โดย สุภารัตน์ พระโนเรศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาสาสมัครมอส. ซึ่งได้เดินทางไปเป็น Staff Exchange ที่อินเสค INSEC (Informal Sector Service Center) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเก่าแก่ในเนปาล เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ภายใต้โครงการ Fredskorpset [FK Norway]

10888924_10203542949314099_4417851389080342839_n

การเดินทางครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเดินทางไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองระยะยาวที่สุดในชีวิต คือ 11 เดือน ดังนั้นจึงคิดมากพอสมควร ทั้งการเตรียมตัว ความคาดหวังของตัวเองขององค์กร หรือสิ่งที่ต้องพบ

ก้าวแรกที่ถึงน่านฟ้าเนปาล ท้องฟ้าและวิวมันสวยมาก ผู้คนตั้งบ้านเรือนเหมือนรังมดเต็มไปหมด มองได้ทั่วถึงกว้างไกลโดยไม่มีตึกสูงบดบังเหมือนกรุงเทพฯ เพราะรับบาลที่นี่ไม่อนุญาตให้สร้างตึกสูงกว่า 20 ชั้นเพราะโครงสร้างจะเสี่ยงต่อการสูญเสียเมื่อเกิดแผ่นดินไหวและดินสไลด์

พอเดินทางมาถึงสนามบินเนปาล ในกรุงกาฐมาณฑุ อันเป็นเมืองหลวง ก็ไม่ต้องกลัวหลง จงเดินตามผู้โดยสารคนอื่นไปเรื่อยๆ เพราะมีทางออกทางเดียว จากนั้นท่านต้องกรอกเอกสารพร้อมทั้งติดรูปถ่าย 2 นิ้ว พื้นสีฟ้า1 ใบ พร้อมจ่ายค่าธรรมเนียมวีซ่า 25 $ เมื่อเจ้าหน้าที่เขารู้ว่าเราเป็นคนไทยจะได้รับคำทักทายว่า “สวัสดีครับ” กรอกเสร็จท่านจะผ่านด่านไปด้านล่างด้วยบันไดเลื่อนเพื่อรับกระเป๋าซึ่งมีที่เดียว เมื่อได้กระเป๋าแล้วต้องมาตรวจที่เครื่องสแกนอีกครั้งซึ่งรอคิวนานมาก แต่ข้าพเจ้าบังเอิญโชคดีก็ว่าได้ ยามสนามบินคงเห็นงกๆ เงิ่นๆ รอคิวอยู่ จึงถามว่ามาจากกรุงเทพฯใช่ไหม พอตอบว่าใช่ เขาเปิดทางให้โดยไม่ต้องสแกนเลย โอ้เขาต้อนรับคนไทยขนาดนี้เลยเหรอ ไม่คิดว่าคนไทยอาจจะนำสิ่งไม่ดีมาให้ก็ได้ แต่ก็หวังว่าคงไม่มีคนไทยคนไหนที่จะทำลายความเชื่อมั่นที่คนเนปาลมีให้คนไทยหรอกนะ

10947232_10203684895182657_6727364700853449382_n

ในสนามบินเนปาลไม่มีที่ให้นั่ง เราต้องมายืนรอรถด้านนอก ซึ่งอินเสค INSEC (Informal Sector Service Center) จะส่งรถมารับ และในสนามบินเองถึงจะมีร้านกาแฟแต่ไม่มีกาแฟขาย คอกาแฟท่านใดที่คิดว่าจะนั่งชิลๆ ในร้านกาแฟท่านคงผิดหวัง และท่านใดที่จะใช้บริการแท็กซี่สนามบิน ก็ไม่มีคิวหรือบิลให้เหมือนสนามบินสุวรรณภูมิ ถ้าท่านโชคดีอาจจะได้แท็กซี่มิเตอร์ แต่มีน้อยมาก ถ้ามีคนรู้จักโปรดถามราคาตามเส้นทางก่อนไป ท่านจะได้ไม่โดนหลอก เพราะแค่พูดภาษาอังกฤษท่านก็จ่ายแพงกว่าคนเนปาลแล้ว

หลังจากที่ข้าพเจ้ารอรถมากว่า 3 ชั่วโมง จากนั้นต้องฟันฝ่าการจราจรที่แน่นขนัด และฝุ่นคลุ้งจากถนนที่ขรุขระ การจราจรที่นี่ก็คับคั่งต่างคนต่างจะไปไม่ค่อยหลีกทางให้กัน และขับรถเร็วกันมาก ส่วนใหญ่ที่นี่จะใช้มอเตอร์ไซค์คันใหญ่ เพราะพื้นที่ส่วนมากเป็นภูเขา รวมทั้งต้องใช้ในการบรรทุกสิ่งของต่างๆ ที่นี่จะให้คนขับใส่หมวดกันน๊อคที่มีคุณภาพจริงๆ ส่วนคนซ้อนไม่ต้องใส่ ส่วนเสียงแตรรถนี่คุณภาพคับแก้วและกดกันเกือบตลอดเวลา

เรื่องสำคัญคือไฟฟ้าจะตัด 18 ชั่วโมง ไม่ได้มีไฟฟ้าใช้ 24 ชั่วโมงเหมือนเมืองไทย ดังนั้นคนที่นี่จะมีการสำรองไฟฟ้าทั้งหม้อแบตเตอรี่และโซล่าเซล และหลังเวลา 2 ทุ่ม ทุกที่จะเงียบมาก ไม่มีการเดินทางแล้วส่วนใหญ่สมาชิกทุกคนจะอยู่ในบ้าน อีกทั้งไม่มีไฟฟ้าริมถนนตอนกลางคืนจึงน่ากลัวไม่เหมาะต่อการเดินทาง เรื่องน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหลายครอบครัวไม่มีน้ำสะอาดไว้อุปโภคบริโภค ต้องรอซื้อน้ำจากรถที่นำมาขายให้ บางบ้านก็มีบ่อน้ำเป็นของตัวเอง

10419021_10203532342128926_6131459059747318729_n

ทิ้งครกส้มตำไปกินจาปาตี

อาหารวันแรกที่ได้รับการต้อนรับจากเจ้าของบ้าน คือ ผัดมาม่ากับไก่ผัดใส่เครื่องแกง ซึ่งกว่าจะกินเกือบ สามทุ่ม ข้าพเจ้าหิวสุดๆ คนที่นี่ชอบกินชาใส่นมสด ดังนั้นที่นี่จึงไม่ค่อยมีร้านกาแฟ แต่ส่วนมากมักเป็นร้านน้ำชา เวลาน้ำชาจะประมาณ 5 โมงเย็น เขาจะกินชาพร้อมกับ biscuits แม้ว่าท่านไม่ชอบ แต่มาครั้งแรกต้องกินเพราะเป็นน้ำใจ อย่าได้ปฏิเสธเหมือนบ้านเราที่แขกมาถึงเรือนชาน ต้องมีน้ำไว้ต้อนรับ ที่นี่ก็มีชาเป็นของต้อนรับ

อากาศในช่วงที่ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงเป็นช่วงหน้าฝน ฝนตกตลอดทั้งวัน สามวันติดต่อกัน ไม่มีแสงแดดเลย แต่พอเข้าสู่ช่วงต้นฤดูหนาว จะมีสภาพอากาศแบบ 3 ฤดูในวันเดียว คือ หนาวและฝนในตอนเช้าและกลางคืน ร้อนและฝนตอนกลางวัน ทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทันจนไม่สบายไปแล้ว 2 รอบ แสงแดดและลมที่นี่แรงมาก รังสียูวีระดับ 9 คนที่นี่จึงเป็นฝ้าได้ง่ายมาก และที่นี่จะเข้าหน้าหนาวตอนช่วงเดือนตุลาคม และเป็นช่วงไฮซีซั่นที่นักท่องเที่ยวเยอะขึ้น

อาการการกินของคนที่นี่ ชอบใช้น้ำมันเป็นองค์ประกอบหลัก แม้ว่าจะมีน้ำซุปก็ต้องผัดเครื่องก่อนจึงใส่น้ำเปล่าตามลงไป และส่วนใหญ่จะกินผักเป็นหลัก ได้โปรตีนจากนมวัวและโยเกิร์ตที่เขาทำเอง คนที่นี่นับถือศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่อนุญาตให้ฆ่าวัวและมีเนื้อวัวในท้องตลาด แม้แต่เนื้อหมูและปลาก็ยากและมีราคาแพงจนท่านต้องกัดฟันซื้อเมื่ออยากทานสุดๆ ที่นี่จะหาเนื้อไก่และแพะได้ตามท้องตลาด อาหารของคนที่นี่ มีไม่กี่ชนิดและเป็นไปตามฤดูกาล มีมันฝรั่ง หอมแดง เครื่องเทศ แป้งและข้าว ผักตามฤดูกาล หัวผักกาดที่กินกันสดๆ เลย

DSC_0693

เมื่อมีข้อจำกัดก็ทำให้ค้นหาทางออก ข้าพเจ้าเริ่มเพาะถั่วงอกกินเองเพราะที่นี่ไม่มีขาย แต่มีถั่วเขียวที่เขากินกันจึงนำมาเพาะซึ่งประสบความสำเร็จ และที่นี่สามารถผัดกระเพรากินได้เพราะมีใบกระเพรา ซึ่งเขาเอาไว้บูชาแต่เราเอามาผัดกระเพราะอร่อยดี

สำหรับเนปาลยังมีความจำเป็นในการพัฒนาด้านการผลิตสินค้าเกษตรและการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งคนที่นี่มีการใช้ชีวิตตามบรรพบุรุษอย่างมาก ซึ่งบางอย่างเป็นสิ่งที่ดีแต่บางอย่างจำเป็นต้องพัฒนาให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น การเกษตรเพื่อผลิตสู่ท้องตลาด การปรุงอาหารคนที่นี่ไม่รูจักการใช้ถ่าน ไม่มีถ่านขาย เขาจะย่างบนฟืนที่กำลังไหม้อยู่อย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นย่างข้าวโพด แพะ หรืออะไรก็ตามที่ต้องย่าง น่าจะเสี่ยงต่อมะเร็ง

คนที่นี่จะใช้ชีวิตช้าๆ แต่ขับรถไม่ช้า เช่น เวลาเริ่มงานจะเริ่ม 9 โมงเช้า และเลิกงาน 5 โมงเย็น หลังจาก 5 โมงเย็นที่ทำงานจะเงียบมากไม่ค่อยมีคนอยู่ และไม่มีกิจกรรมนอกเวลางานเท่าไหร่ กินข้าวเที่ยงบ่าย 1 โมง บางที่บ่าย 2-3 โมง โดยทั่วไปมีน้ำใจ ไม่น่ากลัว สามารถไปไหนมาไหนคนเดียวได้ในตอนกลางวันแต่ไม่เหมาะตอนกลางคืน

ด้วยความหวังว่าการมาแลกเปลี่ยนครั้งนี้ของข้าพเจ้า จะเห็นมุมมองการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้นและเข้าใจสถานการณ์ในเนปาล จนสามารถนำมาปรับใช้และแบ่งปันประสบการณ์การทำงานแก่คนเนปาลได้บ้าง เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ การสร้างอาสาสสมัครนักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น และวันหลังจะเล่าเรื่องการทำงานของที่นี่ให้ฟัง เอาเท่าที่จำได้ มีคำถามมาก็ได้นะค่ะจะตอบ

1655835_10203289087967724_8728179205457873509_n

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish