“เด็กเป็นวัยที่สามารถปรับตัวได้ดีกว่าวัยผู้ใหญ่ ฉะนั้น การนำความรู้ที่เรามี ไปป้อนให้กับเด็กๆในชุมชนจึงเป็นความหวังที่เชื่อมั่นว่าพวกเขาเหล่านี้ จะขับเคลื่อน และพัฒนาชุมชนของตัวเองให้ดีขึ้นได้” … คำบอกเล่าของ “นุ่น – เรณุกา น้อยทรง” อาสาคืนถิ่น รุ่น 4 จากจังหวัดมุกดาหาร
ครอบครัวคือตัวช่วยและแรงสนับสนุนที่ดี
มุมมองของนุ่นต่อการกลับบ้านอาจจะแตกต่างจากใครหลายๆ คน ในขณะที่ใครบางคนมองว่าชุมชนคืออุปสรรคในการกลับบ้าน แต่นุ่นให้ความเห็นว่าครอบครัวเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ให้เธอกับชุมชนได้เป็นอย่างดี
ตอนแรกเรากังวลว่ากลับมาที่บ้านแล้วจะอยู่ในชุมชนได้อย่างไร จะอยู่ได้นานแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วครอบครัวสนับสนุนเราอย่างเต็มที่ งานที่เราได้ทำร่วมกับชุมชนไม่ใช่ได้มาจากแค่ตัวเราเอง แต่เป็นผลมาจากครอบครัวและคนในชุมชนด้วย ….. นุ่นเล่าอย่างซาบซึ้งถึงหน้าที่ตรงหน้าของเธอ
“เด็กเป็นโครงสร้างขนาดเล็กที่ทรงพลัง”
อาสาคืนถิ่นแต่ละคนล้วนมีเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชนแตกต่างกันออกไป สำหรับนุ่น นอกจากงานพัฒนาที่เธอทำร่วมกับชุมชนอยู่แล้ว อีกหนึ่งบทบาทของเรอในชุมชน คือ การเป็นเสมือนครูพี่เลี้ยงที่คอยสนับสนุน หาโอกาสและกิจกรรมดีๆ มาให้กับเด็กๆในชุมชน
“ช่วงแรกเด็กๆ มองไม่เห็นถึงสิ่งที่ชุมชนเขามี แต่เมื่อให้เขาได้ศึกษาเรียนรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรเหล่านั้น เขาก็ถึงบางอ้อว่าชุมชนเรามีดีอะไรบ้าง” … นุ่น อธิบายให้เห็นการห้วงเวลาแห่งการเรียนรู้และเติบโตของเด็กๆ
ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่รักและหวงแหนชุมชน เธอจึงเล็งเห็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่นุ่นเชื่อว่าผู้ใหญ่ในชุมชนหลายคนมองข้ามสิ่งนี้ไป โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กในชุมชน
“เราอยากให้คนข้างนอกได้รับรู้ว่าชุมชนเรามีปัญหา อยากตีแผ่มันออกมาเพื่อให้ได้รับการแก้ไข”
อาสาคืนถิ่นสร้างเสียงที่ทรงพลังให้
นุ่นมีความหวังต่อการเข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่น โดยเธอหวังว่าพลังเล็กๆของเธอที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะสามารถจุดประกายอะไรบางอย่างให้ผู้ใหญ่และคนรอบข้าง มองเห็นถึงปัญหาที่ชุมชนเธอเผชิญอยู่ สำหรับเธอแล้ว กระบวนการเรียนรู้ของอาสาคืนถิ่นไม่ได้ทำให้แค่ตัวเรอตระหนักรู้ถึงคุณค่าของชุมชน แต่โครงการนี้ เหมือนเป็นกระบอกเสียงที่ช่วยตะโกนส่งเสียงของนุ่นและเด็กๆ ให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องได้ยิน
นุ่นเล่าถึงบทบาทในอนาคตของเธอต่อชุมชน เธอตั้งใจไว้ว่าจะยังคงทำงานเป็นทีมสนับสนุนชุมชน ค่อยๆ ก้าวไปอย่างที่มันควรจะเป็น
“ให้อายุและประสบการณ์ของเราก้าวไปพร้อมๆ กัน”
“กลับมาเลยไม่ต้องคิดว่าจะมีงานทำหรือไม่ หรือจะอยู่บ้านได้ไหม
ท่ามกลางคำพูดตอกย้ำเหยียดหยาม จงใช้สิ่งเหล่านั้นเป็นแรงผลักดัน
แล้วคุณจะไปได้ไกล”
เธอทิ้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับบ้าน ด้วยการเชื้อเชิญให้กลับมายังไม่ต้องลังเล
———
นุ่น – เรณุกา น้อยทรง
อาสาคืนถิ่นรุ่นที่ 4 จังหวัดมุกดาหาร