กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ เตรียมชุมนุมใหญ่: โวยราชการลักไก่การเมืองวุ่นวายดันประทานบัตรเหมืองโปแตช

unnamed

เมื่อวันที่ 1 พ.ค.57 ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เขตเหมืองแร่ใต้ดิน โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี จากอำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม กว่า 20 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 300 คน ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่สมาชิกประจำปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นที่ศาลาการเปรียญวัดอรุณธรรมรังสี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี เพื่อรับฟังการชี้แจงกระบวนการติดตามคัดค้านการขออนุญาตประทานบัตรโครงการฯ และสรุปผลการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มในรอบปีที่ผ่านมา จากแกนนำของกลุ่ม

บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยแกนนำจากแต่ละหมู่บ้านได้สลับกันปราศรัยให้ข้อมูลแก่ผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนซักถามของกลุ่มสมาชิกกันอย่างกว้างขวาง ถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายและการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการในท้องถิ่น ตลอดจนแนวทางการเคลื่อนไหวต่อสู้กับโครงการฯ

นางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า การยืนหยัดต่อสู่ของพี่น้องชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ดำเนินมาถึงปีที่ 14 แล้ว ขณะที่ขั้นตอนยังอยู่ระหว่างการขออนุญาตประทานบัตรทำเหมือง โดยรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ของบริษัทเอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก็ได้ผ่านความเห็นชอบจาก คชก.(คณะกรรมการผู้ชำนาญการ) แล้ว ทั้งๆ ที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ติดตามคัดค้านมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่เป็นปัญหา แต่ กพร.(กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) และส่วนราชการในจังหวัดพยายามผลักดัน ให้กระบวนการเดินหน้าเช่น การตั้งคณะกรรมการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียขึ้น เพื่อมาดำเนินการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยตามมาตรา 88/10 ในขั้นตอนประทานบัตร

“กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ไปชุมนุมติดตามผลการคัดค้านการประกาศเขตเหมือง ตามขั้นตอนในกฎหมายแร่ตั้งแต่ปี 55 จนได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ฯ กับ กพร. เพื่อให้มีการศึกษาในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงตามประเด็นร้องเรียนให้ได้ข้อยุติ พร้อมทั้งให้มีการชะลอกระบวนการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยตามมาตรา 88/10 ออกไปก่อน แต่ทั้งนี้ กพร.ได้ละเมิดข้อตกลงและคำสั่งทางปกครอง ดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงจะต้องชุมนุมเพื่อติดตามทวงถาม และหยุดกระบวนการนี้ให้ได้”

w-1

นางมณีกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ทางกลุ่มจะฟ้องเอาผิดต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ทางปกครอง และทางอาญา ตามกฎหมายอาญา มาตรา157 จากการที่สช. ไม่ดำเนินการตามหนังสือร้องเรียนของกลุ่มที่ขอให้ สช.ทำการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตามมาตรา 11 ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 นั้น ขณะนี้เวลาได้ล่วงเลยเกิน 30 วัน ตามที่กลุ่มกำหนดแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นทางการจาก สช. ถึงกลุ่มอนุรักษ์ฯ ดังนั้นทางกลุ่มก็จะดำเนินการในแนวทางตามที่ได้ประกาศร่วมกันกับพี่น้อง

“ช่วงที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้รับการประสานงานผ่านคนที่ใกล้ชิด สช. ซึ่งกลุ่มก็ได้มีข้อเสนอไป 2-3 ประเด็น แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไรอีก และเมื่อเวลาได้ล่วงเลยมาแล้ว กลุ่มก็จะให้ทีมทนายร่างคำฟ้องและนัดหมายวันไปยื่นฟ้องเร็วๆ นี้” นางมณีกล่าว

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ปัจจุบันการเมืองระดับชาติยังมีปัญหา ไม่มีรัฐบาลที่จะมาอนุมัติอนุญาตโครงการ เหมือนอย่างโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่จ.อุดรฯ เนื้อที่มากว่า 10,000 ไร่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน แต่ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐและราชการในพื้นที่กลับเร่งเตรียมการ ดำเนินการในส่วนของขั้นตอนที่เป็นเอกสารทางราชการ และผู้ประกอบการก็อาศัยอำนาจรัฐข่มขู่คุกคามชาวบ้าน

“หลายที่กำลังมีปัญหา เช่น ที่เหมืองแร่ลิกไนต์ จ.ลำปาง กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการ ใช้พื้นที่ ซึ่งชาวบ้านคัดค้านจนต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการยกเลิก ขณะที่เหมืองทองคำ จ.เลย ตอนนี้ก็มีทหาร นักการเมืองท้องถิ่น และคนงานเหมืองเข้าไปข่มขู่ คุกคาม ชาวบ้านเป็นรายวัน จึงอยากให้สังคมช่วยกันจับตาดูปัญหาชาวบ้านในระดับพื้นที่ด้วย เพราะหวั่นเกรงว่าจะเกิดปัญหาความรุนแรงขึ้น” นายสุวิทย์กล่าว

/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/

นายเดชา คำเบ้าเมือง ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
ตู้ปณ. 14 อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000
โทรศัพท์ : 081-3696266
อีเมล์ : decha_61@yahoo.com ; huktin.ud@gmail.com

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

Find the right project for me
en_USEnglish