“ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของการทำโครงการอาสานักสิทธิมนุษยชน ของมอส. ด้วยเป้าประสงค์อยากสร้างนักสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่ไปทำงานในองค์กรต่างๆ ทางสังคม มอส.มีความพยายามสรุปบทเรียน และถอดกระบวนการเรียนรู้ออกมาเป็นโมเดลในการทำงาน และมีความต้องการเผยแพร่และสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ด้วยเห็นความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงของปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไร้พรมแดนในปัจจุบัน

นี่เป็นงานเขียนชิ้นหนึ่งที่ มอส.พยายามรวบรวมองค์ความรู้ในการทำงาน ด้วยหวังมันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจอยากอ่านอยากศึกษาและนำบทเรียนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย ด้วยการแบ่งข้อเขียนขนาดยาวนี้ออกเป็น 5 ตอนเพื่อความสะดวกในการอ่าน และเพื่อประสิทธิผลในการรับบทเรียนโปรดติดตามอ่านจนจบ”

โดย กรรณิกา ควรขจร มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน  มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

  1. ความเป็นมา แนวคิด เป้าหมาย ลักษณะของโครงการ
  2. การสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาคี
  3. กระบวนการคัดเลือกอาสาสมัคร
  4. กระบวนการฝึกอบรม –สัมมนา
  5. กระบวนการติดตาม
  6. บทสรุปและการก้าวต่อไป

บทที่  ๑ ความเป็นมา แนวคิด เป้าหมาย ลักษณะของโครงการ

ความเป็นมา

โครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งในปี 2549 โดยมีที่มาจากการประชุม ร่วมกันของนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิ นักพัฒนา นักสิทธิมนุษยชน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมซึ่งมีบทบาทในการสร้างอาสาสมัครเต็มเวลาให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์หลักๆ คือ

  1. ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ การประกาศป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ การอพยพคนออกจากป่า  ปัญหาการค้ามนุษย์  แรงงาน ผู้หญิง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐ นายทุน และชาวบ้านในการใช้พื้นที่สร้างโครงการขนาดใหญ่ หรือทำเหมืองแร่ ฯลฯ    ซึ่งต้องการบุคลากรด้านกฎหมายที่เข้าใจหลักการสิทธิมนุษยชนเข้าไปคลี่คลายปัญหาให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
  2. ปัญหาความความขาดแคลนนักกฎหมายที่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งประมาณว่ามีอยู่ไม่เกิน ๒๕ คน ณ ช่วงเวลานั้น เพื่อเข้าไปช่วยคดีที่ชาวบ้านถูกจับ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และบ่อยครั้ง เช่น การถูกฟ้องว่าเข้าไปอยู่ในเขตอนุรักษ์  หรือเข้าทำกินในที่ดินที่มีเจ้าของ ซึ่งในทางกฎหมายถือว่าผิด แต่ในความเป็นจริง ชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่มานาน ก่อนออกกฎหมาย หรือโดยที่เขาก็ไม่รู้ว่าอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์   รวมทั้งคดีละเมิดสิทธิในประเด็นอื่นๆ
  3. การเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ยังขาดคุณภาพในการสร้างนักกฎหมายให้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง    กระบวนการเรียน การสอน ยังเน้นการเรียนรู้ที่ตัวบทกฎหมาย ขาดการวิเคราะห์จากปัญหาจริง    วิชาสิทธิมนุษยชนยังเป็นวิชาเลือกมากกว่าวิชาบังคับ  อาจารย์ที่สอนได้ยังมีน้อยและเป็นการสอนในห้องมากกว่าการให้นักศึกษาลงไปศึกษาในพื้นที่จริง มีความเห็นร่วมว่านักกฎหมายเป็นวิชาชีพที่สำคัญสามารถตัดสินชีวิตคนได้  ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่นักกฎหมายควรได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจสังคม และปัญหาของผู้ขาดโอกาสอย่างแท้จริง

แนวคิด เป้าหมาย : สร้างนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนในระยะยาว สร้างความเป็นธรรมในสังคม

จากการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาดังกล่าว   นำไปสู่การริเริ่มและพัฒนาโครงการที่มีเป้าหมายเสริมสร้างบัณฑิตด้านกฎหมายให้เรียนรู้และปฏิบัติงานแก้ปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน กับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิ   ขณะเดียวกันก็สามารถสนับสนุนการทำงานขององค์กร ที่ต้องการบุคลากรด้านกฎหมาย  และการเสริมสร้างนี้จะช่วยสร้างนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่จะเข้าไปร่วมขบวนการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ และ สร้างความเป็นธรรมในสังคมในระยะยาว

ลักษณะโครงการฯ กลไกในการขับเคลื่อน

โครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงถูกออกแบบให้ มีการรับสมัครผู้ที่จบด้านกฎหมายที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจไปปฏิบัติงาน ในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิฯในประเด็นต่างๆ เป็นระยะเวลา ๑ ปี ในฐานะอาสาสมัครเต็มเวลา   โดยถือว่าการเรียนรู้ในองค์กรเป็น “การเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติงาน” และยังมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นระยะๆระหว่างการปฏิบัติงานเพื่อเสริมความรู้ การวิเคราะห์สถานการณ์ การสรุปบทเรียน การเสริมสร้างพลังใจ อุดมการณ์ในการทำงาน และการสร้างเครือข่ายระหว่างอาสาสมัคร อาสาสมัครจะมีค่ายังชีพรายเดือนจนครบ ๑ ปี และมีเงินสมทบให้เมื่อครบวาระ ค่ายังชีพอาสาสมัครจะเป็นแบ่งจ่ายระหว่างองค์กรที่รับอาสาสมัคร และ มอส.โดยปกติ จะอยู่ในอัตรา 80:20 คือองค์กรจ่าย  80%  มอส. 20%   หรือให้องค์กรจ่าย 100% เลยถ้าเป็นไปได้เพื่อให้มีการแบ่งสัดส่วนไปให้บางองค์กรที่มีงบประมาณจำกัด

กลไกขับเคลื่อนงานคือ คณะกรรมการโครงการฯ ซึ่งประกอบด้วยคณะผู้ก่อตั้งและผู้ที่เชิญมาประมาณ 8-10 คน เพื่อช่วยกำกับทิศทาง ออกแบบหลักสูตร ประเมินผล มอส.เป็นองค์กรเลขา และองค์กรหลักในการพัฒนาโครงการฯหาทุนจากแหล่งต่างๆ และดำเนินงานในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีประสบการณ์เรื่องการเสริมสร้างคนหนุ่มสาวให้ทำงานเพื่อสังคม

กระบวนการทำงาน

มอส.ได้ดำเนินการโครงการฯ มาถึงรุ่นที่ 10 (ปี พ.ศ. 2558) โดยในรุ่นที่ 8-10 มอส.เปิดโอกาสให้คนที่ไม่จบกฎหมายเข้ามาร่วมกับกระบวนการด้วยจึงได้ปรับชื่อเป็น “โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน” ในแต่ละปี จะมีกระบวนการทำงาน ดังนี้

  1. การประสานงานกับองค์กรภาคี ในการเป็นพื้นที่เรียนรู้และปฏิบัติงานของอาสาสมัคร
  2. กระบวนการคัดเลือกอาสาสมัคร โดยมีการประชาสัมพันธ์ และขั้นตอนการคัดเลือก
  3. กระบวนการฝึกอบรม-สัมมนา จำนวน ๔ ครั้ง เป็นการฝึกอบรม-สัมมนาก่อนเริ่มปฏิบัติงาน  ระหว่างการปฏิบัติงาน ๒ ครั้ง และ ครบวาระการปฏิบัติงาน ๑ ปี
  4. กระบวนการติดตาม องค์กร และอาสาสมัครระหว่างการปฏิบัติงาน โดยกระบวนการในรายละเอียดจะกล่าวในบทต่อไป

 

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish