“สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์” เกิดในครอบครัวเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ที่คอยผลักดันและสนับสนุนเขา อยากให้เรียนสูงๆ คือพ่อบังเกิดเกล้าของเขาเอง ซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปเมื่อเขาอายุได้เพียง 11 ขวบ เขาบอกว่า “นับจากที่พ่อผมเสียชีวิตไป มันทำให้ผมได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตได้ง่ายขึ้น”
สงกรานต์เริ่มทำงานเพื่อสังคมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เขาใช้เวลาสำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษา ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายกิจกรรมมากกว่าเวลาเรียนของเขาด้วยซ้ำ กิจกรรมเหล่านี้เอง ทำให้เขาเข้าใจสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้านได้ไม่ยาก เช่นเดียวกับกรณีปัญหาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เขาและเพื่อนๆ ได้ร่วมกันทำงานรณรงค์เชิญชวนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เพื่อจัดเวทีพบปะกับนักศึกษา กิจกรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ทำให้เขาตระหนักถึงเป้าหมายชีวิตของการทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ
หลังจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เขาตัดสินใจหางานด้านสังคมหรืองานด้านสาธารณะ กระทั่งได้ทำงานที่ “มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม” (ENLAWTHAI Foundation) หรือ ENLAW ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม หลังจากที่สงกรานต์ทำงานที่นี่ได้ 6 เดือน ผู้อำนวยการสำนักงานได้ผลักดันให้เขาสมัครเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และเขาผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ
ตลอด 7 ปีที่สงกรานต์ทำงานที่ ENLAW มีโอกาสได้ไปร่วมประชุมระดับนานาชาติหลายครั้ง ทำให้เขาสนใจงานในระดับสากลมากขึ้น จึงตัดสินใจสมัครงานที่ EarthRights International ในตำแหน่งผู้ประสานงานในประเทศลุ่มน้ำโขง โดยทำในประเด็นเรื่องสิทธิสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน เขามุ่งเน้นการทำงานเพื่อปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ปกป้องผู้ประสบปัญหาจากโครงการขนาดใหญ่ และลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน หากมองในภาพรวมจะเห็นว่า ในอนาคตจะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงหลายโครงการ แน่นอนว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบจะไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้น แต่มันรวมถึงทุกประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งก็คือ ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม คนจำนวนมากจะถูกอพยพจากพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัยไปยังที่ใหม่ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเขาเหล่านี้จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยที่พวกเขาไม่สามารถกระทำการอะไรได้เลย
สงกรานต์ถือเป็นทนายความที่มุ่งเน้นการทำงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ช่วงที่เขาทำงานที่ ENLAW ภารกิจที่เขาทำมีหลากหลายมาก ทั้งการปกป้องชุมชนจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การสนับสนุนให้ชาวบ้านฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ สนับสนุนให้ชาวบ้านใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องรัฐบาลและบริษัท เพื่อให้รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดจากโครงการพัฒนา พร้อมทั้งให้ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ชาวบ้านสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการปกป้องสิทธิของตนเองหากได้รับผลกระทบในอนาคต อีกภารกิจหนึ่งที่สงกรานต์ได้พยายามทำคือ เขาได้พยายามสร้างพื้นที่สำหรับการฝึกงานให้กับอาสาสมัครหรือทนายความรุ่นใหม่ เพื่อสนับสนุนให้เขาเหล่านี้ได้เติบโตเป็นทนายความด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต ตัวชี้วัดถึงผลสำเร็จอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ที่ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครที่ ENLAW หลังจากสิ้นสุดวาระอาสาสมัครแล้ว ได้ตัดสินใจเลือกทำงานที่ ENLAW
สงกรานต์เล่าถึงความสำคัญของการที่ได้รู้ว่า มีคนอีกจำนวนมากที่ต้องการใช้ความรู้ที่ตัวเองมีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เขาเล่าว่า “ผมรู้สึกว่าตัวเองมีความอดทนมาก ผมได้เรียนรู้ว่างานลักษณะนี้ไม่สามารถทำเพียงลำพังได้แน่นอน เราต้องมีเครือข่ายที่คอยหนุนเสริมเรา” หลังสิ้นสุดวาระ อส.นักสิทธิ์แล้ว เขาและเพื่อนๆ ได้ร่วมกันตั้งเครือข่ายนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการรวบรวมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อทำงานช่วยเหลือสังคมขึ้น เพื่อให้เครือข่ายนักสิทธิ์เป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันในอนาคต ปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็นสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแล้ว
สงกรานต์เป็นคนที่รักในงานที่เขาทำมาก และเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมคนอื่นๆหลายคน งานของเขาได้สร้างพื้นที่ทางความคิดให้เขาได้มาก เขาเล่าว่า “สิทธิมนุษยชนมีนัยแตกต่างกันหลายแง่มุมแต่แยกขาดจากกันไม่ได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องทำงานและสร้างเครือข่ายร่วมกัน” เขาเล่าต่อว่า “ผมเป็นคนเริ่มแนวคิดเรื่องการเปิดเว็บไซต์ของ ENLAW ผมเป็นคนคอยดูแลอาสาสมัครคนอื่นๆ ในองค์กร และเป็นหนึ่งในทีมคดีด้วย” งานที่เขาทำ ทั้งงานด้านการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านกฎหมาย งานวิชาการ รวมถึงงานด้านคดี และไม่ว่าจะชนะหรือแพ้คดีก็ตาม มันจะทำให้เกิดการเรียนรู้และสรุปบทเรียนร่วมกันเสมอ
ประเด็นเรื่องแรงบันดาลใจเขากล่าวว่า “แม้ส่วนหนึ่งจะได้จากโครงการอาสาสมัครของ มอส. แต่ส่วนใหญ่แล้วมันเกิดขึ้นจากตัวผมเอง” งานที่เขาทำต้องเป็นงานที่เกิดประโยชน์ทางสังคมเสมอ เขาจึงมีแรงบันดาลใจที่จะทำมันอย่างต่อเนื่อง โครงการ อส.นักสิทธิ์ทำให้เขามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการเป็นนักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ในวาระ 1 ปี เขาได้เรียนรู้ที่จะทำงานเพื่อชุมชนโดยการทำหน้าที่เป็นทนายในชั้นศาล ทำงานวิจัยเพื่อนำข้อมูลมาสนับสนุนด้านคดีความและใช้สำหรับจัดฝึกอบรมความรู้ให้กับชาวบ้าน
ความสุขจากการทำงานเป็นส่วนสำคัญของการเติมเต็มความฝันของเขา เขากล่าวว่า “ความสุขจากการทำงานมันทำให้ผมมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน และทำให้ผมสามารถสร้างเครือข่ายสำหรับสนับสนุนการทำงานของผมและคนอื่นๆ ได้อีกด้วย”
ปัจจุบันสงกรานต์เเป็นอาจารย์สอนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากการเป็นอาจารย์แล้ว เขายังมีความฝันที่จะก่อตั้งองค์กรที่ทำงานด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมของเขาเองอีกด้วย
สำหรับข้อเสนอต่อ มอส. นั้น เขาเห็นว่า มอส. ควรขยายเวลาของวาระ อส.นักสิทธิ์ ออกไปอีกหนึ่งปี เนื่องจากกระบวนการเรียนรู้ในด้านกฎหมายเป็นไปค่อนข้างช้า ระยะเวลาหนึ่งปีที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นถือว่าค่อนข้างสั้น ข้อเสนออีกหนึ่งประเด็นคือ มอส. ควรให้อาสาสมัครเลือกทำคดีเฉพาะแล้วศึกษาในเชิงลึกไปเลย จะเกิดประโยชน์มากกว่าการเรียนรู้คดีในภาพรวม แล้วให้อาสาสมัครทำข้อเสนอแนะต่อชุมชน และทำข้อเสนอต่อรัฐ ซึ่งย่อมแน่นอนว่าย่อมเกิดประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การที่อาสาสมัครมีความตื่นตัว กระตือรือร้นและอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคม ถือเป็นความสำเร็จของโครงการ อส.นักสิทธิ์ ซึ่งในส่วนของอาสาสมัครเองก็ได้พยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกันเท่าที่จะทำได้ เขาหวังว่าโครงการนี้ของ มอส. จะยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต เขากล่าวทิ้งท้ายว่า
“คนหนุ่มสาวไม่ควรจะจำกัดตัวเองและตีกรอบความคิดไว้เฉพาะแค่เรื่องเงินทองและทรัพย์สมบัตินอกกาย เพราะมันเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งของชีวิต แต่การได้ทำงานที่มีความหมาย การได้ช่วยเหลือผู้อื่น และการได้เติมเต็มความฝันของตัวเองต่างหากคือคุณค่าสำคัญของชีวิต ทุกคนจะกลายเป็นคนสำคัญ และยังจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกต่อๆไปให้มีความมั่นคงในชีวิตเหมือนกับที่เรามี”
Siza Nepal / สัมภาษณ์
อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง
ชวนผู้สนใจ สมัครเข้าร่วมโครงการ
“อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 15″
คลิกกรอกใบสมัครได้ที่นี่
คุณสมบัติผู้สมัคร
1. จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ
2. อายุระหว่าง 20-30 ปี
3. สามารถเป็นอาสาสมัครเต็มเวลาจนครบวาระ 1 ปี (1 สิงหาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 กรกฎา 2564)
หลักฐานการสมัคร
1. รูปถ่าย
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
3. สำเนาทะเบียนบ้าน
4. สำเนาวุฒิการศึกษา หรือทรานสคลิป
5. ใบสมัครออนไลน์ (ตามลิงค์ด้านล่าง)ที่กรอกเสร็จเรียบร้อย
องค์กรทั้งหมด ที่เปิดรับอาสาสมัครนักสิทธิฯ รุ่น 15
คลิกดูรายละเอียดที่นี่
ชวนร่วมบริจาคสมทบทุน เพื่อส่งต่อการแบ่งปัน
สนับสนุนกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสังคม
สามารถบริจาคได้ที่บัญชี “กองทุนมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม” ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 075-2142483
โครงการของ มอส.
- โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน
- โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
- โครงการพลเมืองอาสา
- โครงการแลกเปลี่ยนสหรัฐอเมริกา
- โครงการอาสาสมัครนักวิจัย PAR
- โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมร่วมสร้างชุมชนยั่งยืน (อาสาคืนถิ่น)
- โครงการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพองค์กรทำงานด้านเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างพลังพลเมืองเข้มแข็ง (Young Move)