับกับอำนาจและจิตวิทยาที่ถูกนำมาใช้คุกคามกดขี่ทุกทิศทาง และต้องขบคิดกับลายพรางปริศนาคำขู่ เช่น เลือกทางให้ถูกถ้าอยากอยู่กับลูกกับผัวต่อไป ถ้าไม่ยอมรับจะเจอใบแดง ไม่หยุดต่อต้าน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่รับประกันความปลอดภัย หัวแข็งทำผิดจะจับติดคุก ฯลฯ

พฤติกรรมเหล่านี้ที่นายใหญ่ทั้งหลายได้เริ่มปฏิบัติภารกิจมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ที่ชาวบ้านเพิ่งถูกซ้อม ถูกทุบตี ถูกขู่ฆ่ามาหมาดๆ จากการขนแร่ของบริษัททุ่งคำในคืนโหดวันที่ 15 พฤษภาทมิฬ โดยการกระทำของกองกำลังเถื่อนติดอาวุธที่บัญชาการโดยทหาร และมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐทุกฝ่ายในจังหวัดที่รับรู้แต่ทำเป็นเมินเฉย

อีกทั้ง ชาวบ้านยังคาดว่า เขาเหล่านั้นคงจะใช้ความรุนแรงกดขี่คุกคามชาวบ้านเพื่อให้ยอมจำนนต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเป้าหมายจะบรรลุ คือ ได้ขนแร่ของเหมืองทองที่เหลือออกไป ได้ฟอกตัวเปิดเหมืองใหม่อีกครั้งด้วยการรับประกันความถูกต้องจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งไม่นานนักก็คงจะมีการเดินหน้าขั้นตอนในการขยายพื้นที่ทำเหมืองออกไปในแปลงประทานบัตรบนภูเหล็ก และตำบลนาโป่ง

ความรู้สึกของชาวบ้าน ณ เวลานี้ มันตอกย้ำว่า ในพื้นที่การต่อสู้ของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านที่ปกป้องรักษาแผ่นดินเกิด ไม่เคยมีความยุติธรรม เพราะอำนาจไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง แดง กากี ลายพราง ล้วนถูกนำมาหลอมรวมร่วมกันด้วยความโลภกระหาย

ไม่ว่าจะแลกมาด้วยน้ำตา ความเจ็บปวด ความตายของชาวบ้านซักกี่คน ภูเขา ที่ดิน แม่น้ำ ธรรมชาติ ในสายตาของทุนทุกหน้า ทุกยุค ล้วนมองเห็นแค่ผลประโยชน์และกำไรจากการทำเหมืองแร่

ตลอดมารัฐบาลทุกรัฐบาลจึงใช้ข้ออ้าง การทำเหมืองแร่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นคำขาด นายทุนเหมืองทองก็อ้างว่า เหมืองทองเมืองเลยดำเนินการมาโดยรัฐบาลเชิญชวนให้มาลงทุน และรัฐบาลก็เป็นหุ้นส่วนในบริษัทฯมาตั้งแต่เริ่มแรก ส่วนหน่วยงานรัฐ เช่น กรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ ส.ป.ก. ป่าไม้ อุตสาหกรรมจังหวัด จังหวัด อบต. ก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ทุกฝ่ายล้วนได้ผลประโยชน์ทั้งทางตรง ทางอ้อม ทางลับ จากการทำเหมืองมาอย่างต่อเนื่อง

14671403687_df6205ab6b_z

14671328878_cd4a95be71_z

14671256120_a82c71863b_z

ล่าสุดสำหรับสถานการณ์ล่อลวงพรางอีกครั้งในวันนี้ (8 ส.ค. 57) คณะกรรมการ 4 ชุด ได้เปิดประชุมเพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้าน กับ นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของทุ่งคำ ได้เจรจาตกลงกัน

ผลย่อมเป็นที่ทุกฝ่ายคาดหมายไว้ก่อนหน้าแล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภา อบต. หรือชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ไม่ว่าใครก็ตามที่ไปเข้าร่วมประชุม ทุกคนจะยืนยันร่วมกันในทุกครั้งให้เหมืองทองถอนประทานบัตร ปิดกิจการ และย้ายโรงงาน-เครื่องจักรทุกอย่างออกไปจากพื้นที่ โดยมีประโยคสะท้อนใจที่กล่าวไว้ว่า “คืนความสุขของพวกเรามา”

ส่วนข้ออ้างจากฝ่ายเหมืองทองที่นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ได้กล่าวว่า เหมืองทองได้ลงทุนไปมากแล้ว เหมืองทองได้ทำเหมืองมาโดยถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ รวมไปถึงท่วงท่าและวาจาที่ข่มขู่ทุกครั้งว่าจะฟ้องคดีแกนนำชาวบ้านเพิ่ม และใช่คำว่า “ไม่” เป็นคำตอบเดียวต่อข้อเสนอ 6 ข้อของชาวบ้าน

ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งที่ชัดเจน ฝังลึก และแผ่ขยายพื้นที่ออกไปอย่างกว้างขวางโดยใช้เวลาหมักหมมมายาวนานขนาดนี้ การแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่ใครคิดว่าจะใช้อำนาจ ใช้คำสั่งการ ใช้กระบวนการขั้นตอนลวกๆ หยาบๆ ง่ายๆ คงต้องคิดใหม่ให้มาก และอาจจะถึงเวลาต้องเตรียมใจไว้ที่จะยอมรับความคิดเห็นและความต้องการของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ด้วยความจริงใจและความรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ที่เกิดขึ้น

วันนี้ ถ้อยคำจากหัวใจของชาวบ้านที่กำลังแผ่ขยายกว้างออกไปอย่างเข้มแข็งใน 6 หมู่บ้าน

“เราจะบันทึกประวัติศาสตร์ไปเรื่อยๆ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวบ้านที่รักษาแผ่นดินเกิด

“ชาวบ้านที่ยืนยันต่อสู้ด้วยลำแข้งของตัวเองจนถูกฟ้อง 7 คดี เรียกค่าเสียหาย 270 ล้านบาท

“ชาวบ้านที่ถูกขู่ฆ่าถูกมัดซ้อมทรมานโดยกองกำลังเถื่อนที่เหมืองทองจ้างมาขนแร่

“ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวบ้านฅนรักษ์บ้านเกิด ที่ร่วมกันเอาโฉนดแผ่นดินเกิดมาวางเป็นกองทุนเพื่อประกันตัวชาวบ้านที่ถูกเหมืองฟ้อง

“เพื่อรักษาแผ่นดินเกิด เราจะไม่หยุดต่อสู้ไม่ว่ากับใครหน้าไหนก็ตาม เราจะบันทึกประวัติศาสตร์ของเราไปเรื่อยๆ”

และถ้อยคำเหล่านี้ล้วนเป็น “ข้อเท็จจริง” ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่จะมีใครมาสั่งการ หลอกลวง บังคับ กำหนด ควบคุมอีกหรือไม่ เช่นเดียวกับคำพูดของชาวบ้าน ประวัติศาสตร์กำลังถูกบันทึกไปเรื่อยๆ และกาลเวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่าเรื่องราวนี้จะจบเช่นไร

ลำดับเหตุการณ์

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish