“สิ่งที่หายไปไม่ใช่แค่แผ่นหินและต้นไม้ร่มครึ้มบนยอดเขา แต่มันคือแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่ชาวบ้านเปรียบมันเป็นเซเว่น อิเลเว่นของคนยาก”

อ่านบันทึกสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่ ที่มีโอกาสได้เดินทางไปร่วมเรียนรู้กับชาวบ้านในงาน “งานทำบุญภูทัพฟ้า-ต่อชะตาซำป่าบอน หาบคอนภูเหล็ก ครั้งที่ 5 ” ณ เหมืองแร่เมืองเลย เมื่อวันที่ 17-18 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา

โดย ภูผา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

10923383_829968923716603_8611294954849641797_n

“ข้างๆ ภูเหล็กด้านขวานั่น คือภูทับฟ้า มันเคยสูงไล่เลี่ยกันนะครับ”

คำบอกเล่าของพ่ออุ้ม หนึ่งในชาวบ้านในพื้นที่ที่มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องเหมืองทองจังหวัดเลย
เห็นเส้นสีแดงๆ นั่นมั้ยครับ นั่นหละที่พ่ออุ้มบอกว่ามันเคยเป็นภูทับฟ้ามาก่อน จนกระทั่งรัฐเปิดสัมปทานให้ทำเหมืองทอง ภูทับฟ้าก็เหลืออยู่เพียงแต่ในรูปของชื่อ และความทรงจำของชาวบ้านแถบนี้

เอาเข้าจริง ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติของการทำเหมืองที่ภูเขามันจะหายไปจากการขุดเจาะ (จากที่เคยเห็นเวลานั่งรถทัวร์ไปทางสายใต้เป็นประจำ ก็เห็นภาพแบบนี้จนชินตา) และยิ่งเป็นการได้รับสัมปทานที่ถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่มีอะไรน่ากังวล ตอนแรกผมจึงไม่ค่อยจะให้น้ำหนักกับคำพูดส่วนนี้ของพ่ออุ้มเท่าไหร่

จนกระทั่งพ่ออุ้มพูดอีกประโยคหนึ่งขึ้นมา ราวกับว่าพ่ออุ้มได้ยินเสียงในหัวของผมยังไงยังงั้น

“ทำไงได้หละครับ ก็ภูเขามันเป็นเซเว่น อิเลเว่นของชาวบ้าน”

ทันใดนั้น ความสงสัยในคำพูดของพ่ออุ้มก็หายไปฉับพลัน มันน่าประหลาดใจมากที่การติดตามพ่ออุ้มมาดูผลสืบเนื่องจากสัมปทานเหมืองทองครั้งนี้ มันกลับทำให้ผมเห็นตัวเองชัดขึ้น

คนเมือง(ความเป็นเมืองในที่นี้กินความไปถึงเมืองในต่างจังหวัดด้วย)อย่างเราๆ ถูกความเป็นเมืองบังคับให้หลงลืม ความสัมพันธ์ระหว่างคนและธรรมชาติ โดยเฉพาะในโลกบริโภคนิยมที่อะไรก็ดูหาง่ายไปหมด ตราบใดที่ยังมีกะตังค์ คุณไม่ต้องก้าวเท้าออกจากบ้านด้วยซ้ำ คุณก็ได้สิ่งต่างๆ มาครอบครองแล้ว ทั้งหมดนี้มันทำให้เราเลิกคิดถึงกระบวนการที่สิ่งของเหล่านั้นมาสู่มือของเรา

ผิดกับชาวบ้านในหมู่บ้านแถบนี้ ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้ปิดกั้นทุนนิยม แต่ด้วยความเป็นเมืองที่ยังไม่ขยายไปถึงที่นั่นอย่างเต็มที่ วิถีชีวิตส่วนหนึ่งของชาวบ้าน ยังคงต้องอาศัยธรรมชาติที่อยู่รายล้อม ยามหิวก็เก็บของป่ากิน ยามหนาวก็ตัดฟืนมาผิงไฟ ยามเหนื่อยล้าจากการทำงาน ก็พักผ่อนตามห้วยน้ำลำธาร นี่ยังไม่รวมถึงการใช้ธรรมชาติเป็นแหล่งทำมาหากิน ทั้งเรือกสวนไร่นาต่างๆ

เราไม่มีทางเห็นภาพเหล่านี้เลยในเมือง และเหตุข้อนี้ที่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้าใจต่อปัญหาเหมืองทองแก่ผู้คนในเมือง คือ เราต้องทำให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตผู้คนและธรรมชาติ ที่เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วให้ชัดเจนขึ้นมา

สุดท้ายผมก็ยังยืนยันว่า มันเป็นปกติที่ที่การทำเหมืองจะต้องขุดเจาะภูเขา แต่แน่นอนมันมีราคาที่ต้องจ่าย อันได้แก่ สมดุลธรรมชาติ ที่ต้องฟื้นฟู(และมันคงไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมได้โดยเร็ว) ซึ่งมันก็เหมือนกับกิจการต่างๆ ที่ดูดเอาทรัพยากรธรรมชาติมาค้าขาย และส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น แต่อยากจะทิ้งท้ายว่า ถ้าหากการที่ภูเขามันหายไปเป็นลูกๆ แบบนั้น มันกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนแถบนั้นล่ะ เราขุดเอาแร่ เปลี่ยนเป็นเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนกลุ่มหนึ่ง โดยต้องแลกมากับความเดือดร้อนของใครอีกหลายๆ คน มันสมควรเป็นแบบนี้นะหรือ?

ป.ล.ภูเหล็ก(ด้านขวา)เป็นภูเขาลูกต่อไปที่จะโดนเจาะเอาทองคำมาใช้

 

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish