การเดินทางข้ามประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน ทั้งการส่งคนรุ่นใหม่จากไทยไปจีน และการส่งคนรุ่นใหม่จากจีนเข้ามาเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในไทย มีเป้าหมายคือการนำบทเรียนและประสบการณ์ที่ได้จากต่างแดนกลับไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตน หากมีการเตรียมพร้อมทั้งสองฝ่าย ทรัพยากรพร้อม คนพร้อมก็สามารถทำได้ไม่ยากเลย ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้น
ราวๆ ปีครึ่งที่ผ่านมาทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อโควิด-19 ส่งผลให้ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤต ทุกหน่วยงานต้องปรับตัวเพื่อเดินหน้า เช่นเดียวกัน “โครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์คนรุ่นใหม่กลับบ้านไทย-จีน” ที่เคยวางแผนไว้ก็ต้องปรับตามสถานการณ์เช่นกัน จากการเดินทางเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบตัวต่อตัว ต้องปรับโหมดเข้าสู่การแลกเปลี่ยนออนไลน์ ซึ่งถือเป็นข้อท้าทายและแบบทดสอบอีกบทหนึ่งของทีมงาน
เนื้อหาเวทีจะเน้นที่การนำเสนอบทเรียน-ประสบการณ์การกลับบ้านของคนรุ่นใหม่เพื่อตอบโจทย์ “การอยู่รอดและอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุขอย่างไร” รอบนี้เป็นการจัดครั้งที่ 2 มีวิทยากรที่ร่วมแลกเปลี่ยนหลักคือ “วัฒน์ – วัฒนา ทรงพรไพศาล” อาสาคืนถิ่น รุ่น 2 และปัจจุบันวัฒน์อยู่ในสถานะของ “พ่อหลวง(ผู้ใหญ่บ้าน)” ของชุมชนห้วยขมิ้น ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
เนื่องจากในเวทีอาจมีประเด็นอ่อนไหวระหว่างไทย-จีน เวทีจึงถูกจัดเป็นเวทีภายในเท่านั้น แต่บางประเด็นที่วิทยากร(วัฒนา)นำเสนอมีความน่าสนใจ ผู้เขียนจึงอยากสรุปมานำเสนอให้เพื่อนๆได้อ่าน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์สำหรับนำไปเป็นบทเรียนการทำงานหรือประยุกต์ใช้ในชีวิตต่อไป ….ผู้เขียนจะเล่าแบบสรุปเอา/ตีความตามที่เข้าใจบวกกับประสบการณ์ที่ได้เคยสัมภาษณ์วัฒน์ตลอดหลายปีที่รู้จักกันมา ขอให้เพื่อนๆพิจารณาเอาเฉพาะส่วนที่คิดว่านำไปใช้ประโยชน์ได้ก็พอ
“เราต้องนำพาตัวเราเข้าไปหาโอกาสเพื่อให้ทำประโยชน์ได้มากกว่าเดิม”
ผู้เขียนจำประโยคนี้ที่วัฒน์เคยเล่าให้ฟังเมื่อ 2-3 ปีก่อน และในเวทีออนไลน์ที่ผ่านมาวัฒน์ยังมีจุดยืนไม่ต่างจากเดิม ซึ่งนัยยะที่วัฒน์ต้องการบอกก็คือ การนำพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานะของ “พ่อหลวง” ของชุมชนห้วยขมิ้น ตั้งแต่วันสวมหมวกพ่อหลวงวันแรกจนถึงวันนี้ เป้าหมายของวัฒน์ยังคงชัดเจนเช่นเดิมนั่นคือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สถานะไหน วัฒน์ก็คือผู้ทำประโยชน์ ทำงานอาสาให้กับชุมชน ให้กับสังคมเช่นเดิม ก่อนหน้านี้วัฒน์คิดแค่ว่าการมีชีวิตแบบธรรดาๆ ไม่ต้องมียศมีตำแหน่งอะไรก็สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ ซึ่งมันก็จริง แต่เมื่อเทียบกับสถานะของ “พ่อหลวง” แล้ว พ่อหลวงสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆได้มากขึ้น เมื่อเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น ก็จะมีโอกาสนำทรัพยากรเหล่านั้นมาสร้างสรรค์สังคมได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกว่า ทำไมวัฒน์จึงตัดสินใจนำพาตัวเองเข้าไปหาโอกาสนั้น และนี่จึงเป็นที่มาที่ไปของหัวข้อการจัดเวทีออนไลน์ “ความสัมพันธ์ของชุมชนกับรัฐท้องถิ่น” ในรอบนี้
“อาสาคืนถิ่น คือกำไรชีวิต”
วัฒน์เริ่มนำเสนอจากการย้อนกลับไปเล่าถึงช่วงที่ตัดสินใจสมัครเข้าร่วม “โครงการอาสาคืนถิ่น รุ่น 2” ซึ่งถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ได้รู้จักเพื่อนๆร่วมอุดมการณ์เดียวกัน คิดคล้ายๆกัน มีมุมมองคล้ายๆกันที่อยากนำความรู้ บทเรียนและประสบการณ์ที่ได้จากโครงการไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเอง วัฒน์ได้รู้จักคนรุ่นใหม่นอกชุมชนบ้านเกิด ได้แลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิดใหม่ๆ จากเพื่อนใหม่ๆต่างภูมิภาค ได้รู้จักเพื่อนๆที่ไม่ใช่คนไทย และที่แน่ๆคือได้รู้ ได้เห็นมุมมองจากเพื่อนรุ่นใหม่ในจีนอีกด้วย
วัฒน์เล่าว่า “อาสาคืนถิ่น” ทำให้วัฒน์ได้รับประสบการณ์เต็มๆ กลับไปหมู่บ้าน การออกมาทำงาน/ประสานความร่วมมือกับคนนอกชุมชนบ่อยครั้ง ทำให้คนในชุมชนเริ่มเห็นบทบาทและผลักดันให้วัฒน์ได้เข้าสู่บทบาทใหม่คือ “พ่อหลวง” ของชุมชนห้วยขมิ้นในปัจจุบัน
“ทำน้อยๆ แต่เน้นให้มีคุณภาพ”
เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่วัฒน์ยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนเพื่อชี้ให้เห็นถึงการสร้างฐานอาหารที่ไม่ใช่แค่การปลูกเพื่อให้มีอาหารกินอย่างเพียงพอตลอดปีเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงการมีอาหารที่ปลอดภัย ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศรัตรูพืชเจือปน นั่นจึงจะพูดได้เต็มปากว่า “มันคือความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง”
“อยู่รอด อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข”
คำๆนี้ถือเป็นหัวใจหลักของ “โครงการอาสาคืนถิ่น” เลยทีเดียว จะเห็นได้จากมุมมองที่วัฒน์ให้เล่าให้ฟังในเวทีว่า วัฒน์ทำทุกอย่างที่เขาเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับชุมชนบ้านเกิด ทำทุกอย่างที่วัฒน์รู้สึกว่าทำแล้วมีความสุข สนุกกับการที่ได้ลงมือทำ นับตั้งแต่การรวมกลุ่มเด็กๆ ในหมู่บ้านตั้งทีมฟุตบอลเพื่อลงเตะแข่งขัน การร่วมกลุ่มคนรุ่นใหม่ทำงานทางความความคิด การรวมกลุ่มเกษตรอินทรีย์ การรวมกลุ่มเอาแรง/เอามื้อ(แลกเปลี่ยนแรงงาน)ในแปลงนา การรวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น กาแฟออร์แกนิค พลับออร์แกนิค ปลูกสตรอเบอร์รี่ออร์แกนิค ผักออร์แกนิคส่งขายให้กับผู้บริโภคนอกชุมชน ฯ วัฒน์มองว่าเมื่อลงมือทำตัวเขาเองก็มีความสุข ชุมชนก็มีความสุข คนในชุมชนมีความสุขก็จะส่งมอบความสุขให้กับคนอื่นๆทั้งในและนอกชุมชนต่อๆกันไป
“ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนคือศูนย์รวมของหลายๆ อย่าง”
เมื่อจังหวะโอกาสมาถึง วัฒน์ได้ชวนคนในชุมชนสร้างศาลาเอนกประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์หลายๆอย่าง เช่น เป็นศูนย์ข้อมูล เป็นศุนย์การเรียนรู้ จัดกิจกรรม งานบุญประจำปี หรือกระทั่งเป็นสถานที่รับส่งและแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร
ที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนที่วัฒน์ได้หยิบยกขึ้นมานำเสนอ(ที่ผู้เขียนจับความได้) กับเพื่อนไทย-จีน ในเวทีออนไลน์รอบนี้ หวังว่าสิ่งที่วัฒน์ได้นำเสนอและสิ่งที่ผู้เขียนจับความได้จะเป็นประโยชน์สำหรับบางมุม บางแง่คิดให้ผู้อ่านได้นำกลับไปเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตหรือเป็นแนวทางในการทำงานสร้างสรรค์สังคมร่วมกันต่อไป
ขอบคุณพื้นที่แลกเปลี่ยนดีๆ บนโลกออนไลน์ที่ทำให้เรายังสามารถจัดสรร จัดการให้คนรุ่นใหม่ไทย-จีนกลับบ้านได้แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน แม้ยามวิกฤตโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบแต่อย่างใด ขอบคุณโครงการอาสาคืนถิ่น ขอบคุณมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) ขอบคุณวิทยาลัยบริหารศาสตร์ ม.แม่โจ้ ขอบคุณ Sources for Action ที่ร่วมกันบริหารจัดการจนเกิดเวทีออนไลน์ครั้งขึ้น …..มีโอกาสแล้วพบกันใหม่
……..
มี เท ซิง : เขียน