ยกร่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวง: ประชาธิปไตยทางตรงที่ชุมชนจะกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง

DSC_0211

“…ข้อบัญญัติตำบลเขาหลวง คือการยกระดับการต่อสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐานสู่การใช้สิทธิตามวิถีทางประชาธิปไตยทางตรงด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการออกมาตรการควบคุมการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เพื่อให้ท้องถิ่นได้กำหนดความเป็นอยู่การดำรงชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคต”วิทูวัจน์ทองบุ จากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม

ภายใต้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรของชนบทสู่เมือง สถานการณ์เหล่านี้ได้สั่งสมมาและแสดงความรุนแรงให้เห็นอย่างชัดแจ้งในท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จนนำไปสู่หลักการในการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่นเพื่อให้อำนาจท้องถิ่นได้บริหารจัดการและกำหนดวิถีชีวิตของตนเองนับเป็นพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยที่เน้นความเสมอภาคกันของประชาชน

ภายใต้โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้รับอำนาจในการถ่ายโอนภารกิจจากหน่วยงานต่างๆกว่า275รายการในกว่า11กระทรวง หัวใจสำคัญหลัก คือ การจัดการบริการสาธารณะและการแก้ปัญหาในพื้นที่ให้แก่ประชาชนหรือที่เรียกว่าประเด็นปัญหาสาธารณะซึ่งในเขตตำบลเขาหลวงประชาชนในท้องถิ่นมีประเด็นปัญหาที่หลากหลายทั้งสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมมลพิษทางดินน้ำอากาศการคมนาคมการใช้ถนนการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรและสาธารณะสุข

ประเด็นปัญหาสาธารณะในหลายๆด้านเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกทั้งในพื้นที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นเป้าหมายเพื่อจะนำไปพัฒนาเศรษฐกิจแต่ด้านหนึ่งก็เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในตำบลทั้งทางด้านประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิต

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาหลังการประกาศใช้ ระเบียบชุมชนว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุกโดยห้ามรถบรรทุกเกิน 15 ตัน ใช้ถนนสาธารณะของชุมชนในการขนสารเคมีอันตราย และการขนแร่จากแหล่งอื่นผ่านถนนในชุมชนซึ่งเป็นประชามติจาก 6 หมู่บ้าน

และหลังการปรึกษาหารือของชุมชนโดยรอบในเรื่องความต้องการที่จะยกร่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวงตามความต้องการของชุมชนมาจนสุกงอมกระบวนการในการจัดทำร่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวงได้เริ่มต้น

DSC_0178

วิทูวัจน์ทองบุ นักกฎหมายจาก ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ที่อาสามาเป็นกระบวนกรในการร่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวง แสดงความเห็นต่อความเคลื่อนไหวในการออกข้อบัญญัติตำบลเขาหลวงครั้งนี้มีที่มาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ที่เป็นอันตรายและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิของประชาชนซึ่งรัฐต้องมีมาตราการควบคุมดูแลเป็นพิเศษแต่การรวมศูนย์ในการตัดสินใจและการควบคุมดูแลนั้นแสดงให้เห็นชัดในท้องถิ่นว่า ไม่มีประสิทธิภาพคุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ได้

“ความล้มเหลวจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐส่วนกลางที่ละเลยสิทธิของประชาชนสิทธิของชุมชน และความตระหนักของชุมชนที่เห็นความสำคัญของหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นการบริหารจัดการท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาที่มีในชุมชนได้อย่างแท้จริง ข้อบัญญัติตำบลเขาหลวง คือการยกระดับการต่อสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐานสู่การใช้สิทธิตามวิถีทางประชาธิปไตยทางตรง ด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการออกมาตรการควบคุมการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เพื่อให้ท้องถิ่นได้กำหนดความเป็นอยู่ การดำรงชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคต”

ตลอดเวลากว่าสามเดือนที่ผ่านมา คณะทำงานจากชุมชนในตำบล ร่วมกับสมาชิกสภา อบต. เขาหลวง ได้เริ่มวางเค้าโครงกิจกรรมเพื่อร่างข้อบัญญัติฯ โดยยึดมั่นในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทั้งด้านการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนการรับฟังความคิดเห็นต่อปัญหาและความต้องการอย่างทั่วถึงการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อเสนอในเรื่องต่างๆเข้าสู่การพิจารณาที่จะต้องเปิดกว้างให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและสุดท้ายที่มีความสำคัญมากที่สุดคือการเสริมอำนาจให้แก่ประชาชนโดยการให้อำนาจการตัดสินใจแก่ประชาชนต่อการแสดงความเห็น หรือพิจารณาต่อร่างข้อบัญญัติฯได้อย่างทั่วถึงทั้งตำบลอย่างอิสระ

ส่วนขั้นตอนระหว่างการทำความเข้าใจในรายละเอียดเรื่องข้อบัญญัติฯ ให้กับชุมชน คณะทำงานจะเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งอาจารย์ทางกฎหมายนักวิชาการนักกฎหมายจากภายนอกมาให้ความรู้และช่วยตรวจสอบช่องว่างและความชอบธรรมทางกฎหมายอย่างเข้มข้น

รวมทั้งจะมีนักศึกษากฎหมาย ดาวดิน และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีความสนใจในประเด็นปัญหาในตำบลเขาหลวงมาลงพื้นที่เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ รวมรวบความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสาธารณะ และทำความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่นในการจัดทำข้อบัญญัติฯ แบบเจาะลึก

ฉัตรชัยแก่งจำปาสมาชิกสภาตำบลหนึ่งในคณะทำงานกล่าวถึงข้อบัญญัติตำบลเขาหลวงในครั้งนี้ คือ “อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของชุมชนที่สามารถจะออกมาตรการควบคุมการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชุมชน”

ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อบัญญัติฯ จะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการบริการสาธารณะแก่ชุมชนของตนเองที่ประชาชนสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อให้ความต้องการของแต่ละชุมชนที่แตกต่างกันได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วและเหมาะสมกับสภาพและความต้องการที่แตกต่างกันไปของแต่ละชุมชนซึ่งจะมีทั้งปัญหาเฉพาะชุมชน ปัญหาสาธารณะที่ชุมชนมีร่วมกัน การดูแลป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และอาจจะมีการเพิ่มมาตรการอื่นๆ ในข้อบัญญัติฯ อันไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย เช่น การเพิ่มกลไกการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน โดยกำหนดระเบียบการทำการประชามติให้ชัดเจนโดยให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนและการตัดสินตามเจตจำนงของชุมชนมาเป็นอันดับแรกหรือจะเป็นการเพิ่มกลไกคณะกรรมการระดับหมู่บ้านหรือตำบลในการตัดสินใจต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งอยู่ในอำนาจของ อปท.

re-DSC_0232

ด้านมนตรี คำไล้สมาชิกสภาตำบลอีกหนึ่งในคณะทำงาน ยกตัวอย่างผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำปัญหาใหญ่ของชุมชนในตำบลเขาหลวง ซึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาล และกฎหมายจากส่วนกลางที่หน่วยงานราชการทำขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนโดยไม่คำนึงว่าจะสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้ชุมชนในพื้นที่อย่างไร ดังจะเห็นได้ว่า หลายปีที่ผ่านมาผลกระทบจากกิจการเหมืองทองไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่ที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากร สุขภาพ และวิถีชีวิตของตนกลับถูกฟ้องคดีแพ่งและอาญาถึง 7 คดี เรียกค่าเสียหาย 270 ล้านบาท

เมื่อรัฐธรรมนูญให้อำนาจชุมชนในการจัดการบำรุงรักษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของชุมชนทั้งในพื้นที่ของคนเองและนอกพื้นที่ซึ่งรับรองสิทธิของประชาชนในชุมชนที่จะเสนอข้อบัญญัติชุมชนตามมาตรา 286 โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้

ข้อบัญญัติฯ ที่ยกร่างขึ้นมานี้ก็จะเป็นก้าวแรกแห่งความเสมอภาคกันตามกฎหมายของประชาชนที่ประชาชนเองเป็นผู้สร้างขึ้นและจะเป็นเครื่องมือที่ชุมชนท้องถิ่นนำมาใช้ในการดูแล ควบคุม ปกป้องสิทธิ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตไม่ให้ถูกละเมิดหรือถูกทำลายเหมือนอดีตที่ผ่านมา

“เมื่อได้ร่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวงที่มีที่มาและกระบวนการในการทำร่างฯ มาจากความต้องการของประชาชนในตำบลเขาหลวงแล้ว ก็จะมีขั้นตอนตรวจสอบร่างฯ โดยนำร่างฯ ที่ได้มาไปเสนอต่อชุมชนผ่านเวทีวิพากษ์ร่างข้อบัญญัติ เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนเพิ่มเติมในทุกหมู่บ้าน จากนั้นสมาชิกสภาตำบลจะนำร่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวงที่ได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาตำบลตามกระบวนการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้

“หากข้อบัญญัติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประชาชนทุกคนต้องการและทำร่วมกันมาผ่านขั้นตอนต่างๆ จนมีการประกาศใช้ ก็จะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชนได้ตามหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างแท้จริง”มนตรีกล่าว

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish