“ในหมู่บ้านมีความไม่เป็นธรรม และความไม่เป็นธรรม คือ ครูที่สอนอาสาสมัครให้พยายามเรียนรู้ทุกอย่าง”

ฟังความคิดของหลิน ซึ่งอาร์ท สรศักดิ์ ช้างสีทอง น้องนักศึกษาฝึกงานที่มอส.เป็นผู้สัมภาษณ์

 

10966826_929053440452078_425536289_n

ชื่อหลิน – นิภาวรรณ แก้วสันทิพย์ เป็นอาสาสมัครนัก สิทธิรุ่น 9 [รุ่นปัจจุบัน ซึ่งหมดวาระกรกฎาคม 58] ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ประจำที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ทำงานรวมกลุ่มชาวบ้านให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิ์ในการจัดการที่ดินและ ทรัพยากรในชุมชน มีหน้าที่หลักเป็นเจ้าหน้าที่สนามและเจ้าหน้าที่ข้อมูลประจำองค์กร

Q: ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ก่อนจะมาเป็นอาสาสมัคร เราเป็นแค่นักศึกษาคนหนึ่ง ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย แม้จะทำกิจกรรมนักศึกษา แต่มันไม่ได้เห็นอะไรที่มันกว้างนัก อาจจะมีกรอบด้วย คิดว่าการศึกษาบ้านเรามีกรอบทำให้เหมือนความคิดบางอย่างยังแคบอยู่ในใต้กรอบ นั้น หลังจากที่เข้ามาทำงาน การลงไปเจอไปสัมผัสกับพื้นที่กับปัญหาจริงๆ มันทำให้เห็นความไม่เป็นธรรม เห็นอะไรหลายๆ อย่างในสังคม มันก็ทำให้เรากระตุ้นตัวเองให้มีความพยายามที่จะเรียนรู้ทุกอย่าง พยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เหมือนเปลี่ยนวิธีคิดและการกระทำ ด้วยการเข้าไปอยู่ร่วมกับปัญหา อยากแก้ไขปัญหา อยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหรือในพื้นที่ที่มีปัญหา

Q: มุมมองความคิดต่อการทำงาน

บทบาทของคนหนุ่มสาวกับปัญหาสังคมมันค่อนข้างสำคัญมากๆ คือ ขอยกตัวอย่างในพื้นที่ที่ตนเองได้ลงไปทำงาน มันเกิดคำถามอย่างหนึ่งว่า คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ต่อสู้เรื่องที่ดินไปแล้ว ถ้าหมดรุ่นเขาไปแล้ว คนรุ่นใหม่หรือคนหนุ่มสาวเขายังจะต้องการที่ดินมาทำเกษตรต่อไหม?

เคยเจอเคสหนึ่งในหมู่บ้านหนึ่งที่เขาให้บทบาทคนหนุ่มสาวเข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่การคิดการตัดสินใจทุกอย่าง เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของเขา ในการที่จะอยู่กับที่ดินของตนเอง มันทำให้เห็นว่ารูปแบบการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ดินมันมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะว่าคนหนุ่มสาวจะมีวิธีคิดใหม่ๆ เพิ่มเติมกับคนรุ่นเก่า และอีกอย่างคือมันทำให้เห็นภาพของความยั่งยืนมากขึ้น เพราะการให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทุกอย่างมันทำให้เขาอยากที่จะ อยู่ตรงนั้น อยากที่จะรักษาที่ดินของบรรพบุรุษต่อ มันก็ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น ก็เลยคิดว่ามันสำคัญมากๆ ที่จะนำพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น

10968289_929053447118744_908351866_n

Q: บทบาทคนหนุ่มคนสาว

สิ่งสำคัญที่ต่างกับคนรุ่นก่อนในเรื่องการทำงานพัฒนาสังคม คือ มันต้องทำให้ปัญหาชาวบ้านเป็นที่รับรู้ของสาธารณะ ซึ่งบทบาทของคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี [ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญในปัจจุบัน] จะช่วยให้งานพัฒนาสังคมของเราเป็นที่รับรู้กว้างขวางขึ้น ทำให้สังคมในวงกว้างเข้าใจมากขึ้นว่า ในพื้นที่แต่ละพื้นที่มันมีปัญหาอะไร ประเด็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อ เพื่อทำให้ปัญหาชาวบ้านมันเป็นสาธารณะจึงเป็นบทบาทที่คนหนุ่มสาวควรให้ความ สำคัญ

Q: หลักคิดต่อชีวิต

ถ้าจะทำชีวิตตนเองให้ดีขึ้น เราก็ต้องย้อนกลับไปถามตนเองว่า “ชีวิตต้องการอะไร” หากเราชัดเจนตรงนี้ก็ “ลงมือทำ” ชีวิตทั้งหมดของเราจะค่อยๆ ชัดเจน และดีขึ้นเอง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish