หากเพื่อนๆที่กำลังอ่านเรื่องราวนี้อยู่ หลายคนอาจจะพอคุ้นหน้าคุ้นตาเขาอยู่ โดยเฉพาะเพื่อนๆนักกิจกรรมภาคเหนือ เพราะเขาเคยคร่ำหวอดอยู่ในสายนักกิจกรรมทางสังคมอยู่ทางภาคเหนือมากกว่า 10 ปี แต่วันที่เรานำเสนอเรื่องราวของเขาอยู่นี้ เป็นการเล่าเรื่องราวของเขาในมุมของ “คนกลับบ้าน” ในมุมของ “อาสาคืนถิ่น รุ่น 4” เพราะวันนี้เขาได้ปักหลักอยู่ที่บ้านเกิดของเขาพร้อมการอ้าแขนรับการกลับบ้านจากครอบครัวด้วยรอยยิ้ม(อันนี้แอ๊ดเราแอบมโนไปเองมั๊ยนะ ?)

ก่อนจะอ่านเรื่องราวของเขาคนนี้ ขอโฆษณาหน่อยว่า สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจสมัครร่วมโครงการอาสาคืนถิ่น รุ่น 5 ยังสามารถสมัครได้อยู่ ยื่นใบสมัครได้เลยตอนนี้จนถึง 31 พฤษภา 64 ดูรายละเอียดการรับสมัคร คลิกที่นี่ แต่หากอยากดูรายละเอียดข้อมูลโครงการอาสาคืนถิ่นและกระบวนการเรียนรู้ตลอดระยะการเป็นอาสาสมัคร 1 ปีให้ คลิกที่นี่ และหากมีคำถามหรือข้อสงสัยใดๆเกี่ยวกับตัวโครงการ กระบวนการพัฒนาศักยภาพคนกลับบ้านหรืออื่นๆ เพื่อนๆสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “แฟนเพจอาสาคืนถิ่น” ได้เลย

“ฟักทองเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร” ในมุมของ “อาร์ม-ศราวุฒิ เรือนคง” อาสาคืนถิ่น รุ่น 4 จากนครราชสีมา ชวนอ่านต่อเลย

“เราไม่อยากอยู่บ้าน เรามีความตั้งใจว่าจะออกจากบ้านไปหาคุณค่า ทำตามความคิด ค้นหาตัวตนและความหมายบางอย่าง ตอนนั้นเราพยายามทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ออกไปไกลจากบ้านมากที่สุด และตอนนี้เรากลับมาบ้านด้วยความตั้งใจเดียวกันคือการค้นหาความหมายของชีวิตต่อไป” คำบอกเล่าจาก “อาร์ม” ประสบการณ์การอยู่เชียงใหม่ของอาร์มเป็นเวลากว่า 10 ปี ทำให้เขาเป็นนักคิด นักเรียนรู้ ตลอดจนเป็นนักกิจกรรมที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยการตั้งคำถามและเติมเต็ม
คำตอบบางอย่างในประเด็นทางสังคม

เขาบอกว่าชีวิตในเชียงใหม่ค่อนข้างไปได้ดี แต่วันนั้นตัวเองก็เริ่มถามถึงความมั่นคงในชีวิตและคุณค่า และด้วยอาการป่วยจึงทำให้เขาตัดสินใจกลับบ้าน

“โรคหัวใจที่เราเป็นมันบีบให้เราต้องกลับบ้าน และพอดีกับช่วงนั้นที่พ่อแม่อยากให้มาช่วยดูแลกิจการตลาดของครอบครัว
จึงกลับมา แต่เราไม่อยากอยู่บ้านแค่เพื่อรักษาตัว อยากค้นหาความหมายในชีวิตต่อ”

อาร์มเล่าให้ฟังถึงความตั้งใจในการกลับบ้านของเขา ซึ่งเขามองว่าความเจ็บป่วยไม่ใช่อุปสรรค โดยที่อาร์มได้พยายามเบนความฝันเพื่อให้ตัวเองอยู่บ้านอย่างมีคุณค่าให้ได้ เขากลับมาคิดทบทวนอย่างละเอียดถึงทรัพยากรที่มี และจะมีอะไรบ้างที่จะช่วยสานต่อความฝันของเขาได้ การมีเพื่อนจะทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในช่วงแรกของการกลับบ้านบางครั้งทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อน แต่การเข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่นทำให้อาร์มได้พบเจอกับหลายคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะอยู่ห่างกันหลายจังหวัดในภาคอีสาน แต่เขารู้สึกอุ่นใจว่าตัวเองไม่ใช่คนเดียวที่กลับบ้านมาค้นหาความหมายของชีวิตและนั่นทำให้เขาไม่รู้สึกแตกต่าง

“หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ เราได้เห็นว่าการกลับบ้านมันมีความหมาย มันมีคุณค่าอย่างไร เราเป็นคนที่ชอบตั้งคำถามระหว่างภาคการเกษตรกับประชาริปไตยของบ้านเรา การได้มาอยู่อาสาคืนถิ่นทำให้เราได้เล็งเห็นปัญหาของเกษตรกรมากขึ้นกว่าเดิม และได้พูดคุยในเชิงวิพากษ์”

บรรยากาศการพูดคุยกับอาร์มอบอวลไปด้วยการตั้งคำถามที่เชื่อมโยงภาคเกษตรกรรมเข้ากับระบบประชาธิปไตยได้อย่างน่าสนใจ เขามีความตั้วใจที่จะเปลี่ยนโครงสร้างอะไรบางอย่าง เพื่อจะทำให้สังคม เกษตรกรรมของบ้านเราดีขึ้น
ด้วยการค้นคว้าศึกษาเรียนรู้ และลงมือทำอย่างตั้งใจ  ฟักทอง เครื่องมือตามหาความหมาย

“ฟักทองเป็นเหมือนการขับเคลื่อนประชาธิปไตย

อาร์มปลูกฟักทองเพื่อให้เห็นถึงกระบวนการผลิตทั้งกระบวนการ ด้วยการนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า มาปรับใช้ เขาเล่าว่าการปลูกฟักทองไม่มีสูตรสำเร็จที่จะได้ฟักทองพันธุ์ดีสมบูรณ์เพอร์เฟกต์ทุกอย่าง และการลองผิดลองถูกทำให้เขาเห็นคุณค่าความพยายามของตัวเองที่ได้ทุ่มเทไปกับสิ่งเหล่านี้…..อาร์มบอกว่า

“เราทำงานกับตัวเองเยอะมาก มันต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก จริงๆ ฟักทองมันสะท้อนให้เห็นถึงความ
หลากหลายทางสังคม”

การเรียนรู้และทำความเข้าใจภาคการเกษตรของบ้านเราผ่านการปลูกฟักทองทำให้อาร์มได้แลกเปลี่ยนความรู้และนำไอเดียที่น่าสนใจมาปรับใช้

“ผ่านไป 1ปี จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ตอนนี้มันเริ่มใหญ่ขึ้น ชาวบ้านก็ให้ความสนใจมากขึ้นโดยที่เราไม่ได้บอกอะไรเลย”

อาร์มเล่าอย่างภูมิใจที่ความตั้งใจของเขาทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าอะไรบางอย่างขึ้นมาออนไลน์ – ออนกราวน์ เรียนรู้ชุมชน 2 บริบท

“เราค่อนข้างมีปัญหากับการนิยามชุมชน เพราะเรามองทุกมิติเป็นชุมชนได้ทั้งหมดเลย ตลาด หมู่บ้านหรือแม้กระทั่งชุมชนออนไลน์”

อาร์มใช้ชุมชนออนไลน์ (Online) เพื่อเชื่อมโยงสื่อสารสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ ในขณะเดียวกันก็ค้นหาวิธีปรับใช้กับการอยู่ร่วมกับชุมชนออนกราวน์ (On Ground) ซึ่งก็คือชุมชนในตลาดและชุมชนของเขาเอง อาร์มบอกว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วการสื่อสารสิ่งต่างๆกับชุมชนที่เป็นหมู่บ้านมันค่อนข้างเป็นไปได้ช้ากว่ากันมาก เขามองตลาดออนไลน์ว่าเป็นช่องทางที่น่าสนใจ ผู้คนเลือกซื้อและยอมจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งของที่มีคุณภาพ เลือกผักที่ปลอดสารพิษได้ในทางกลับกันตลาดในชุมชนที่เขาอยู่ กลับสะท้อนความจริงของสังคมชนบทบ้านเรา นั่นคือชาวบ้านเลือกซื้อผักที่มีราคาถูก โดยไม่ได้มองถึงความปลอดภัยจากสารพิษ

“อธิปไตยทางอาหารเป็นเรื่องสำคัญและการเปลี่ยนแปลงตรงนี้มันท้าทายมากเพราะมีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาด้วย”

อาร์มเล่าให้ฟังพร้อมบอกอีกว่าเขามีความฝันอยากเห็นอธิปไตยทางอาหารและความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในบ้านเราอยากให้คนไทยในชนบทได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยในขณะเดียวกันสิ่งที่เขาทำได้บนความเป็นปัจจุบัน คือการสนับสนุนให้คนในชุมชนทำระบบเกษตรกรรมที่ทำอยู่ให้ดีที่สุด โดยที่อาร์มตั้งใจว่าการสนับสนุนของเขาจะต้องไม่เปลี่ยนวิถีของ
คนในชุมชน นั่นอาจหมายถึงการสนับสนุนด้วยประสบการณ์และความรู้

“ดีใจที่เพื่อนเห็นเราเป็นไอดอลของเขาในการกลับบ้าน ดีใจที่เพื่อนเห็นว่าการกลับบ้านของเรามีความหมาย และเขาก็อยากกลับมา เราพร้อมมาสนับสนุนกันเต็มที่ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ผมมี”

แรงกายที่ลงมือทำ บันดาลให้ใจได้เติมเต็มคุณค่าในอนาคตอันใกล้เขามีความตั้งใจจะพัฒนาสายพันธุ์ฟักทองคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟักทอง ในขณะที่เขาตั้วใจลงมือทำเพื่อไปถึงเป้าหมาย ในเวลาเดียวกันนั้น
เขาก็ยังคงศึกษาเบื้องลึกของสังคมเกษตรกรรมบ้านเราด้วยความหวังว่าอยากจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยในวันที่ต้นฟักทองของอาร์มผลิดอกออกผล เขาไม่ได้ได้เพียงแค่ผลผลิตจากสวนฟักทองของเขาเท่านั้น แต่ทุกความตั้งใจ คุณค่า และการลงมือทำทำให้เขาได้เพื่อนคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่มีความคิดอยากจะกลับมาคืนถิ่นเหมือนกับอาร์มกลับมาด้วย

“สิ่งที่อาสาคืนถิ่นเน้นย้ำคือการมีเพื่อน แต่สำหรับเราเพื่อนที่สำคัญที่สุดคือเพื่อนที่อยู่ในชุมชน”

อาร์มเล่าต่อว่าในช่วงแรกที่กลับบ้านเขาไม่กล้าชวนใครมาทำ แต่วันนี้เขาแข็งแกร่งและปรับตัวได้แล้ว เขาพร้อมที่จะอ้าแขนรับการกลับบ้านของเพื่อนๆ ทุกคน

“ดีใจที่เพื่อนเห็นเราเป็นไอดอลของเขาในการกลับบ้านดีใจที่เพื่อนเห็นว่าการกลับบ้านของเรามีความหมาย และเขาก็อยากกลับมา เราพร้อมมาสนับสนุนกันเต็มที่ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมาก”

อาร์มเล่าด้วยน้ำเสียงปนยิ้ม ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่าเขารู้สึกภูมิใจมากขนาดไหน อาร์มบอกว่าวันนี้การกลับบ้านของเขาเริ่มมีความหมาย ไม่ใช่แค่ตัวเขาเองแต่เขายังตั้งใจทำเพื่อคนอื่นและสังคมด้วย

“เรารู้สึกดีที่จะมีคนกลับมาที่บ้านอย่างมีความหมาย เราคิดว่าน่าจะขับเคลื่อนได้เร็วกว่า”

เขารู้สึกชาบซึ้งและภาคภูมิใจที่มีตัวตนในฐานะคนรุ่นใหม่กลับบ้าน และเขายังฝากบอกกับใครอีกหลายคนที่คิดถึงการกลับบ้านว่า “ใครที่คิดจะกลับบ้าน สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือเป้าหมายและจงเตรียมทักษะที่จะเติมเต็มตัวเองได้เอาไว้ให้แน่นที่สุด ค้นหาข้อมูล วิเคราะห์ และปฏิบัติ แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอ”
—————-

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ และติดตามเรื่องราวของอาร์มและผองเพื่อนคนคืนถิ่นที่ Fanpage “Intawaa” และเว็บไซต์ https://returnhomeland.com/sarawut/ 
(ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2564)

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish