จากหนังสือเรื่อง “เหตุผลของการมีชีวิตอยู่” ผู้เขียนคือ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์การเดินทางและการทำงานเพื่อสังคมมาจนถึงบทสรุปของชีวิต หนังสือเล่มนี้เสมือนการจุดประกายให้ชีวิตเธอ อีกทั้งโครงการ อส.นักสิทธิ์ก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวเธอไปหลายอย่าง เธอได้รู้จักตัวเองและเรียนรู้วิธีการทำงานหลายอย่างซึ่งเป็นเป็นประสบกาณ์ที่ดีมาก เธอเล่าว่า “ฉันเป็นคนใจร้อน การเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงต้องใช้เวลา และมันไม่สามารถเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ แต่มันเกิดขึ้นจากความพยายามลงมือทำนับตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำได้”
เธอได้เรียนรู้ว่าสิ่งเล็กๆ ที่เธอทำทุกวันๆ นั้นมันมีความสำคัญมาก มันไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่มันเป็นสิ่งเล็กๆ ค่อยๆ เปลี่ยนจากการลงมือทำทุกวันๆ
เธอชอบการฝึกอบรมในช่วงสี่เดือนและแปดเดือนของโครงการฯ เพราะมันเป็นช่วงที่จะได้รับแรงบันดาลใจผ่านการรับฟังเรื่องราวประสบการณ์ของเพื่อน อส.คนอื่นๆ โดยเฉพาะวิธีการจัดการปัญหาจนสำเร็จได้ เธอและเพื่อนๆ บางคนที่เคยตั้งคำถามในใจว่าทำไมเราต้องมาทำอะไรแบบนี้ ทำไมเราไม่กลับบ้านซะ ทำไมเราไม่กลับไปทำงานหาเงิน ความคิดเหล่านี้ก็ค่อยๆ หายไปจากการเข้าร่วมโครงการฯ เธอบอกว่า “แม้เราจะมีภารกิจมากมายจนแทบไม่มีเวลาที่จะคิด แต่เราก็สัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและรับรู้ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นมันสำคัญต่อเราอย่างไร”
โครงการ อส.นักสิทธิ์ทำให้เธอเป็นคนกล้าตัดสินใจมากขึ้น เธอบอกว่า “ฉันคงต้องดื้อแพ่งเพื่อที่จะทำในสิ่งที่ฉันเชื่อ” และเธอก็พบว่าการดื้อแพ่งมันทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ในวิถีของมัน เธอพูดต่อไปว่า “คนเราไม่ควรทำอะไรเพียงเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เราต้องใส่ใจคนรอบข้าง และต้องสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมของเราด้วย” เธอยังบอกอีกว่า “โครงการ อส.นักสิทธิ์ เป็นโครงการที่มีรูปแบบและวิธีการที่ดี เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้เข้ามาค้นหาความหมายของชีวิตนอกเหนือจากสิ่งที่ได้พบเห็นในสังคมทั่วไป” เธอให้ความเห็นว่าโครงการดีๆ แบบนี้ควรจะถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาระดับปริญาตรีด้วยซ้ำ ในส่วนของตัวเธอหวังว่าเธอจะเป็นผู้พิพากษาที่ดีในอนาคต เธอพูดประโยคหนึ่งว่า “ทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมมีความละเอียดอ่อน ในอนาคตไม่ว่าฉันจะเป็นอะไรฉันจะทำมันให้ดีที่สุด”
ในช่วงท้าย เธอเล่าย้อนกลับไปเชื่อมโยงกับเนื้อหาในช่วงแรกว่า เธอช่วยธุรกิจห้างทองของครอบครัวตั้งแต่เธออายุ 13 ปี ในช่วงเวลากลางวันควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือในช่วงกลางคืน พ่อและแม่บอกกับเธอว่า จำเป็นต้องให้เธอช่วยที่ร้านเนื่องจากไม่ไว้ใจให้ใครทำ หลังจากนั้น 6 ปี เมื่อเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งได้เกิดขึ้นกับครอบครัว เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พ่อเธอตัดสินใจเข้ามาพูดบางอย่างกับเธอ เธอเล่าว่า “พ่อต้องการให้ฉันเรียนด้านกฎหมายด้วยเหตุผลที่พ่อถูกเอาเปรียบ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันตัดสินใจไม่ช่วยธุรกิจร้านทองที่บ้าน แล้วมุ่งหน้าเรียนกฎหมาย” เธอตัดสินใจที่จะไม่รับช่วงธุรกิจต่อจากครอบครัวเพราะเธอรู้สึกว่าครอบครัวของเธอฐานะดีพอแล้ว อีกทั้งเธอยังมองว่าความหมายของชีวิตไม่ใช่แค่การสร้างความร่ำรวยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ชีวิตอาสาสมัครเป็นการสร้างโอกาสสำหรับการเรียนรู้ตัวเองที่ยิ่งใหญ่มาก เธอฝากข้อคิดทิ้งท้ายไว้สำหรับ อส.รุ่นต่อไปว่า “คุณไม่ต้องรอ คุณเริ่มต้นได้เดี๋ยวนี้ บางทีคุณอาจจะทำอะไรได้ไม่มากหรอก แต่อย่างน้อยคุณก็ได้ทำอะไรบางอย่าง อย่ากลัวการใช้ชีวิตนอกกระแส เพราะในท้ายที่สุด แม้ชีวิตของ อส.นักสิทธิ์จะสิ้นสุดวาระลง กระแสมันก็จะยังคงดำรงอยู่ของมันเช่นเดิม”
—————————————————
Siza Nepal / สัมภาษณ์
อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง