จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกวันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ทำให้องค์กร Asia Foundation International ได้เล็งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนการทำงานของพวกเขาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ต่อมาเพื่อนรุ่นพี่ของเขาได้เปิดศูนย์ทนายความมุสลิมขึ้นที่จังหวัดยะลา และขยายพื้นที่การทำงานโดยเปิดศูนย์เพิ่มขึ้นอีก 4 ศูนย์ หลังจากเขาและเพื่อนๆ ที่จบการศึกษาจากกรุงเทพฯ ได้กระจายตัวช่วยกันทำงานในพื้นที่ตามศูนย์ต่างๆ เหล่านี้ ปัจจุบันศูนย์ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิแล้วโดยใช้ชื่อว่ามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC)

ปัจจุบันเขาทำงานมากว่า 10 ปีแล้ว เขาเล่าว่า “ช่องโหว่ของคนทำงานในช่วงนั้นก็คือ เรื่องการประสานความร่วมมือกับผู้ได้รับผลกระทบเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา เนื่องจากเป็นช่วงที่มีคดีร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่คนทำงานมีน้อย จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำทุกเรื่องขึ้นสู่ชั้นศาลได้อย่างทันท่วงที” วิธีการในการแก้ไขปัญหาในช่วงนั้นก็คือ การเริ่มฝึกอบรมอาสาสมัคร โดยใช้ศูนย์ทนายและเครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความ (SPAN) เป็นสถานที่จัดฝึกอบรม อาสาสมัครที่ผ่านการอบรมแล้ว จะเป็นผู้ที่คอยช่วยให้คำปรึกษากับผู้ที่เข้ามาร้องทุกข์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และผลกระทบจากกฎหมายต่างๆ ก่อนที่จะมีการนำคดีขึ้นสู่กระบวนการศาล ระหว่างการให้คำปรึกษากับผู้ร้องเรียน SPAN จะทำการติดตามและคอยให้คำแนะนำเป็นระยะๆ เพื่อหาช่องทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้แล้ว ภารกิจของทนายอย่างพวกเขา คือการเข้าไปบริหารจัดการคดีของผู้ที่ได้รับผลกระทบเมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาล

ยอดผู้เสียชีวิตในพื้นที่เพิ่มขึ้นทุกวัน สากีมันบอกว่า “มีหลายคนที่ศาลได้ตัดสินไปแล้วว่าไม่มีความผิด แต่หลังจากนั้นก็ต้องจบชีวิตลงจากการถูกลอบยิง” พวกเขาทำงานกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านี้ ภารกิจที่พวกเขาทำมีทั้งงานเชิงรุกและรับ คือ การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และการทำงานป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้น ภารกิจอันหลัง เป็นการทำงานภาคสนาม คือการลงพื้นที่ฝึกอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมาย กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ถูกนำมาปฏิบัติใช้กับชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้แล้วพวกเขายังประสานงานกับเครือข่ายครูในโรงเรียนและกลุ่มมุสลิม IMAN สากีมันกล่าวว่า “มีผู้นำชุมชนจำนวนมากถูกจับภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา ครูสอนศาสนา และคนอื่นๆ ล้วนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกจับไปแล้วทั้งสิ้น” องค์กรของเขาจึงพยายามทำงานเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวนี้

ภารกิจหลักของสากีมันคือการนำตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบขึ้นสู้คดีในชั้นศาล จากการประมาณการพบว่า ในจำนวนทั้งหมด 1,000 คดี พวกเขาสามารถช่วยได้เพียงแค่ 100 กว่าคดี ดังนั้น เมื่อพวกเขาประเมินการทำงานของตัวเองแล้วจึงเห็นร่วมกันว่าค่อนข้างขาดประสิทธิภาพ นอกจากนี้แล้วพวกเขายังประเมินว่า พวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนแนวคิดฝ่ายรัฐได้ สากีมันเล่าว่า “กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ถูกนำไปใช้ในพื้นที่มีความเข้มข้นมาก มันสามารถเป็นเกราะป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ที่จะเอาผิดกับแม้พวกเขาจะก่อคดีฆ่าคนตายก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์แย่ลงกว่าเดิมมาก เราเพียงต้องการความยุติธรรมเท่านั้น”

เขากล่าวว่าโครงการ อส.นักสิทธิ์ ได้เปิดมุมมองในประเด็นสิทธิมนุษยชนอีกด้านให้กับเขา คุณค่าหลักๆ ของงานด้านสิทธิมนุษยชน เช่น การเคารพความหลากหลาย ประเด็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือประเด็นความเท่าเทียงทางเพศ ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาหรือในตำรากฎหมายของมหาวิทยาลัย เขาบอกว่า “ผมถูกสอนให้หาช่องว่างทางข้อกฎหมาย และหลีกเลี่ยงการมองเพียงช่องทางเดียว” นักกฎหมายส่วนใหญ่จะพยายามมองหาช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อแข่งขันกันให้เป็นผู้ชนะในคดีนั้นๆ แตกต่างจากโครงการนี้ ซึ่งทำให้เขาได้ซึมซับแง่มุมดีๆ อีกด้านของกฎหมายที่ว่า “นักกฎหมายไม่ควรมุ่งแค่เพียงการปฏิบัติใช้ตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ควรที่จะหลอมรวมแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปประยุกต์ใช้สำหรับการทำงานให้ได้ด้วย”

(ติดตามตอนจบ จันทร์หน้า)

—————————————————
Siza Nepal / สัมภาษณ์
อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล / แปล
เมธี สิงห์สู่ถ้ำ / เรียบเรียง

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish