กฤต  แสงสุรินทร์  :  เขียน

ในยุคนี้เราอาจไม่ได้เห็นผู้คนออกมาชุมนุมกันบนท้องถนนอย่างล้นหลามคึกครื้นเหมือนที่เคยได้เห็นกันในภาพประวัติศาสตร์ แต่เราอาจเห็นผู้คนออกมารวมตัวกันบ้างบางครั้งคราว บางกิจกรรม เพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมืองของตน  บ้างตรงไปตรงมา  บ้างอาศัยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์  ล้วนแล้วแต่เพื่อสื่อสารถึงความอัดอั้นตันใจและไม่พอใจกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่  แต่อย่างที่รู้กันว่าการแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมืองในยุครัฐบาลทหารไม่สามารถทำได้อย่างตรงไปตรงมาได้หรืออาจทำได้บ้างแต่ก็คงไม่ปลอดภัยนัก

 หากจะถือว่าการแสดงออกทางการเมืองนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย  บ้างครั้งราคาของการแสดงออกก็แพงจนน่ากลัวว่าไม่อาจจ่ายได้ไหว  และมันยิ่งแพงขึ้นไปอีกหากนั่นคือการแสดงออกในยุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่การปิดกั้นการแสดงออกไม่ใช่เพียงแค่การข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ  แต่ยังมีการปิดกั้นโดยใช้อำนาจทางกฎหมาย  การแสดงออกทางการเมืองจึงไม่ได้มีราคาความเสี่ยงเพียงแค่การถูกข่มขู่คุกคาม แต่อาจหนักไปถึงการถูกคุมขัง ดำเนินคดีทางกฎหมาย หรืออาจมากกว่านั้น

เป็นธรรมดาเมื่อเราเจอของที่มีราคาแพงมากๆเราอาจจะต้องตัดใจและรอให้ราคาถูกลงกว่านี้แล้วค่อยซื้อมันก็ได้ แต่ของบางอย่างแม้เวลาจะผ่านไปหลายปีก็ไม่มีวี่แววว่าจะลดราคาลงมาเลย และแน่นอนว่าหากเปรียบของสิ่งนั้นเป็นเสรีภาพ สำหรับบางคน เสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของความเป็นมนุษย์ การรอคอยอย่างไม่มีจุดหมายที่ชัดเจนคงไม่ใช่ทางเลือกที่ตรงใจนัก

เมื่อใจมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องซื้อ  วิธีการที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการมองหาส่วนลด  และคูปองส่วนลดที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่งคือ งานศิลปะ

“พล็อต-คุณภัทร คะชะนา” อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 14 แห่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าว่าเขาได้พบเห็นงานศิลปะที่ถูกใช้เพื่อสะท้อนความคิดทางการเมืองโดดเด่นขึ้นมาในช่วงที่เขาเข้ามหาวิทยาลัย  หรือในแง่หนึ่งคือช่วงหลังรัฐประหาร ทั้งภาพถ่ายเหตุการณ์ ภาพวาดบนผนังกำแพง โปสเตอร์รณรงค์ ดนตรีเสียดสี หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ “ในบรรยากาศของรัฐประหาร มันอาจเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้หลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีหรือมีความเสี่ยงที่น้อยกว่า การนำเสนอมุมมองทางการเมืองผ่านภาพบางภาพ แล้วให้ผู้เสพตีความเอาเองว่าภาพนั้นต้องการสื่อสารอะไร มันอาจเป็นการนำเสนอแนวคิดในทางอ้อมเพื่อให้คนเสพได้คิดตามด้วย และเพื่ออ้อมหนีจากกฎหมายที่ปิดปากเราอยู่ ไปสู่พื้นที่ของศิลปะแทน”

บางครั้งบางทีศิลปะอาจพาผู้ชมไปได้ไกลกว่าที่ผู้สร้างผลงานต้องการจะสื่อสารเสียอีก “คนผลิตงานอาจจะอยากสื่อสารแบบหนึ่ง แต่ผู้เสพผลงานอาจจะคิดต่างจากนั้นก็ได้  ไม่จำเป็นต้องตรงกับสิ่งที่ต้องการสื่อสารก็ได้  อาจต่อยอดไปอีกก็ได้  หรือจะวิพากษ์วิจารณ์งานชิ้นนั้นก็ได้ คิดว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องมองเหมือนกัน  สิ่งที่ผมชอบคือมันเปิดอิสระในการคิดด้วย ถ้าเป็นศิลปะทางการเมืองมันก็จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่างแฝงอยู่  ก็อาจจะเป็นคนที่มีอุดมการณ์ไปในทางเดียวกันจึงจะอินกับมัน แต่ก็ไม่ใช่ว่ามุมมองจะเหมือนกันหมด” พล็อตกล่าวเสริมในประโยคต่อมา

ในแง่มุมหนึ่ง งานศิลปะก็ทำให้สิ่งที่ต้องการสื่อสารลดระดับความดุเดือดลงมาจากการพูดตรงๆได้อยู่พอสมควร  ในแง่นี้สิ่งที่ขาดหายไปอาจหมายถึงความตรงไปตรงมา ดุดัน และอารมณ์ร้อนแรงที่การสื่อสารผ่านวิธีการพูดออกมาตรงๆนั้นทำได้อย่างชัดเจนกว่า แต่ด้วยเหตุผลเดียวกันนั้นงานศิลปะจึงพร้อมเป็นพื้นที่ที่นุ่มนวล ดูปลอดภัย และน่าเข้าหามากกว่า การพูดตรงๆมันก็ทำให้เรารับรู้ได้อยู่แล้ว แต่ศิลปะมันทำให้เราได้คิด อาจจะคิดได้หลากหลายกว่าที่งานนั้นตั้งใจจะสื่อสารอีก เป็นข้อดีว่าไม่ต้องพูดตรงๆเราก็เข้าใจมันได้  งานศิลปะจึงทำให้คนตรงกลางที่ไม่ได้อินกับฝั่งใดฝั่งหนึ่งมาก สามารถเข้ามาสัมผัสกับเรื่องราวนั้นได้ง่ายขึ้น เมื่อมองไปถึงประเด็นการสื่อสารกับคนตรงกลางที่ไม่ได้ให้น้ำหนักไปที่ขั้วการเมืองใดเป็นพิเศษ  พล็อตกลับมองว่านั่นเป็นข้อดีที่งานศิลปะจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เป็นการนำเสนอแนวคิดทางการเมืองอย่างไม่ยัดเยียดและเปิดโอกาสให้กับทุกมุมมองความคิด  ซึ่งในปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นที่ปลอดภัยตรงกลางที่แต่ละคนสามารถแชร์ความคิดเห็นร่วมกันได้ และงานศิลปะก็ตอบโจทย์ตรงนั้น

หากพูดถึงการสร้างพื้นที่ของงานศิลปะเพื่อแสดงออกทางการเมือง  ศิลปะบางอย่างก็อาจยังมีข้อจำกัดของการเข้าถึงยากเฉพาะตัวที่ส่งผลให้งานศิลปะไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อาจเพราะมันเป็นพื้นที่ศิลปะนั่นแหละ คนอาจจะมองว่ามันเป็นพื้นที่ไกลตัว ห่างไกล เป็นเรื่องของศิลปิน เป็นของคนที่มีความรู้ด้านศิลปะ หรือเป็นของคนที่ชอบดูหนัง ชอบฟังเพลงบ่อยๆ ศิลปะอาจมีข้อจำกัดตรงนี้ ตรงมุมมองของสังคมที่ว่าศิลปะมันเข้าถึงยาก อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ถูกสอนว่าศิลปะเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเฉพาะของศิลปิน หรือของผู้ผลิตงาน จริงๆ แล้วศิลปะมันก็ไม่ใช่สิ่งที่สูงส่งยิ่งใหญ่ แต่มันคือสิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิตเรา”  ในประเด็นนี้พล็อตเสนอถึงสิ่งที่อาจเป็นข้อจำกัดในการใช้งานศิลปะเพื่อสื่อสารและแสดงออกทางการเมือง ซึ่งน่าสนใจว่าศิลปะไม่เคยถูกสอนว่าเป็นเรื่องของคนทุกคนแต่ถูกบอกว่าเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม  ในบางแง่ศิลปะกลายเป็นเรื่องที่อยู่ห่างไกลกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วไป  ศิลปะที่จะสื่อสารได้ดี  อาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องมาเพ่งมองเพื่อสัมผัสความลึกซึ้งในอารมณ์  แต่อาจต้องเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ทั่วไป  เข้าใจได้อย่างทั่วไป  เพื่อให้มันสามารถทำงานทางความคิดกับคนได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นงานศิลปะนั้นคือคูปองลดราคาความเสี่ยงของการแสดงออกทางการเมือง  และในความเป็นจริงงานศิลปะก็เป็นมากไปกว่านั้น  เป็นทั้งการบันทึกประวัติศาสตร์  เป็นทั้งการเปิดพื้นที่ทางความคิด  เป็นทั้งการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน  และเหนือสิ่งอื่นใดการใช้งานศิลปะเพื่อสะท้อนความเป็นจริงของสังคมนั้น  ย่อมเป็นการทำศิลปะให้เป็นสิ่งสามัญ  เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนทุกชนชั้นสามารถเอื้อมมือไปถึงได้อย่างทั่วกัน

——————

พล็อต-คุณภัทร คะชะนา คนรุ่นใหม่ในสายงานนักพัฒนา อายุ 24 ปี เกิดที่กรุงเทพฯ แต่ไปโตที่ราชบุรีแล้วย้ายกลับมาเป็นพลเมืองกรุงเทพฯ เมืองฟ้าตอนอนุบาลสามและอยู่ยาวๆ ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน” 

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish