เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ International workers’ day (MayDay !) เราขอชวนทุกคนมาเฉลิมฉลองความสำเร็จ และการมีส่วนร่วมของแรงงานทั่วโลก! ที่ผ่านการทุ่มเทเวลา ความพยายามในการทำงาน รวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน เพื่อสร้างความยุติธรรม และความเท่าเทียม ที่นำมาซึ่งมาตรฐานในสถานที่ทำงานจนถึงปัจจุบัน

พบกับ ‘เสียงจากอาสาสมัคร – Volunteers’ Voice’ บทสัมภาษณ์ #อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ผ่านมุมมองและชุดประสบการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับความท้าทาย และการเคลื่อนไหวในประเด็นแรงงาน ได้ตลอดทั้งเดือนพฤษภาคมนี้ มาร่วมกันเปิดมุมมองที่หลากหลาย เพื่อขยายเสียงออกไปพร้อมกับพวกเรา
ในครั้งนี้ เราได้ชวน เตอร์ อาสาสมัครนักสิทธิฯ รุ่น 17 มาร่วมตอบคำถามกับเรา ติดตามอ่านได้ที่นี่ !

📍 ประวัติศาสตร์และความสำคัญของวันแรงงานในมุมมองของคุณ ?

เรามองว่า การที่มีวันแรงงานมันคือการบ่งบอกถึงความสำคัญ การให้เกียรติคนที่ต้องใช้แรงงานไม่ว่าจะอาชีพอะไรก็ตาม เพราะคุณคือคนสำคัญของประเทศ คุณสำคัญในฟันเฟืองของระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาประเทศ แต่ในมุมลึกๆของเรายังรู้สึกว่า วันแรงงาน มันควรจะเป็นการเฉลิมฉลองให้กับแรงงานทุกคน ทำกิจกรรม เฮฮา ปาร์ตี้ร่วมกัน ให้พวกเขาได้ปลดปล่อย ผ่อนคลายจากการทำงาน แต่ในประเทศไทยกลับเป็นการรวมตัวกันออกมาเรียกร้องสิทธิแรงงานที่โครตจะเป็นขั้นพื้นฐานให้อาชีพของตัวเอง มันกลายเป็นการบ่งบอกกลายๆจากรัฐว่า “เรามีวันแรงงานให้คุณนะ แต่เราไม่ให้สิทธิแรงงานกับคุณ” ถ้าเรามีกฎหมายที่คุ้มครอง ดูแลครอบคลุมทุกอาชีพในกฎหมายฉบับเดียวกันเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราก็คงเรียกว่าเป็นวันแรงงานจริงๆที่ไม่ใช่แค่วันหยุดราชการในปฏิทิน

📍 คำว่า แรงงาน vs คนทำงาน ?

ในมุมของเรา แรงงาน = คนทำงาน ไม่ว่าจะทำงานโรงงาน เก็บขยะ ขับวิน พนักงานออฟฟิศ พนักงานธนาคาร ทุกคนล้วนต้องใช้แรงกายและสมองในการทำงานเหมือนกัน คนในวัยทำงานทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานที่พัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบหน้าที่-การทำงานที่ต่างกันเพียงเท่านั้น

📍 ในความเห็นของคุณ ทำไมคนรุ่นใหม่ต้องเข้าใจที่มา นิยาม ความหมาย ของคำว่า แรงงาน ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ?

การที่เข้าใจนิยามและความหมายจะช่วยให้คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงาน เพื่อเรียกร้อง หรือปกป้องสิทธิของตนเองได้

📍 คิดว่าคุณค่าในอดีตที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงาน, วันแรงงาน เช่น สิทธิแรงงานและความยุติธรรมทางสังคม ยังคงเกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไหม ?

ปัจจุบันประเด็นแรงงานในประเทศไทยที่หลากหลายองค์กรร่วมกันเรียกร้องมาหลายสิบปียังคงไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ ทั้งค่าแรงที่เป็นธรรม การร่วมกลุ่ม การเจรจาต่อรอง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การมีหลักประกันทางสังคม อีกทั้งอาชีพใหม่ๆก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันกฎหมายไทยและการคุ้มครองแรงงานยังไม่ถูกพัฒนาให้ทันโลก ให้สิทธิแรงงานทุกอาชีพอย่างเท่าเทียม คนรุ่นใหม่ก็ยังคงต้องเกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อยู่ที่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

📍 คิดว่าคนรุ่นใหม่สามารถมีส่วนร่วมและมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองและการเคลื่อนไหววันแรงงานในทางใดได้บ้าง ?

ทางโซเชียลมีเดีย น่าจะเป็นอันดับแรกที่นึกถึง  แต่การเคลื่อนไหวเดินขบวนก็สำคัญไม่ต่างกันจะได้ผลลัพธ์ในการรวมกลุ่มแสดงพลังที่ดีกว่า สุดท้ายก็อาจจะต้องแล้วแต่ตัวบุคคลว่าสะดวกแบบใด เพราะจริงๆคนรุ่นใหม่ก็สามารถแสดงออกและมีส่วนร่วมได้เหมือนคนรุ่นก่อนๆ

📍 เคยมีส่วนร่วมในงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานไหม? ประสบการณ์ของคุณเป็นอย่างไร?

ประสบการณ์ จากที่เคยเข้าร่วมมาทั้งหมด ประชาชนทั่วไปคือกำลังสำคัญในการผลักดันประเด็น เนื่องจากการมีอคติต่ออาชีพ การไม่เข้าใจกลไกการทำงาน และกฎหมายที่รัฐควบคุม ข้อจำกัด และการเข้าไม่ถึงโอกาสของแรงงานบางส่วน ทำให้มีกระแสแง่ลบที่เกิดขึ้นในการขอความร่วมมือจากประชาชนทั่วไป เพราะตัวเขาไม่เข้าใจและโอกาสน้อยมากที่จะเปิดรับฟังคำอธิบายที่พยายามจะชี้แจง หรือบางคนไม่เห็นด้วยในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ด้วยซ้ำ ซึ่งส่งผลไปสู่คำตอบของภาครัฐในการปฏิเสธการแก้ไขหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน

📍 คิดว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญกับประเด็นแรงงาน หรือไม่ อย่างไร ?

ควรที่สุด สถาบันการศึกษามักจะสอนให้เรียนเพื่อที่จะมีอาชีพการงานที่ดี โดยที่เอาอาชีพใช้แรงกายมาเปรียบเทียบเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย การดูดถูก การไม่ให้ความสำคัญกับอาชีพอื่นๆในสังคมถูกปลูกฝังมาทั้งในโรงเรียนและสถาบันครอบครัว ถ้าเป็นไปได้ควรมีการเพิ่มหลักสูตรเรื่องสิทธิแรงงานและเศรษฐกิจ ที่ช่วยให้เด็กในวัยเรียนได้รู้ถึงเรื่องสิทธิและความสำคัญของแต่ละอาชีพในระบบเศรษฐกิจ

📍 คิดว่าอะไรคือความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับแรงงาน, May Day ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คิดว่าจะแก้ไขได้อย่างไร ?

ถ้าที่เห็นเลยคือ การเดินขบวนพอเห็นธงของแรงงานข้ามชาติก็จะเข้าใจว่ามาเรียกร้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งอาจจะยังไม่ได้ตระหนักว่า เราทุกคนคือแรงงานแม้จะมาจากประเทศไหนก็ตาม ยังคงมีการแบ่งแยกเกิดขึ้นโดยการตัดสินที่ภายนอกเพียงครั้งเดียว ตามมาด้วยการบ่นด่าในเชิงไล่กลับประเทศ อย่ามาเรียกร้อง มาแย่งงานคนไทย

วิธีการแก้ไข ถ้าตอบเอาแบบเป็นมิตรก็ปลูกฝังความรู้ถึงความจำเป็นของการมีแรงงานข้ามชาติในประเทศให้คนเห็นความสำคัญ และให้สิทธิแรงงานเทียบเท่าคนไทย แต่ถ้าฮาร์ดคอร์หน่อยก็ไปลากเอากลุ่มคนที่มีอคติมาลองทำงานที่แรงงานข้ามชาติทำดูว่าจะทำไหวไหม เผื่อจะเข้าใจว่าการที่คนไทยตกงาน แล้วเข้าใจว่าแรงงานข้ามชาติมาแย่งงานคนไทยมันจริงหรือเปล่า หรือเกิดจากสังคมปลูกฝังคุณค่าของงานแบบผิดๆ

📍 ถ้ามองไปข้างหน้า คุณจินตนาการถึงบทบาทของวันแรงงาน May Day ที่จะนำไปสู่การพัฒนาในอนาคตอย่างไร ?

ถ้าเป็นไปได้อยากให้วันแรงงานเป็นวันที่ไม่มีการมาเดินถนนเรียกร้องสิทธิแรงงานให้คนกลุ่มไหนอาชีพไหน โดยที่เขาเหล่านั้นได้สิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานครอบคลุมดูแลทุกอาชีพ โดยมีกฎหมายที่นิยามครอบคลุมแรงงานทั้งหมดไม่มีใครตกหล่น และเอาเวลาไปเฉลิมฉลองภูมิใจที่การเป็นแรงงานที่สำคัญต่อประเทศจริงๆ

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish