มึดาบอกว่า หนึ่งปีของการเป็นอาสาสมัครนักสิทธิฯ เธอทำงานกับศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน การเป็นอาสาสมัครที่นี่ ทำให้เธอมีโอกาสทำงานศึกษาวิจัยปัญหาคนไร้รัฐและมุ่งศึกษาประเด็นกฎหมายสัญชาติโดยตรง ทำให้เธอเข้าใจปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติและกฎหมายไทยมากขึ้น ขณะที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ได้ให้ประสบการณ์ลักษณะนี้กับเธอมากนัก ความคิดหลายอย่างของเธอเปลี่ยนไป เช่น เรื่องสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เธอได้รับจากสื่อกระแสหลัก ทำให้เธอเข้าใจว่าคนภาคใต้เป็นพวกหัวรุนแรงและไม่มีน้ำใจ แต่ความคิดนี้เปลี่ยนไป เมื่อเธอได้เข้าร่วมโครงการอาสาสมัครนักสิทธิฯ เธอได้รู้ความจริงจากเพื่อนในรุ่น และการเข้าร่วมเวทีวิชาการต่างๆ  ทำให้เธอเข้าใจเหตุแห่งปัญหาอย่างแท้จริง ปัจจุบันเธอยังคงทำงานช่วยเหลือให้กับคนไร้สัญชาติ และสนับสนุนคนทำงานในประเด็นนี้ตามจังหวะโอกาสที่เอื้ออำนวย

ด้านการประสานความร่วมมือ เธอมีโอกาสได้ทำงานประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่จากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้ทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน เธอพบว่า เมื่อมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดสิทธิชุมชน รวมถึงสิทธิเด็กก็เกิดตามมา เรื่องนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เธอและเพื่อนๆ กลุ่มคนรุ่นใม่หันมาสนใจและตระหนักถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกัน โดยใช้พลังแห่งความสมานฉันท์ต่อกรกับความอยุติธรรม มึดาเล่าว่า ดามีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับคนไร้สัญชาติ การที่ดาเติบโตมาพร้อมๆ กับเขา ทำให้ดารู้สึกว่าคนไร้สัญชาติคือส่วนหนึ่งของชีวิตดา  และดาจะทำงานเพื่อพวกเขาให้เหมือนกับที่ดาเคยฝันเอาไว้” การเป็นนักเรียนไร้สัญชาติไม่ใช่จุดด้อย แต่นั่นกลับทำให้เธอเต็มเปี่ยมด้วยพลังมหาศาลที่จะทำงานรับใช้คนไร้สัญชาติได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย โดยส่วนตัวแล้วมึดามีความเห็นว่า หากคนหนุ่มสาวได้รับโอกาสเช่นเดียวกับเธอ พวกเขาจะสามารถกลับไปทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนของตัวเองได้เช่นกัน

การก้าวเข้าไปทำงานในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นก้าวที่สองของชีวิตเธอ เนื่องจากเธอเห็นว่า ประเด็นปัญหาในภูมิภาคอาเซียนมีความเกี่ยวเนื่องกัน หากเราแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องคนไร้สัญชาติอย่างเดียว อาจเป็นการตัดโอกาสที่จะเชื่อมประสานงานกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนได้ อีกทั้งอาจถูกมองว่าเป็นการเห็นแก่ตัวที่มองเห็นและให้ความสำคัญแค่ปัญหาของตนเองโดยไม่สนใจปัญหาอื่น ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจที่จะขับเคลื่อนประเด็นปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติในระดับประเทศไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญาในระดับภูมิภาคอาเซียน

ประสบการณ์สำคัญที่เธอได้รับจากการทำงานในระดับภูมิภาคอาเซียนคือ เธอได้โอกาสพัฒนาภาษาอังกฤษมากขึ้น เธอตระหนักว่าเรื่องคนไร้สัญชาติเป็นปัญหาระดับสากล  ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีคนไร้สัญชาติจำนวนมาก  เธอต้องการเชื่อมประเด็นคนไร้สัญชาติกับคนรุ่นใหม่โครงการต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อให้พวกเขาสนใจและเข้าใจในเรื่องนี้  โดยเฉพาะในประเทศพม่าซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติอย่างมากเช่นกัน ปัญหาหลักคือการที่คนไร้สัญชาติไม่ได้รับความสนใจจากสังคมมากนัก นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอพยายามที่จะผลักดันประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะในระดับภูมิภาคอาเซียน

มึดากล่าวย้อนหลังไปว่า เมื่อครั้งที่เธออยู่ในสถานะเด็กไร้สัญชาติ ช่วงนั้นยังไม่มีกฎหมายไทยมาตราใดรองรับเด็กๆ อย่างพวกเธอ แต่ปัจจุบันนโยบายได้เปลี่ยนไปมากแล้ว กฎหมายหลายมาตราถูกปรับ เด็กไร้สัญชาติสามารถเข้ารับการศึกษาได้เช่นเดียวกันกับเด็กนักเรียนไทย เธอสรุปให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ไร้สัญชาติในประเทศไทย จะไม่ได้รับใบสูติบัตร แต่หลังจากการทำงานขับเคลื่อนสาธารณะให้มีการปรับปรุงนโยบายจนประสบความสำเร็จ  ทำให้ปัจจุบันเด็กที่เกิดในประเทศไทยสามารถแจ้งเกิดและได้รับใบสูติบัตรทุกคน และหากพวกเขาแต่งงานกับคนไทยก็สามารถจดทะเบียนสมรสได้  เธอกล่าวว่า “ปัจจุบันสถานการณ์หลายอย่างได้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ประเด็นเรื่องคนไร้สัญชาติถูกขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น”  แต่ละปีองค์กรของเธอพยายามที่จะรณรงค์และผลักดันให้สังคมสนใจในประเด็นคนไร้สัญชาติมากขึ้น  รวมถึงความพยายามในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้นด้วย ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ องค์กรรัฐที่เคยมองว่าเอ็นจีโอเป็นพวกคอรัปชั่น สนใจเฉพาะประเด็นปัญหาคนต่างด้าวแต่กลับละเลยปัญหาของคนไทยด้วยกัน ปัจจุบันมุมมองนี้ถูกเปลี่ยนมาเป็นความเข้าใจในเนื้องานของเอ็นจีโอมากขึ้น อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของเอ็นจีโอมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

(ติดตามตอนจบ สัปดาห์หน้า)

————-

Siza Nepal / สัมภาษณ์

อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล

เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish