อาสาเล่าเรื่องครั้งนี้ พาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ “หนิง-นิพาดา ลาดบาศรี” อาสาคืนถิ่นรุ่นที่ 4 นักขับเคลื่อนแห่ง
‘โคก หนอง นา’ โมเดล ซึ่งปัจจุบันยังคงมีแพชชั่นที่แรงกล้าต่อการเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์

ถึงแม้วันนี้บทบาทของหนิงจะเปลี่ยนไปเพราะสถานการณ์โควิดที่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนในเมือง แต่ยังทวีความรุนแรงขึ้นจนกระทบไปถึงชุมชนที่เธออยู่อาศัยตลอดจนพื้นที่ที่หนิงกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่จนทำให้เธอไม่สามารถลงพื้นที่ไปทำงานได้เช่นเคย

“ตลาดนัดสีเขียวที่ขายที่จังหวัดก็ได้ปิด เหลือแค่ในอำเภอ1แห่ง สถานการณ์โควิดมารอบนี้ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนรายได้ก็ลดลง”

“หนิงเริ่มห่างจากชุมชนทำได้แค่โทรถามข่าว ประชุมออนไลน์ หรือ zoom ก็ไม่ได้เพราะกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุและไม่ถนัดเทคโนโลยี ทำให้งานก็ลดน้อยลง
ส่งผลไปถึงรายได้ที่ต้องลดลงเช่นกัน”

“หนิงปรับการทำงานใหม่โดยเปิดร้านขายกาแฟ และร้านขายต้นไม้ เพื่อให้เกษตรกรที่เราไปส่งเสริมได้มีที่ขายสินค้า มีอะไรก็นำมาฝากขายได้”

เธอสะท้อนปัญหาจากการทำงานจริงให้เราได้ฟังและขบคิดไปด้วย แต่ยังคงปิดท้ายด้วยการบอกวิธีแก้ไขปัญหาที่กิดขึ้นกับแอดมิน บ่งบอกความเป็นคนคิดบวกและเห็นหนทางในการแก้ไขปัญหาเสมอเช่นเคย

ชวนเพื่อนๆ อ่านอีกหนึ่งประสบการณ์/ เรื่องราวของหนิงที่มักมีช่วงที่ท้าทายและน่าติดตามเสมอจากช่วง 1 ปีที่หนิงเข้าร่วมโครงการ “อาสาคืนถิ่น รุ่น 4”

______________________

“ท้ายที่สุดแล้วโคกหนองนา คือ ความอยู่รอดของเรา ในช่วงที่ประเทศประสบกับสถานการณ์ Covid-19
 ตอนนั้นทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมั่นคงมากที่สุด เรามีอาหารอยู่ที่บ้านมากมาย ในขณะที่หลายคนมีเงิน 
แต่ไม่สามารถออกไปซื้อบางอย่างได้ เห็นชัดเลยว่านี่ล่ะคือทางรอด”หนิง นิพาดา ลาดบาศรี สาวผู้รักสวยรักงามและรักอิสระ ออกเดินทางเพื่อค้นหา

จนกระทั่งการกลับบ้านที่ท้าทายเธอด้วยบทพิสูจน์แห่งความอยู่รอด นำพาเธอไปสู่ความสุขและความมั่งคั่งยั่งยืนบนแหล่งอาหาร ที่วันนี้เธอกลายเป็นต้นแบบการทำเกษตรกรรมให้กับผู้ที่สนใจมากมาย

แรงบันดาลใจจุดประกาย “โคก หนอง นา” โมเดล

“เราอยากทำเกษตรแต่ไม่มีความรู้เลย โชคดีที่ได้ทำงานกับองค์กรเอกชน ซึ่งร่วมมือกับ NGO ทำให้เรามีโอกาสเห็นกระบวนการผลิตในระบบการเกษตรหลายต่อหลายครั้ง แรงบันดาลใจในการทำเกษตรของเราเริ่มจากตอนที่ไปดูงานที่สวนเกษตรแห่งหนึ่ง เราอยากได้ผักจากเขา แต่เจ้าของสวนนั้นไม่ยอมขายผักให้ เขาเก็บผักจากแปลงที่ปลอดสารเคมีซึ่ง ปลูกไว้กินเองให้กับเรา”

หนิงเล่าถึงประสบการณ์ที่เธอเคยพบ เหตุการณ์ครั้งนั้นจุดประกายให้เธอเห็นคุณค่าของอาหารที่ปลอดภัย เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างแรงบันดาลใจสู่โคกหนองนาโมเดลของเธอ ไม่เพียงเท่านั้นหนิงยังเล่าต่ออีก ว่าถึงแม้เธอจะทำเกษตรกรรมได้ไม่นานแต่ในช่วงวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือ Covid-19 ที่คนทั่วโลกต้องเผชิญ ทำให้เธอมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เธอมีอยู่ได้อย่างชัดเจนขึ้น

เราทุกคนเลือกได้ว่าอยากรวยแบบไหน ?

หนิงให้นิยามความหมายของการกลับบ้านของเธอว่าคือความสุขและอิสระ เธอบอกว่าการกลับบ้านทำให้ได้อยู่กับความยั่งยืนของทรัพยากรที่เธอลงแรงปลูกและสร้างมันขึ้นมาเป็นทรัพย์สมบัติที่ไม่มีวันหมดอายุและสิ่งเหล่านี้ไม่มีวันลดน้อยลงไป “เมื่อไรที่เธอยิ่งทำ เธอก็จะยิ่งได้เพิ่ม ยิ่งทำก็ยิ่งรวย” หนิงเล่าถึงงานที่ทำให้เธอได้เป็นนายของตัวเองให้ฟังอย่างภูมิใจ

“อาชีพของเราไม่ได้รวย เราไม่ได้โฟกัสว่าความรวยจะต้องวัดจากตัวเงินเท่านั้น จริง ๆ คนเราเลือกได้ว่าจะรวยแบบไหน แต่เราขอรวยเพื่อน รวยความสุข แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงที่อิ่มเอม

ความท้าท้ายที่พิสูจน์ให้เห็นแล้ว

“ความท้าทายของพี่ไม่มีอะไรมาก คือคำกล่าวหาว่าบ้าปลูกแล้วจะได้กินหรือ จะรวยไหม ทำเกษตรลำบากนะ นี่เป็นสิ่งที่พาเราไปสู่การพิสูจน์ตัวเองให้ได้ คิดว่าสังคมเป็นกระจกสะท้อนทีดี”

หนิงเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอฮึดสู้ พูดไปหัวเราะไปอย่างคนไม่ผูกใจเจ็บกับอดีต เธอบอกว่าตอนนี้มีคน

มาหาเธอที่บ้านเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ยังไม่ประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่เธอรู้สึกว่าตัวเองได้ก้าวข้ามผ่านการพิสูจน์นั้นมาไกลแล้ว

แบ่งปันในสิ่งที่มีให้กับคนรอบข้าง

หนิงพูดถึงความมั่งคั่งทางทรัพยากรอาหารของเธอในตอนนี้ให้ฟังว่าเธอมีรากฐานที่มั่นคง มีคนคอยสนับสนุนเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือชุมชน ที่เธอได้พิสูจน์ตัวเองให้เขาเหล่านั้นเห็นด้วยกันลงมือทำโคกหนองนาโมเดลอย่างจริงจัง จนประสบความสำเร็จเป็นโมเดลต้นแบบที่ใครหลายต่อหลายคนอยากจะนำไปปรับใช้

“สิ่งที่ได้รับกลับมาคือครอบครัว ความอบอุ่น สิ่งเหล่านี้เป็นฐานที่มั่นที่แข็งแรงของเรา” เธอย้ำชัดถึงปัจจุบันที่เธอมีทุกวันนี้ด้วยแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอไม่ลืมที่จะแบ่งปันผู้อื่น

หนิงเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่อยากจะเปลี่ยนภาพจำของวงการเกษตรกรรมไทย เธอบอกว่าอยากเห็นชาวนาเป็นพ่อค้าที่ตั้งราคาข้าวเองได้ อยากเห็นชาวนาทำน้อยแต่ได้มาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเธออยากเห็นวิถีชาวนาที่เปลี่ยนไป ข้อสำคัญก็คือไม่ต้องตอบสนองนายทุนเพียงอย่างเดียว

เพื่อน คือแรงสนับสนุน

คำว่าเพื่อนในความหมายของหนิงค่อนข้างกว้าง เธอเล่าว่าตัวเองต้องรีบทำทุกสิ่งที่ตั้งใจในทุก ๆ วัน 
เพราะไม่แน่วันหนึ่งเธออาจจะหมดแรงลง

และการมีเพื่อนคอยสนับสนุนจะทำให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น การมีเพื่อน มีองค์กร หรือเครือข่ายต่าง ๆ คอยช่วยชี้นำสิ่งที่ดี พาไปเรียนรู้สิ่งใหม่ มองเห็นช่องทาง จึงทำให้เธอเติบโตในการทำเกษตร โดยที่อีกหนึ่งหมุดหมายที่เธอตั้งใจคือการเอาความรู้และสิ่งที่ได้รับกลับเข้าไปเติมเต็มชุมชนของเธอเอง รอสะท้อนมุมมองที่มีต่อโครงการอาสาคืนถิ่น ที่ทำให้เธอได้มาสัมผัสกับมุมมองใหม่ๆ จากเพื่อนอาสาคืนถิ่นแต่ละคน ที่มีความสามารถแตกต่างกันออกไป เธอสัมผัสถึงการจุดประกายสิ่งดี ๆ ให้กับคนรุ่นใหม่มากมาย ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งเสริมแนวทางการแลกเปลี่ยน สร้างช่องทางเรียนรู้ที่สำคัญโครงการนี้ทำให้เธอเปิดกว้างและมองเห็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่ามากขึ้นด้วย

“เรามีโอกาสได้ไปศึกษาเรียนรู้กระบวนการด้านเกษตรกรรมจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นด้วยกับหลักการส่งเสริมของโครงการอาสาคืนถิ่น ที่จุดประกายจุดไฟ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ได้อย่างน่าสนใจ”

เมื่อถามหนิงว่าอุปสรรคสำคัญในการกลับบ้านของเธอคืออะไร เธอตอบอย่างไม่ลังเลว่า คือ คำดูถูก

แต่ข้อดีของมันคือช่วยให้เธอลุกขึ้นสู้และทำในสิ่งที่ตั้งใจอย่างจริงจัง เธอยังทิ้งท้ายฝากจดหมายลับไปยังคนรุ่นใหม่ที่อยากจะหวนคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองว่า “การกลับบ้านเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย แต่ถ้าก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นไปได้ เราก็จะไปได้ดีบนเส้นทางความสุขของตัวเอง”หนิงยังบอกอีกว่า กลับบ่านในตอนที่ยังมีแรงดีกว่ากลับบ้านแบบไม่เหลือแรงทำอะไรเลย

หนิง นิพาดา ลาดบาศรี 
อาสาคืนถิ่น รุ่น 4 จังหวัดศรีสะเกษ 

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish