โดย กรรณิกา ควรขร มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

5-132

“…….การเป็นอาสาสมัครจึงเป็นการพาตนมาเดินอยู่บนเส้นทางแห่งการพัฒนาตนควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น และด้วยเหตุนี้เองการเป็นอาสาสมัครจึงไม่ควรจำกัดอยู่ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต เป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่าอาสาสมัครเป็นเรื่องของคนหนุ่มสาวหรือคนที่ยังเรียนหนังสืออยู่ แท้ที่จริงอาสาสมัครเป็นงานที่เราควรทำไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกับการศึกษาซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เป็นงานที่ทุกคนควรทำจนกว่าจะหมดลมหายใจ

เนื้อแท้ของความเป็นอาสาสมัครนั้นอยู่ที่จิตใจคือมี “จิตอาสา” ที่ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น หรือนึกถึงส่วนรวม จะเป็นครู พ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ ก็สามารถเป็นอาสาสมัครได้ตลอดเวลาหากมีจิตใจที่คำนึงถึงส่วนรวมอยู่เสมอ เราจำต้องตระหนักอยู่เสมอว่า “อาสาสมัคร” นั้นไม่ใช่อาชีพ หากคือสำนึกที่สมควรมีอยู่คู่กับความเป็นมนุษย์ของเราจนกว่าชีวิตจะหาไม่”

พระไพศาล วิสาโล
บางตอนจากบทความ “อาสาสมัครบนเส้นทางแห่งความเป็นมนุษย์ ”
ในหนังสือ “สานศรัทธา สร้างสังคม 25 ปี มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม”

บทนำ
เอกสารชิ้นนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวของ “งานอาสาสมัครเพื่อสังคม” ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมอย่างย่อ เพื่อให้เห็นแนวคิดและกระบวนการเรียนรู้ของอาสาสมัคร คุณค่า ผลที่เกิดขึ้น ในแนวของการเล่าสู่กันฟัง โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ การนำไปใช้หรือชวนกันคิดต่อ ชวนกันทำงานเสริมสร้างคนรุ่นใหม่ต่อไป

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)คือใคร

ย้อนไปปี 2523 โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม ก่อเกิดขึ้น เริ่มต้นด้วยการรับอาสาสมัครรุ่นที่ 1 จำนวน 19 คน เพื่อไปปฏิบัติงานเต็มเวลา ในโครงการพัฒนาสังคมต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นสายธาร ของคนหนุ่มสาวที่ไหลเข้ามาทุกปี จนถึงปัจจุบันในปี 2556 นี้มีคนหนุ่มสาวประมาณ 700 คน ที่ก้าวเข้ามาเรียนรู้ในเส้นทางอาสาสมัคร และก้าวออกไปเป็นกำลังขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า เอ็น จี โอ (Non-government Organization) ในเกือบทุกประเด็น ทั่วประเทศประมาณ 400 คน

โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม(คอส.) ก่อตั้งขึ้นมาตามข้อตกลงขององค์กรพัฒนาเอกชน 19 แห่ง ให้ คอส.มีภารกิจในการสนับสนุนงานพัฒนาสังคม ทั้งในด้านบุคคลากร ข้อมูลข่าวสาร การประสานงาน จุดเริ่มแรก คอส.มีสถานะเป็นโครงการพิเศษ ของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีสำนักงานอยู่ที่สถาบันวิจัยสังคม โครงการได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) เมื่อปี 2529 ปัจจุบันมีสำนักงานถาวรที่ถนน รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ดำเนินภารกิจต่อมาในกิจกรรมต่างๆ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ยุติธรรม และสันติสุข

อาสาสมัครคือใคร ทำไมต้องอาสาสมัครเต็มเวลา

ด้วยภารกิจในการสนับสนุนงานพัฒนาด้านบุคคลากร มอส.จึงสรรหาคนหนุ่มสาวที่มีความตั้งใจ มุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสังคม มีใจพร้อม กายพร้อม เพื่อทำงานเต็มเวลา 1-2 ปีเต็ม ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการเรียนรู้ ฝึกฝนตนเอง และพัฒนาทักษะเพื่อปฏิบัติงานได้ อาสาสมัครเต็มเวลาของ มอส.จึงมีค่ายังชีพรายเดือนที่ไม่มากนัก ปัจจุบัน (2556) คือ 8,000 บาท

ก้าวเข้ามาได้อย่างไร

คนหนุ่มสาวที่ตัดสินใจจะก้าวมาเป็นอาสาสมัคร เขาจะได้รับข้อมูลการประชาสัมพันธ์การรับสมัคร คุณสมบัติที่ต้องการจากสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ โปสเตอร์ที่ไปติดตามมหาวิทยาลัย(ยุคอดีต) เว็บไซด์ จนไปถึงในโลก Social Network ในยุคปัจจุบัน

เมื่อตัดสินใจที่เลือกเดินเส้นทางนี้ เขาจะผ่านกระบวนการคัดเลือกซึ่งมีขั้นตอนต่างๆ และมีการปรับเงื่อนไขการรับสมัครไปตามความสนใจของผู้สมัคร บางปีที่คาดว่าผู้สมัครจะสูงก็ต้องมีกระบวนการที่มากขึ้น เราเรียกว่า “ตั้งกำแพง” ให้ปีนยากๆ เช่น การทำรายงานการไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ขาดโอกาสในสังคม หรือการเขียนเรียงความเรื่องอุดมคติในการทำงานเพื่อสังคม ส่งมาพร้อมกับตอบโจทย์ในใบสมัครที่ค่อนข้างหิน เพื่อพิสูจน์ความมุ่งมั่น ขั้นตอนหลักๆ ที่สำคัญมี อยู่ 3 ขั้นตอนคือ
1. การเขียนใบสมัคร
2. การมารับฟังการชี้แจงโครงการต่างๆ ที่จะรับอาสาสมัครไปปฏิบัติงาน
3. การสัมภาษณ์

เป็นธรรมดาของการสมัครทุกครั้งที่ต้องมีคนที่พลาดหวังไม่ได้รับการคัดเลือก เราจึงเน้นให้ผู้สมัครที่ผ่านใบสมัคร ได้รู้จักกัน ในช่วงการมาฟังชี้แจงโครงการ และให้ช่วงนี้เอง เป็นช่วงของการเรียนรู้เรื่องงานพัฒนา เพราะเราได้เชิญองค์กรที่ต้องการรับอาสาสมัครมาเล่าถึงงานขององค์กร โครงการที่จะให้อาสาสมัครไปทำ ซึ่งมีหลากหลายประเด็น นับว่าเป็นห้องเรียนใหญ่ ผู้สมัครเมื่อคุ้นเคยกัน ความเป็นเพื่อนเริ่มเกิด ความเป็นมิตรมีมากขึ้น มีความผ่อนคลาย กลายเป็นเรื่องยินดีที่เพื่อนได้โครงการ และยอมรับได้เมื่อตนเองพลาดหวัง

อาสาสมัคร ทำอะไร ที่ไหน กับใคร

ก่อนที่จะมีกระบวนการคัดเลือกอาสาสมัคร ในแต่ละปี มอส.จะเชิญชวน และประสานความเข้าใจไปยังองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่ต้องการรับอาสาสมัครไปปฏิบัติงาน เราจะร่วมกันสร้างคนหนุ่มสาว ให้กับงานพัฒนาสังคม องค์กรจะกรอกแบบฟอร์ม ข้อมูลขององค์กร งานที่ให้อาสาสมัครไปทำคืออะไร มีวัตถุประสงค์ กระบวนการทำงานอย่างไร จนไปถึงว่าจะร่วมกันจ่ายค่ายังชีพให้อาสาสมัครอย่างไร โดย มอส.จะให้องค์กรจ่ายมากกว่าคือ 80 หรือ 100 เปอร์เซ็นต์

มอส.มีหลักการสำคัญสำหรับองค์กรที่เราจะส่งอาสาสมัครให้คือ
1. มีเป้าหมายในการทำงานเพื่อความเป็นธรรมและสันติ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และเสริมสร้างพลังของผู้ด้อยโอกาส
2. มีการมอบหมายงานที่ให้อาสาสมัครทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย หรือคลุกคลีกับประเด็นปัญหาอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ของเวลาการทำงาน
3. มีความพร้อมที่จะให้อาสาสมัครทำงานได้จนครบวาระ
4. มีพี่เลี้ยงดูแล เสริมสร้างการเรียนรู้ ให้คำปรึกษาในการทำงาน
องค์กรที่รับอาสาสมัครจะมีความหลากหลายในประเด็นการทำงาน อาทิ ประเด็นด้านเด็ก สตรี สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร แรงงาน งานชุมชนชนบท ชุมชนเมือง สิทธิมนุษยชน ฯลฯ พื้นที่การทำงานขององค์กรเหล่านี้มีทั้งในเมือง ต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยในแต่ละปี มอส.จะรับอาสาสมัครได้ ปีละประมาณ 20-25 คน

1-126

ประเภทของอาสาสมัคร

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึง ปี 2549 มอส. รับคนหนุ่มสาวทุกปี ปีละ 1 รุ่น เรียกว่า อาสาสมัครนักพัฒนา มีวาระการทำงาน 2 ปี เต็ม รวม 28 รุ่น รับผู้สมัครไม่จำกัดสาขา วุฒิการศึกษาขั้นต่ำ คือ ม.6 อายุ 20-30 ปี

ในปี 2549 มอส. ได้เริ่มและพัฒนาโครงการ อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ชาวบ้านถูกจับในกรณีที่เข้าไปทำกินในที่ดินรกร้าง และขาดแคลนทนายความ นักกฎหมาย ที่จะช่วยคดี รวมทั้งพิจารณาว่าปัญหาการละเมิดสิทธิฯมีในทุกประเด็น อาทิ ประเด็นการค้ามนุษย์ แรงงาน ผู้หญิง สัญชาติฯ ดังนั้นการสร้างนักกฎหมาย จะทำงานเพื่อประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงถูกออกแบบเพื่อรับเฉพาะผู้ที่จบด้านกฎหมายเข้ามาเป็นอาสาสมัครในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ ระยะเวลา 1 ปีเต็ม

มอส.ดำเนินการโครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาถึงรุ่น 7

สำหรับรุ่นที่ 8 (ปี 2556) มอส.เปิดกว้างรับอาสาสมัครที่จบในสาขาอื่นๆ เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เราเรียกว่า “อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน”

ในปี 2552-2554 โครงการ ครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก เกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างบุคคลากร ให้กับองค์กร/ กลุ่มที่ทำงานประเด็นด้านการศึกษาทางเลือก

ปี 2553-2554 โครงการ “เสริมสร้างอาสาสมัครเพื่องานเยาวชน” เป็นการเสริมสร้างบุคคลากรที่ทำงานเสริมสร้างเยาวชน โดยองค์กรส่งคนเข้ามาร่วมกระบวนการเรียนรู้ 1 ปี

ความมุ่งหวังของการเสริมสร้างอาสาสมัคร

ความมุ่งหวังของการการเสริมสร้างอาสาสมัคร คือ การให้เขาไปเป็นบุคลากรที่เข้มแข็งของงาน
พัฒนาในองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อสานต่อกระบวนการแก้ปัญหาสังคมให้ต่อเนื่อง แต่มีความเชื่อมั่นว่าถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำงานต่อเนื่องในฐานะนักพัฒนาสังคม ประสบการณ์ การเรียนรู้ในช่วงที่เป็นอาสาสมัคร จะก่ออุดมคติในการทำงานเพื่อสังคมและสามารถสร้างสรรค์เพื่อสังคม ในจุดที่เขายืนอยู่ได้

การเรียนรู้ ของอาสาสมัคร

“มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นเสมือนหน้าต่างที่เปิดโลกการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองของคนหนุ่มสาวและสังคมไทยไปพร้อมๆ กัน กระบวนการทำงานร่วมกับประชาชนระดับรากหญ้าที่ขาดโอกาส ขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตและทิศทางการพัฒนาสังคมของตนเอง คือกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาจิตสำนึก/จิตวิญญาณด้านในของตนเองที่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรม สังคมแห่งความสมานฉันท์ แบ่งปัน เกื้อกูลและยั่งยืน สิบกว่าปีของชีวิตการทำงานพัฒนาสังคมไม่ใช่การเสียสละ แต่เป็นภาระหน้าที่รับผิดชอบที่คนไทยทุกคนต้องมีต่อสังคม ขอขอบคุณ มอส.ที่ให้โอกาสและได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์จิตสำนึกแห่งการรับใช้สังคมในใจฉันให้งอกงามแข็งแรงไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคและแรงปะทะที่ไหลบ่าของกระแสวัตถุนิยมในวันนี้ และมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์อีกโลกหนึ่งให้เป็นไปได้”
นันทวัน หาญดี อาสาสมัครรุ่น 7

ข้อความดังกล่าวข้างต้นสะท้อนการเรียนรู้ที่เกิดในช่วงการเป็นอาสาสมัครที่ส่งผลยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน นันทวัน ยังเป็นนักพัฒนาที่ยังคงมุ่งมั่นทำงานในชนบทจนถึงทุกวันนี้

แล้วการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร?

การเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติงาน

เมื่อทั้งองค์กรได้อาสาสมัคร และผู้สมัครก็ได้เป็นอาสาสมัคร เส้นทางการเรียนรู้ได้เริ่มขึ้น องค์กร เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่สำคัญ อาสาสมัครได้บ่มเพาะการเรียนรู้ จากการทำงานกับผู้ขาดโอกาส ทำงานคลุกคลีกับประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ไข อาสาสมัครจะเรียนรู้ ได้ด้วยตนเอง จากการเห็นจริง รู้สึกจริง ประสบการณ์เหล่านี้จะฝังลึกลงในจิตใจ ดังที่ อัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์ อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รุ่นที่ 1 ของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา กล่าวว่า

“ครั้งแรกที่มีโอกาสได้ลงพื้นที่ในหมู่บ้านเฮโก จังหวัดเชียงรายเพื่อไปแจ้งแม่เฒ่าให้รู้ว่าหลานชายของแม่เฒ่าได้รับอนุมัติสัญชาติไทย หลังจากที่แม่เฒ่าทราบ น้ำตาแห่งความปลื้มปิติก็ไหลรินเต็มตาทั้งสองข้าง คงจะเป็นน้ำตาที่แม่เฒ่ารอมานาน แม้ว่าคนที่ได้รับสัญชาติไทยจะเป็นหลานชายก็ตามที น้ำตาของแม่เฒ่านี้ทำให้คนมองอย่างฉันเห็นความสำคัญของบัตรประชาชนขึ้นมาในทันทีว่า มันมีค่ามีความสำคัญมากเพียงใด และเมื่อใดที่ฉันทำงานหนัก เครียด หรือรู้สึกท้อแท้กับงาน ฉันจะนึกถึงภาพแม่เฒ่าผู้นี้ร้องไห้ มันทำให้ฉันมีแรงขึ้นมาอีกครั้ง”

3-128 (2)

การเรียนรู้จากกระบวนการฝึกอบรม-สัมมนา

ในระยะเวลา 1 -2 ปี มอส.จัดการฝึกอบรม-สัมมนา เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และศักยภาพใน
การทำงานเพื่อสังคม มอส.มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาใน 4 ด้าน ด้านการคิด วิเคราะห์ (หัว ) ด้านทักษะการปฏิบัติงาน (มือ) ด้านความมุ่งมั่น ความเข้มแข็ง พลังด้านใน การหล่อหลอมอุดมคติในการทำงานเพื่อสังคม (ใจ) และด้านการสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตร ความเป็นมิตรก่อให้เกิดการเรียนรู้จากเพื่อนๆ อาสาสมัคร ที่มาจากหลากหลายที่ หลายประสบการณ์ชีวิต แต่มารวมเป็นอาสาสมัครรุ่นเดียวกัน มีวัยใกล้เคียงกัน จุดมุ่งหมายเดียวกัน มิตรภาพจึงเกิดขึ้น พวกเขาจึงแลกเปลี่ยนทุกข์ สุข ให้กำลังใจ ให้ข้อคิดแก่กัน รวมทั้งหนุนช่วยงานกันและกันได้ทุกครั้งของการสัมมนา เพื่อนๆ จะเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญ ในการมาร่วมสัมมนา และเมื่อครบวาระแล้ว ความเป็นเพื่อนยังคงอยู่มั่นคง และเป็นส่วนให้ขบวนงานพัฒนาในประเด็นต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันอย่างมีพลัง เมื่อเขายังปักหลักทำงานในฐานะนักพัฒนาในองค์กรพัฒนาเอกชน

ในรอบ 1-2 ปี มอส.จัดกระบวนการฝึกอบรมดังต่อไปนี้
1. การปฐมนิเทศ ก่อนปฏิบัติงาน
2. การสัมมนาระหว่างการปฏิบัติงาน
3. การสัมมนาเมื่อสิ้นสุดวาระการทำงาน

หลักคิดสำคัญในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ คือ การเสริมเรื่องหัว มือ ใจ และการสร้างกัลยาณมิตร หลักคิดนี้จะถูกนำมาออกแบบในกระบวนการฝึกอบรม สัมมนา ให้สอดคล้องกับงาน สถานการณ์สังคม และสถานการณ์ของอาสาสมัคร ทั้งเรื่องประวัติพื้นฐาน ความสนใจ และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากอาสาสมัคร เป็นอีกหลักการหนึ่งที่นำมาใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ของอาสาสมัครเองที่จะช่วยกันสร้างสรรค์การเรียนรู้ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ มอส.

4-132

การปฐมนิเทศ

เป็นจุดเริ่มต้น การเรียนรู้เนื้อหาจึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ สร้างเป้าหมาย สร้างพลังกลุ่ม สร้างความเข้าใจในสถานการณ์สังคมและวิเคราะห์สาเหตุ แนวคิดงานพัฒนา การเรียนรู้ประสบการณ์การใช้ชีวิต และการแก้ปัญหาจากรุ่นพี่

การสัมมนาระหว่างการปฏิบัติงาน ประมาณ 4 เดือน/ ครั้ง ๆ ละ 4-5 วัน

เมื่อกลับมาเจอกัน เป็นวาระของการทบทวน การสรุปบทเรียนชีวิต การทำงาน แลกเปลี่ยนทุกข์สุข และการเรียนรู้สังคมจากประสบการณ์จริงของแต่ละคนที่ทำงานในองค์กรต่างๆ จะเป็นห้องเรียนใหญ่ให้ได้วิเคราะห์ปัญหาสังคมที่มีหลากเรื่อง หลายประเด็น ช่วยกันมองให้ลึกไปถึงสาเหตุ รากเหง้าของปัญหา การแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “งาน ความคิด ชีวิต จิตใจ” เป็นหัวข้อหนึ่งของการสัมมนาระหว่างการปฏิบัติงานทุกครั้ง เรื่องการเสริมข้อมูลนั้นจะจัดให้สอดคล้องกับประเด็นการทำงาน สถานการณ์สังคม ความสนใจ การเสริมสร้างทักษะที่ มอส. มุ่งเน้นคือ การทำรายงานการศึกษาที่เขาจะต้องคิดตั้งแต่หัวข้อ เค้าโครง การศึกษาข้อมูล การวิเคราะห์ การเขียน การสื่อสาร และการนำเสนอ

โปรดติดตามตอนที่ 2 สัปดาห์หน้า

หมายเหตุ บทความนี้ตีพิมพ์แล้วในหนังสือ “เส้นทางการเรียนรู้โลกและสังคมด้วยจิตอาสา” หนังสือประกอบงาน “มหกรรมจิตอาสาในสถานการศึกษา Education Volunteer Expo 2013-2014 ติดตามรายละเอียดได้ที่ FB เพจ มหกรรมจิตอาสาในสถาบันการศึกษาก้าวสู่ปี 2

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish