เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ International workers’ day (MayDay !) เราขอชวนทุกคนมาเฉลิมฉลองความสำเร็จ และการมีส่วนร่วมของแรงงานทั่วโลก! ที่ผ่านการทุ่มเทเวลา ความพยายามในการทำงาน รวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน เพื่อสร้างความยุติธรรม และความเท่าเทียม ที่นำมาซึ่งมาตรฐานในสถานที่ทำงานจนถึงปัจจุบัน

พบกับ ‘เสียงจากอาสาสมัคร – Volunteers’ Voice’ บทสัมภาษณ์ #อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ผ่านมุมมองและชุดประสบการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับความท้าทาย และการเคลื่อนไหวในประเด็นแรงงาน ได้ตลอดทั้งเดือนพฤษภาคมนี้ มาร่วมกันเปิดมุมมองที่หลากหลาย เพื่อขยายเสียงออกไปพร้อมกับพวกเรา
ในครั้งนี้ เราได้ชวน ซูม อาสาสมัครนักสิทธิฯ รุ่น 16 มาร่วมตอบคำถามกับเรา ติดตามอ่านได้ที่นี่ !

📍 ประวัติศาสตร์และความสำคัญของวันแรงงานในมุมมองของคุณ ?

รู้แค่วันนี้มันเกิดจากการต่อสู้เพื่อจำกัดเวลางาน 8 ชั่วโมง เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว คิดไปคิดมาก็น่าเศร้า ตอนนี้บางคนยังต้องทำมากกว่า 8 ด้วยซ้ำ หนึ่งร้อยกว่าปีที่โลกหมุนไป เทคโนโลยีพัฒนาตั้งมากมาย ทำไมเรายังต้องทำงานเท่าเดิม วันแรงงานก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะมาทบทวนเรื่องการทำงานกันบ้าง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่คนมักละเลยที่จะตั้งคำถามกับมัน หรือจินตนาการถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ

📍 คำว่า แรงงาน vs คนทำงาน ?

คิดว่าทุกคนที่ทำงานคือแรงงานอยู่แล้ว เราก็นิยามตัวเองเป็นแรงงาน แต่เข้าใจว่ามันมีไบแอสในภาษา-วัฒนธรรม ทำให้คนเข้าใจว่าแรงงาน = คนทำงานไม่มีฝีมือ กรรมกร ฯลฯ คนทำงานตากแอร์ในออฟฟิศหลายคนอาจจะไม่รีเลทกับคำว่าแรงงาน เพราะภาพจำแบบนี้หรือเปล่า เลยต้องใช้คำว่าคนทำงาน (ซึ่งเอาจริง ส่วนตัวตอนแรกคิดว่าคำนี้แปลกและฟุ่มเฟือย)

📍 ในความเห็นของคุณ ทำไมคนรุ่นใหม่ต้องเข้าใจที่มา นิยาม ความหมาย ของคำว่า แรงงาน ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ?

ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ แต่ทุกคนควรจะเข้าใจ ในยุคสมัยทุนนิยมเข้มแข็งแบบนี้งานเป็นส่วนสำคัญมาก ๆ ต่อชีวิตคน ๆ หนึ่ง มันกำหนดอะไรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอัตลัษณ์ ชนชั้น คุณภาพชีวิต นอกจากนี้ทุนนิยมยังมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต คุณค่าต่าง ๆ ในสังคมด้วย หากเราไม่เข้าใจ ไม่ตั้งคำถาม หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองก็คือแรงงาน มันอาจทำให้เราถูกขูดรีดเกินไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะหันไปทางไหนทุนนิยมก็กำลังตะโกนใส่เราว่าทำงานสิ ๆ ๆ ๆ

📍 คิดว่าคุณค่าในอดีตที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงาน, วันแรงงาน เช่น สิทธิแรงงานและความยุติธรรมทางสังคม ยังคงเกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไหม ?

เกี่ยวข้องนะ เช่น อย่างที่บอกเป็นร้อยกว่าปีแล้วเวลางานยังเท่าเดิม มันควรจะลดลงหรือเปล่า แทนที่มีเทคโนโลยีจะช่วยผ่อนเบาภาระแรงงานกลับทำให้แรงงานโดนขูดรีดมากกว่าเดิม ยุคสมัยเปลี่ยนไปก็จริง การขูดรีดยังมีอยู่แค่เปลี่ยนรูปแบบ เรายังคงต้องตามมันให้ทันเหมือนเดิม หรือประเด็นอื่น ๆ เช่น การลาคลอด-เลี้ยงบุตรของทุกเพศ ลาเมนส์ การเลือกปฏิบัติ สวัสดิการต่าง ๆ มันก็มีหลายเรื่องที่เรายังต้องเรียกร้อง

📍 คิดว่าคนรุ่นใหม่สามารถมีส่วนร่วมและมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองและการเคลื่อนไหววันแรงงานในทางใดได้บ้าง ?

หยุดทำงานสักวันเถอะขอร้อง ลองไปม็อบดู หรือคอมมิวนิตี้ที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ ถ้าแถวบ้านไม่มีก็ลองดูตามโซเชียลมีแคมเปญอะไรน่าสนใจบ้าง ที่สำคัญที่สุดมานั่งทบทวนตัวเองหน่อย well-being เป็นไงช่วงนี้ ชีวิตเรามีอะไรอย่างอื่นที่อยากทำนอกจากงานไหม ถ้าไม่ต้องทำงานเราจะทำอะไรอยู่ตอนนี้ คิดว่าจินตนาการสำคัญนะ ใช้โอกาสนี้ในการรีเช็คตัวเอง นึกเพ้อเจ้อถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ ดู

📍 เคยมีส่วนร่วมในงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานไหม? ประสบการณ์ของคุณเป็นอย่างไร?

เคยไปม็อบแรงงานหนึ่งครั้งตอนปี 63 คนมาไม่มากแต่ก็พอได้เห็นหน้าเห็นตาคนที่เรียกร้องสิ่งเดียวกับเรา เจอป้า ๆ แม่ ๆ แบ่งสาดแบ่งขนม แบ่งที่หลบฝนให้ รู้สึกได้ถึง solidarity แต่ตอนนั้นคือมันไกลบ้านมาก จำได้ไม่มีวันลืม ทดลองนั่งรถเมจากสามย่านไปถึงปู่เจ้า นั่งเลยป้ายไปไกลมากจนถึงท่ารถ ต้องหานั่งรถสองแถว ใจเสียเลยตอนนั้น แต่มันทำได้เห็นสภาพแวดล้อมใกล้โรงงานที่เหี้ยมาก ขนาดแค่นั่งรถผ่านยังรู้สึกได้ นึกว่าหนัง dystopian กลิ่นสารเคมีฉ่ำ เลยยิ่งทำให้อินกับม็อบนั้น 

เคยทำงานกับ NGOs ที่ทำประเด็นพม่า ทำให้ได้สัมผัสประสบการณ์ของแรงงานพม่าในไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเราที่ถูกมองไม่เห็น หรือคนมักปฏิเสธการมีอยู่ของพวกเขา นอกจากนี้ยังถูกเหยียดเชื้อชาติ ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกขูดรีดจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นอีกกลุ่มเปราะบางที่ไม่เคยได้มีสิทธิมีเสียงแม้เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย

📍 คิดว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญกับประเด็นแรงงาน หรือไม่ อย่างไร ?

โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยควรมีให้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตการทำงาน การจัดการภาษี มากกว่าแค่วิชาแนะแนว สิทธิแรงงานสำคัญมาก เหมือนจะไกลตัวเด็ก ๆ แต่จริง ๆ แล้วควรรู้ตั้งแต่มัธยม เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศเริ่มทำงานกันตั้งแต่เป็นเยาวชน หรือเรื่องการปลูกฝังค่านิยมต่าง ๆ เช่น ทุกคนควรเป็นข้าราชการเพราะมีสวัสดิการที่ดี หรือทุกคนต้องเป็นผู้นำ ทุกคนประสบความสำเร็จ เหล่านี้ก็สำคัญ คิดว่าการศึกษาสามารถช่วยบ่มเพาะค่านิยมใหม่ ๆ ได้ เช่น งานอะไรก็มีคุณค่า แรงงานไม่มีฝีมือไม่มีจริง ทุกงานล้วนต้องใช้ความชำนาญที่แตกต่างกันไป เราทำงานเพื่ออะไรไม่ต้องทำเพื่อประเทศชาติเพื่อ GDP ก็ได้ไหม?

📍 คิดว่าอะไรคือความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับแรงงาน, May Day ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คิดว่าจะแก้ไขได้อย่างไร ?

ความคิดที่ว่าเราไม่ใช่แรงงานนี่แหละ คิดว่ามันเกิดจากการให้คุณค่าแต่ละอาชีพไม่เท่ากันกลายเป็นว่าเกิดไบแอสกับคำว่าแรงงาน คิดว่าแก้ได้ด้วยการรวมกลุ่มกันให้ใหญ่ขึ้น แสดงภาพจำใหม่ ๆ ว่าแรงงานมีหลายแบบ เอดูเขตกันเยอะ ๆ

มีอีกแนวคิดที่เราคิดว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด คือพวกสมาทานแนวคิดแข่งกัน productive ฉันทำงานหนักกว่าใครภูมิใจมากทำงานไม่ได้หลับไม่ได้นอน แม้ในวงการนักเคลื่อนไหวเรื่องแรงงานกันเอง ฉันสู้กว่าใคร มัน toxic วัฒนธรรมเหล่านี้ควรหมดไป แก้ได้จากการสร้างความเข้าใจเรื่องการแบ่ง boundary งาน-ชีวิต ให้ชัดเจน เราไม่ควรให้คุณค่างานมากขนาดนั้น ลองมองด้านอื่น ๆ ของชีวิตบ้าง นอกจากนี้ควรมีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้เข้ากับยุคสมัย เท่าทันการขูดรีดรูปแบบใหม่ ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง ปรับค่าแรงให้เหมาะสมกับงาน ผลักดันรัฐสวัสดิการให้ทุกคนลืมตาอ้าปากได้โดยที่ไม่ต้องทำงานจนตาย

📍 ถ้ามองไปข้างหน้า คุณจินตนาการถึงบทบาทของวันแรงงาน May Day ที่จะนำไปสู่การพัฒนาในอนาคตอย่างไร ?

เป็นวันที่เราไม่ต้องมาเรียกร้องอะไรแล้ว หยุดงานนอนอยู่บ้าน ขอบคุณกันและกันสำหรับความเหน็ดเหนื่อยจากงานที่ทำกันมาทั้งปี

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish